คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2000/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

งานภาพพิมพ์รูปการ์ตูนหมีพูห์ (WinniethePooh) ของผู้เสียหายอันเป็นศิลปกรรมอยู่ในประเภทของงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ผู้เสียหายสร้างสรรค์จินตนาการนั้นเป็นการสร้างสรรค์จินตนาการโดยวิจักขณ์จากธรรมชาติซึ่งเป็นสัตว์โลกที่เรียกกันว่า “หมี”(BEAR) มาเป็นงานศิลปกรรมในรูปการ์ตูนสัตว์โลกที่เป็น “หมี” เป็นสัตว์ธรรมชาติที่มีชีวิตที่งดงามแปลกหูแปลกตาและแปลกไปจากสัตว์อื่น มนุษย์ทุกคนย่อมมีปรัชญาศิลปะอยู่ในตัวบ้างไม่มากก็น้อย เมื่อพบเห็นสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติก็สามารถสร้างสรรค์จินตนาการในศิลปะในลักษณะต่าง ๆ กันได้เมื่อการสร้างสรรค์จินตนาการภาพการ์ตูนมีที่มาจากสัตว์ธรรมชาติอย่างเดียวกันโดยการริเริ่มขึ้นเองของผู้สร้างสรรค์แต่ละคน งานศิลปกรรมดังกล่าวจึงอาจจะเหมือนหรือคล้ายกันได้โดยไม่จำต้องมีการลอกเลียนทำซ้ำกันหรือดัดแปลงงานของกันและกันแต่อย่างใด พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 6 วรรคสอง ไม่ได้ให้ความคุ้มครองแก่ความคิดในการสร้างสรรค์งาน การใช้ความคิดริเริ่มนำเอาความสวยงามตามธรรมชาติของสัตว์โลกมาสร้างสรรค์จินตนาการเป็นภาพการ์ตูนจึงเป็นความคิดที่กฎหมายไม่ได้ให้ความคุ้มครองเอาไว้เพราะมิฉะนั้นจะเป็นการผูกขาดจินตนาการหรือสุนทรียภาพในทางความคิดก่อให้เกิดผลเสียแก่มนุษยชาติ เนื่องจากจะมีผลทำให้บุคคลอื่นไม่สามารถสร้างสรรค์จินตนาการของตนเองเป็นภาพการ์ตูนจากสัตว์ธรรมชาติหรือจากสิ่งที่เป็นธรรมชาติชนิดเดียวกันหรือประเภทเดียวกันได้ กฎหมายลิขสิทธิ์จึงคุ้มครองเฉพาะการแสดงออกซึ่งความคิดซึ่งอยู่ภายใต้เงื่อนไขของมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ
เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมภาพพิมพ์ตัวการ์ตูนรูปหมีพูห์ของผู้เสียหายโดยนำลูกโป่งที่มีภาพการ์ตูนรูปหมีพูห์ซึ่งได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายจำนวน 4,435 ใบ ออกขายเสนอขายแก่บุคคลทั่วไปเพื่อหากำไรและเพื่อการค้า โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่ารูปหมีพูห์ดังกล่าวเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้ฟังได้ว่า ลูกโป่งจำนวนดังกล่าวที่มีภาพตัวการ์ตูนรูปหมีพูห์ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย และจำเลยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่ารูปหมีพูห์บนลูกโป่งดังกล่าวเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย เมื่อปรากฏว่าจำเลยรับซื้อลูกโป่งจากบุคคลอื่นมาบรรจุแผงขาย เจ้าพนักงานตำรวจค้นและแยกลูกโป่งออกจากกันแล้ว พบว่ามีลูกโป่งที่มีภาพการ์ตูนหมีพูห์ที่คล้ายภาพหมีพูห์ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายได้เพียง 4,435 ใบจากจำนวนลูกโป่งทั้งหมดเกือบ 1,000,000 ใบ ซึ่งมีภาพการ์ตูนสัตว์หลายประเภทปะปนกันนับว่าเป็นจำนวนน้อยมาก ข้อเท็จจริงมีน้ำหนักและเหตุผลให้เชื่อได้ดังที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยสั่งซื้อลูกโป่งมาขายแก่ลูกค้าโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับภาพพิมพ์บนลูกโป่งว่าจะเป็นภาพใดแต่เน้นที่สีของลูกโป่ง เนื้อของลูกโป่งความยืดหยุ่น และลูกโป่งที่ไม่รั่วเท่านั้น โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบให้ฟังได้ว่า ภาพหมีพูห์บนลูกโป่งของกลางคือภาพที่ได้ทำขึ้นโดยมิได้มีการริเริ่มสร้างสรรค์ขึ้นเอง แต่เป็นการทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย
