คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2008/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือที่จำเลยที่1มีไปถึงโจทก์แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยที่1ตกลงขายที่ดินและอาคารให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์เสนอขอซื้อมีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่าการตกลงขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไม่ได้รวมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นสำนักงานของจำเลยที่2พร้อมกับเครื่องจักรและเครื่องชั่งซึ่งปรากฏในแผนที่สังเขปตามที่จำเลยที่1ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้าแล้วเพราะสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่1แต่โจทก์ก็ยังตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยที่1ดังนี้โจทก์ทราบถึงการรบกวนขัดสิทธิของจำเลยที่2ในที่ดินที่ซื้อแล้วแม้ว่าผู้ขายมีหน้าที่ต้องส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินที่ซื้อขายให้อยู่ในเงื้อมือของผู้ซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา461และ462และผู้ขายต้องรับผิดในกรณีที่มีผู้มาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุขตามมาตรา475แต่ในกรณีนี้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อทราบอยู่แล้วในเวลาซื้อขายว่ามีทรัพย์สินของจำเลยที่2อยู่ในที่ดินที่โจทก์ซื้อมาจำเลยที่1จึงไม่ต้องรับผิดในการรื้อถอนและขนย้ายเครื่องจักรเครื่องชั่งและค่าเสียหายแก่โจทก์ตามมาตรา476 จำเลยที่2รบกวนสิทธิของโจทก์ในการเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ซื้อมาโดยปกติสุขย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแม้จำเลยที่1ผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ก็ตามแต่เมื่ออาคารเครื่องจักรและเครื่องชั่งของจำเลยที่2ซึ่งได้จำนองไว้แก่จำเลยที่1ตั้งอยู่ในที่ดินที่โจทก์ซื้อมาจากจำเลยที่1โดยไม่ปรากฏว่าได้จดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินจำเลยที่2จึงไม่อาจอ้างสิทธิใดๆที่จะคงอยู่บนที่ดินของโจทก์เมื่อโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยที่2รื้อถอนไปภายใน15วันและจำเลยที่2ได้รับหนังสือบอกกล่าวนั้นแล้วในวันที่26พฤษภาคม2533จำเลยที่2จึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายตั้งแต่วันที่27พฤษภาคม2533เป็นต้นไปพร้อมดอกเบี้ยของค่าเสียหายในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา224นับแต่ผิดนัดแต่ละเดือนไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2532 จำเลยที่ 1ได้ประกาศเสนอขายที่ดินตั้งอยู่ตำบลบางปะกง (บางปะกงบน)อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา รวม 5 แปลง คือ ที่ดินตราจองเลขที่ 204, 205, 287, 288 และโฉนดที่ดินเลขที่ 427 ที่ดินทั้ง 5 แปลง ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน จำเลยที่ 1 เสนอขายทุกแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนที่ดิน ทั้งนี้ ในประกาศดังกล่าวจำเลยที่ 1 ไม่แสดงให้เห็นว่าที่ดินที่จะขายมีการรอนสิทธิหรือมีภาระผูกพันหรือมีทรัพย์สินของบุคคลอื่นตั้งอยู่ในที่ดินแต่อย่างใดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2532 โจทก์ได้เข้าประกวดราคาซื้อโดยจำเลยที่ 1 ได้แจ้งเพิ่มเติมแก่ผู้เข้าประกวดราคาว่า ทรัพย์ที่ขายบางส่วนมีอาคารสำนักงาน เครื่องชั่ง และเครื่องจักรเก่าของจำเลยที่ 2 ตกค้างอยู่ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าจะจัดการรื้อถอนขนย้ายออกไปโดยไม่ชักช้า โจทก์จึงมีหนังสือเสนอราคาขอซื้อที่ดินทั้ง 5 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างในราคา 20,500,000 บาท โดยโจทก์ระบุไว้ชัดแจ้งว่าประสงค์จะซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ในลักษณะปลอดจากภาระผูกพันใด ๆ ทั้งสิ้น จำเลยที่ 1ตกลงขายทรัพย์ดังกล่าวให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 รับรองว่าจะรีบจัดการให้มีการรื้อถอนขนย้ายทรัพย์สินดังกล่าวไปโดยเร็วโจทก์เชื่อในคำรับรองจึงตกลงเข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมคลังสินค้า 3 หลัง กับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2532ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา โจทก์ได้ชำระราคาครบถ้วนแล้วแต่เข้าครอบครองใช้ประโยชน์ในคลังสินค้าและที่ดินตราจองเลขที่ 205และเลขที่ 288 ไม่ได้ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการให้จำเลยที่ 2ซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการรื้อถอนขนย้ายอาคารสำนักงานเครื่องจักร และเครื่องชั่งออกไปจากที่ดินของโจทก์ ทั้งที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีสิทธินำทรัพย์สินมาไว้ในที่ดินดังกล่าวโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการหลายครั้งกับได้บอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วยแล้วแต่จำเลยทั้งสามยังคงเพิกเฉยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินและคลังสินค้าซึ่งตามสภาพและวัตถุประสงค์ในการจัดซื้อมาจำเป็นต้องใช้พื้นที่ต่อเนื่องกันทั้ง 5 แปลง ที่ดินและคลังสินค้าดังกล่าวหากให้บุคคลอื่นเช่าจะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ400,000 บาท นับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2532 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน9,600,000 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ถึงวันฟ้องเป็นเงิน1,500,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,100,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันรื้อถอนขนย้ายอาคารสำนักงานเครื่องจักร และเครื่องชั่งออกไปจากที่ดินตราจองเลขที่ 205และเลขที่ 288 มิฉะนั้นให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการรื้อถอนขนย้ายเองโดยจำเลยทั้งสามเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 11,100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 9,600,000 บาท แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ประกาศขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ไม่ได้ขายสิ่งปลูกสร้างพร้อมเครื่องจักรที่อยู่ในที่ดินด้วยเพราะไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 แต่เป็นของจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์ทราบดีอยู่แล้ว โจทก์จึงเสนอซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยเป็นจำนวน 20,500,000 บาท โดยทำสัญญาซื้อขายกันเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2532 มีแผนที่แนบท้ายสัญญาไว้ชัดเจนว่าขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างหมายเลข 3, 4 และ 5เท่านั้น ตามสัญญาซื้อขายไม่มีข้อตกลงให้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องขนย้ายสิ่งปลูกสร้างและเครื่องจักรของจำเลยที่ 2 ออกไปด้วยจำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงกับโจทก์ว่าจะรีบจัดการให้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและเครื่องจักรของจำเลยที่ 2 ออกไปตามที่โจทก์กล่าวอ้างและเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2532 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 5 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้าง 3 หลังและส่งมอบการครอบครองให้แก่โจทก์เรียบร้อยแล้วโดยโจทก์มิได้โต้แย้งว่ามีการรอนสิทธิใด ๆ แต่อย่างใด สิ่งปลูกสร้างที่เป็นอาคารสำนักงาน เครื่องจักร เครื่องชั่ง เป็นของจำเลยที่ 2จึงเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวแก่จำเลยที่ 2 เองและเนื่องจากคลังสินค้าในที่ดินดังกล่าวมีสภาพชำรุด ไม่เหมาะกับการเก็บรักษาสินค้า หากให้เช่าก็ได้ค่าเช่าไม่เกินเดือนละ 500 บาทโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2532ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้รับการส่งมอบการครอบครองจากจำเลยที่ 1จึงขาดอายุความฟ้องร้อง จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรื้อถอนขนย้ายอาคารสำนักงาน เครื่องจักรและเครื่องชั่งซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 ออกไปจากที่ดินตราจองเลขที่ 205 และ 288ตำบลบางปะกง (บางปะกงบน) อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทราของโจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 15,000 บาท นับแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2533 จนกว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะรื้อถอนขนย้ายทรัพย์ดังกล่าวออกจากที่ดินของโจทก์เสร็จ ส่วนที่โจทก์ขอดำเนินการรื้อถอนขนย้ายเองโดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียค่าใช้จ่ายนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ทวิ กำหนดให้เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะดำเนินการตามกฎหมาย คำขอของโจทก์จึงไม่ชอบ ให้ยก