แม้จะฟังว่าภาพการ์ตูนหมีพูห์บนลูกโป่งของกลางได้มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานภาพพิมพ์หมีพูห์ของผู้เสียหาย แต่พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบมายังไม่พอให้ฟังได้ว่า จำเลยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานภาพพิมพ์บนลูกโป่งของกลางนั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมภาพพิมพ์รูปหมีพูห์ของผู้เสียหาย แล้วจำเลยยังนำลูกโป่งที่มีภาพพิมพ์นั้นออกขายแก่ลูกค้าทั่วไป จำเลยจึงยังไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 31 และ 70 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศในงานสร้างสรรค์ประเภทงานศิลปกรรมภาพพิมพ์ตัวการ์ตูนรูปหมีพูห์Winnie the Pooh (วินนี่ เดอะ พูห์) ของบริษัทดิสนีย์เอ็นเตอร์ไพรส์เซส อิงค์ จำกัด ผู้เสียหายซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาโดยการนำลูกโป่งที่มีภาพตัวการ์ตูนรูปหมีพูห์ซึ่งได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายรวมจำนวน 4,435 ใบ ออกขายเสนอขายแก่บุคคลทั่วไปอันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่ารูปหมีพูห์ดังกล่าวเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายเจ้าพนักงานจับจำเลยพร้อมยึดลูกโป่งดังกล่าวเป็นของกลาง เหตุเกิดที่แขวงวัดพระยาไกร เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 31,61, 70, 75 และ 76 ให้ลูกโป่งซึ่งมีรูปหมีพูห์ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ตามคำฟ้องดังกล่าวตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์และจ่ายค่าปรับแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่ง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เบื้องต้นว่าบริษัทดิสนีย์ เอ็นเตอร์ไพรส์เซส อิงค์จำกัด (Disney Enterprises, Inc.) ผู้เสียหายซึ่งเดิมมีชื่อว่า บริษัทวอลต์ดีสนีย์ จำกัด (The Walt Disney Company) เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นภาคีในอนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดรายชื่อประเทศภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรืออนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของนักแสดงลงวันที่ 8 ธันวาคม 2540 ผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมภาพพิมพ์ตัวการ์ตูนรูปหมีพูห์ (Winnie thePooh) คือภาพดังต่อไปนี้ และได้นำสำเนางานศิลปกรรมดังกล่าวไปฝากไว้ (deposit) แก่สำนักงานลิขสิทธิ์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2536 จำเลยมีอาชีพขายลูกโป่ง โดยจำเลยซื้อลูกโป่งมาจากบุคคลอื่น แล้วนำมาบรรจุลงในแผงกระดาษเพื่อนำออกขายโดยใช้เครื่องหมายการค้าเป็นรูปช้างคือเครื่องหมายการค้า ซึ่งได้จดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกที่ 49 ชนิดสินค้าเครื่องเล่นทุกชนิดและบรรดาสินค้าทั้งมวลซึ่งอยู่ในจำพวกนี้เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2532 ตามสำเนาหนังสือคู่มือรับจดทะเบียนเลขที่ 137722 เอกสารหมาย ล.1 แผงกระดาษแผงหนึ่งจะบรรจุลูกโป่งจำนวน 20 ใบ ซึ่งบางแผงจะมีลูกโป่งที่มีภาพการ์ตูนรูปหมีพูห์ ที่ผู้เสียหายอ้างว่าได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศของบริษัทดิสนีย์ เอ็นเตอร์ไพรส์เซส อิงค์ จำกัด ผู้เสียหายจำนวนประมาณ2 ถึง 4 ใบ ตามพยานวัตถุหมาย ว.ล.1 และ ว.จ.1 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่โดยโจทก์อุทธรณ์ในทำนองว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดเพราะจำเลยย่อมรู้ว่าการมีลูกโป่งเป็นภาพหมีพูห์บนลูกโป่งนี้จะต้องเป็นลิขสิทธิ์ของผู้อื่นและไม่จำเป็นต้องมีการโฆษณาให้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายแต่อย่างใด มิฉะนั้นแล้วสินค้าที่ออกใหม่ ๆ จะไม่มีการละเมิดลิขสิทธิ์กันได้ เพราะผู้ขายไม่มีทางจะรู้เลยว่าสินค้าชนิดนั้นเป็นลิขสิทธิ์ของผู้อื่น การที่จำเลยอ้างว่าไม่รู้ว่างานดังกล่าวเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายย่อมฟังไม่ขึ้นนั้น เห็นว่า งานภาพพิมพ์รูปหมีพูห์ของผู้เสียหายตามภาพดังต่อไปนี้ อันเป็นศิลปกรรมอยู่ในประเภทของงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ผู้เสียหายสร้างสรรค์จินตนาการเป็นงานศิลปกรรมนั้น เป็นการสร้างสรรค์จินตนาการโดยวิจักขณ์จากธรรมชาติ ซึ่งเป็นสัตว์โลกที่เรียกกันว่า “หมี” หรือภาษาอังกฤษว่า “BEAR” มาเป็นงานศิลปกรรมในรูปการ์ตูน สัตว์โลกที่เป็น “หมี” เป็นสัตว์ธรรมชาติที่มีชีวิตที่งดงามแปลกหูแปลกตาและแปลกไปจากสัตว์อื่น มนุษย์ทุกคนย่อมมีปรัชญาศิลปะอยู่ในตัวบ้างไม่มากก็น้อย เมื่อพบเห็นสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติก็สามารถสร้างสรรค์จินตนาการในศิลปะในลักษณะต่าง ๆ กันได้การที่มีบุคคลสร้างสรรค์จินตนาการภาพการ์ตูนจากสัตว์โลกที่เป็นธรรมชาติจึงเกิดขึ้นได้ และเมื่อการสร้างสรรค์จินตนาการภาพการ์ตูนมีที่มาจากสัตว์ธรรมชาติอย่างเดียวกัน โดยการริเริ่มขึ้นเองของผู้สร้างสรรค์แต่ละคนงานศิลปกรรมดังกล่าวจึงอาจจะเหมือนหรือคล้ายกันได้โดยไม่จำต้องมีการลอกเลียนทำซ้ำกันหรือดัดแปลงงานของกันและกันแต่อย่างใดพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 6 วรรคสอง ไม่ได้ให้ความคุ้มครองแก่ความคิดในการสร้างสรรค์งาน การใช้ความคิดริเริ่มนำความสวยงามตามธรรมชาติของสัตว์โลกมาสร้างสรรค์จินตนาการเป็นภาพการ์ตูนจึงเป็นความคิดที่กฎหมายไม่ได้ให้ความคุ้มครองเอาไว้เพราะมิฉะนั้นจะเป็นการผูกขาดจินตนาการหรือสุนทรียภาพในทางความคิด ก่อให้เกิดผลเสียหายแก่มนุษยชาติ เนื่องจากจะมีผลทำให้บุคคลอื่นไม่สามารถสร้างสรรค์จินตนาการของตนเองเป็นภาพการ์ตูนจากสัตว์ธรรมชาติหรือจากสิ่งที่เป็นธรรมชาติชนิดเดียวกันหรือประเภทเดียวกันได้ กฎหมายลิขสิทธิ์จึงคุ้มครองเฉพาะการแสดงออกซึ่งความคิดเท่านั้น และการคุ้มครองการแสดงออกซึ่งความคิดดังกล่าวจนถึงขั้นที่ผู้สร้างสรรค์จะเป็นผู้มีลิขสิทธิ์นั้นยังต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 8อีกด้วย เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศในงานศิลปกรรมภาพพิมพ์รูปหมีพูห์ของผู้เสียหาย