โจทก์ และ จำเลย ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ และ จำเลย ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เบื้องต้นว่าเมื่อเดือนสิงหาคม 2532 จำเลยที่ 1 ประกาศขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน 5 แปลง ตั้งอยู่ตำบลบางปะกง (บางปะกงบน)อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นที่ดินมีตราจอง 4 แปลงและมีโฉนดอีก 1 แปลง ที่ดินดังกล่าวมีเขตติดต่อเป็นผืนเดียวกันมีเนื้อที่รวม 10 ไร่ 1 งาน 3 ตารางวา ปรากฏตามหนังสือเงื่อนไขการประกวดราคา เอกสารหมาย จ.5 กำหนดให้ยื่นหนังสือเสนอขอซื้อและเปิดซองในวันที่ 21 สิงหาคม 2532 เวลา 11.00 นาฬิกาครั้นถึงวันเวลานัดโจทก์มอบให้นายกิตติ หิรัญพฤกษ์ ไปยื่นหนังสือเสนอขอซื้อในราคา 20,500,000 บาท รายละเอียดปรากฏตามหนังสือเสนอขอซื้อ เอกสารหมาย จ.6 ในวันดังกล่าวก่อนที่จะเปิดซองนายมนัส รัตนรุกข์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารจำเลยที่ 1ประธานในการเปิดซองแจ้งให้ผู้ที่จะยื่นหนังสือเสนอขอซื้อซึ่งมีอยู่จำนวน 5 ราย ทราบว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.5 นั้น มีอาคาร เครื่องชั่งและเครื่องจักรของจำเลยที่ 2 รวมอยู่ด้วย จำเลยที่ 1 จะขายเฉพาะส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 1 เท่านั้น แต่โจทก์ก็ได้ยื่นหนังสือเสนอขอซื้อตามเอกสารหมาย จ.6 เช่นเดียวกับผู้เสนอขอซื้อรายอื่น ปรากฏว่าโจทก์เสนอขอซื้อในราคาสูงสุด วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบตามเอกสารหมาย จ.7 และทำสัญญาจะขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.8 หรือ ล.1ต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.9 แต่เนื่องจากเครื่องจักร เครื่องชั่งและสิ่งปลูกสร้าง 2 หลัง ของจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้ขนย้ายออกไปโจทก์จึงเข้าครอบครองทำประโยชน์ที่ดินในส่วนนั้นยังไม่ได้โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขนย้ายเครื่องจักรและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกไป แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิกเฉย
มีปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า โจทก์จะเรียกให้จำเลยที่ 1รับผิดในการรื้อถอนและขนย้ายเครื่องจักร เครื่องชั่ง และชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้เพียงใดหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาจำเลยที่ 1 ก่อน และเห็นว่าตามข้อเท็จจริงที่นำสืบรับกันฟังได้ว่า ก่อนที่จะเปิดซองนายมนัสแจ้งให้ผู้ที่มายื่นหนังสือเสนอขอซื้อทราบว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะขายนั้นมีเครื่องจักรและเครื่องชั่งอยู่ในอาคารหมายเลข 1 และ 2ตามประกาศในเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งเป็นของผู้อื่นรวมอยู่และไม่นำมารวมขายด้วย แต่นายกิตติและผู้เสนอขอซื้อรายอื่นก็ยังคงยื่นหนังสือเสนอขอซื้อที่เตรียมมาแล้ว โดยนายกิตติก็มิได้แจ้งให้โจทก์ทราบถึงเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใดหรือไม่ และผูกพันจำเลยที่ 1 หรือไม่ และฟังข้อเท็จจริงว่านายมนัสไม่ได้ให้คำรับรองดังที่โจทก์อ้าง นอกจากนี้ตามเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งเป็นหนังสือที่จำเลยที่ 1 มีไปถึงโจทก์แจ้งให้โจทก์ทราบว่า จำเลยที่ 1 ตกลงขายที่ดินและอาคารให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์เสนอขอซื้อ ก็มีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่าการตกลงขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไม่ได้รวมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นสำนักงานของจำเลยที่ 2 พร้อมกับเครื่องจักรและเครื่องชั่งซึ่งปรากฏในแผนที่สังเขปหมายเลข 1, 2 ตามที่จำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้าแล้ว เพราะสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 แต่กระนั้นก็ตามโจทก์ยังตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายตามเอกสารหมาย จ.8 ซึ่งโจทก์นำสืบรับว่าเป็นฉบับเดียวกันกับเอกสารหมาย ล.1 และปรากฏว่าหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.8 ต่างกับเอกสารหมาย ล.1คือเอกสารหมาย ล.1 มีแผนผังแสดงถึงที่ตั้งของสิ่งปลูกสร้างที่ปลูกอยู่ในที่ดินตามสัญญาและมีข้อความระบุว่า สำหรับเครื่องจักรเครื่องชั่ง และสิ่งปลูกสร้างตามหมายเลข 1 และ 2 ไม่รวมจำหน่ายโดยนายกิตติ หิรัญพฤกษ์ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ลงลายมือชื่อในแผนผังดังกล่าวนั้นด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ทราบถึงการรบกวนขัดสิทธิของจำเลยที่ 2 ในที่ดินที่ซื้อแล้วแม้ว่าผู้ขายมีหน้าที่ต้องส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินที่ซื้อขายให้อยู่ในเงื้อมมือของผู้ซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 461 และ 462 และผู้ขายต้องรับผิดในกรณีที่มีผู้มาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุขตามมาตรา 475 แต่ในกรณีนี้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อทราบอยู่แล้วในเวลาซื้อขายว่ามีทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 อยู่ในที่ดินที่โจทก์ซื้อมา จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 476 เมื่อวินิจฉัยมาแล้วว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ คงมีปัญหาเฉพาะจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกา ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลล่างทั้งสองฟังมาว่า จำเลยที่ 2 รบกวนสิทธิของโจทก์ในการเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ซื้อโดยปกติสุข ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแม้จำเลยที่ 1 จะไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วแต่เมื่ออาคาร เครื่องจักร และเครื่องชั่งของจำเลยที่ 2ซึ่งได้จำนองไว้แก่จำเลยที่ 1 ตั้งอยู่ในที่ดินที่โจทก์ซื้อมาจากจำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฏว่าได้จดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินจำเลยที่ 2 จึงไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ที่จะคงอยู่บนที่ดินของโจทก์เมื่อโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 รื้อถอนไปและจำเลยที่ 2ได้รับหนังสือบอกกล่าวนั้นแล้วตามหนังสือบอกกล่าวและใบตอบรับในประเทศ เอกสารหมาย จ.13 โดยจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือบอกกล่าวเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2533 ครบกำหนด 15 วันตามหนังสือบอกกล่าวในวันที่ 26 พฤษภาคม 2533 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2533 เป็นต้นไป และเมื่อพิเคราะห์ถึงเหตุผลที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาและพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรวมทั้งที่ได้ความจากนายวิรุฬ ทรัพย์เมือง พยานโจทก์ว่าที่ดินในส่วนที่เป็นที่ตั้งของเครื่องจักรและสิ่งปลูกสร้างจะมีประมาณหนึ่งในสี่ของที่ดินทั้งหมดแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 25,000 บาทนับแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2533 เป็นต้นไป แต่ที่โจทก์ขอดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันทำสัญญาซื้อขายจนกว่าจะชำระเสร็จนั้นเห็นว่า กรณีเป็นเรื่องจำเลยที่ 2 ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เนื่องจากไม่ได้รื้อถอนทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของโจทก์โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยของค่าเสียหายในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 เท่านั้น โจทก์ขอดอกเบี้ยในเงินค่าเสียหายนับแต่วันก่อนจำเลยที่ 2 ผิดนัด จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินจำนวนเดือนละ 25,000 บาทนับแต่ผิดนัดแต่ละเดือนไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 25,000 บาทนับแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2533 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่ผิดนัดแต่ละเดือนไปจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share