โดยนำลูกโป่งที่มีภาพตัวการ์ตูนรูปหมีพูห์ซึ่งได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายรวมจำนวน4,435 ใบออกขายเสนอขายแก่บุคคลทั่วไปเพื่อหากำไรและเพื่อการค้าโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่ารูปหมีพูห์ดังกล่าวเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31และ 70 วรรคสอง โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้ฟังได้ว่า ลูกโป่งจำนวนดังกล่าวที่มีภาพตัวการ์ตูนรูปหมีพูห์ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายและจำเลยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่ารูปหมีพูห์บนลูกโป่งดังกล่าวเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายคดีนี้ โจทก์มีนางสาวเนาวรัตน์แซ่เอี้ยว ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากบริษัทผู้เสียหาย ร้อยตำรวจเอกเชษฐแตงนารา เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลย และร้อยตำรวจเอกไพฑูรย์คำนึง พนักงานสอบสวนมาเบิกความว่านางสาวเนาวรัตน์สืบทราบว่าที่บ้านเลขที่ 2000/64-68 ถนนเจริญกรุง ซอย 72 แขวงวัดพระยาไกรเขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร มีสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ เมื่อวันที่ 22ธันวาคม 2541 เวลา 15 นาฬิกาเศษนางสาวเนาวรัตน์กับร้อยตำรวจเอกเชษฐไปที่บ้านดังกล่าวพร้อมหมายค้นที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางออกให้บ้านดังกล่าวเป็นห้องแถวติดกันรวม3 ห้อง ขณะเข้าทำการตรวจค้นบ้านดังกล่าวเปิดอยู่และพบจำเลย จำเลยยินยอมให้ตรวจค้นโดยดี ผลการตรวจค้นที่ชั้นล่างพบลูกโป่งบรรจุอยู่บนแผงกระดาษจำนวนแผงละ 20 ใบ แต่ละแผงถูกบรรจุอยู่ในลัง นางสาวเนาวรัตน์ได้แยกลูกโป่งที่มีภาพตัวการ์ตูนรูปหมีพูห์ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกจากลูกโป่งใบอื่นและนับรวมกันได้จำนวน 4,435 ใบจำเลยแจ้งว่าจำเลยรับลูกโป่งดังกล่าวมาจากที่อื่น แต่ไม่ได้แจ้งว่ารับมาจากที่ใด ร้อยตำรวจเอกเชษฐยึดลูกโป่งจำนวนดังกล่าวไว้เป็นของกลางในวันนั้นลูกจ้างของจำเลยกำลังบรรจุลูกโป่งทั้งหมดใส่แผงกระดาษและนำบรรจุใส่ลัง ร้อยตำรวจเอกเชษฐได้ตรวจค้นที่ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ของบ้านดังกล่าวด้วย ผลปรากฏว่าพบลูกโป่งที่บรรจุอยู่บนแผงและบรรจุอยู่ในลังด้วย แต่ไม่มีลูกโป่งที่มีภาพการ์ตูนรูปหมีพูห์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนร้อยตำรวจเอกเชษฐและร้อยตำรวจเอกไพฑูรย์แจ้งข้อหาแก่จำเลยว่ากระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าด้วยการขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขายซึ่งงานศิลปกรรมภาพพิมพ์ (ที่ถูกเป็นข้อหาขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย งานศิลปกรรมภาพพิมพ์ที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศของผู้อื่นเพื่อหากำไรและเพื่อการค้า) จำเลยให้การรับสารภาพ ตามบันทึกการตรวจค้นจับกุมและบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.3 และ จ.8ส่วนจำเลยนำสืบโดยมีตัวจำเลย นางพนิดา กรเกษแก้ว และนางสาวรุ่งทิพย์ การรัมย์ ลูกจ้างของจำเลยมาเบิกความได้ความว่าในการรับซื้อลูกโป่งจากบุคคลอื่นมาบรรจุแผงขาย จำเลยจะพิจารณาเฉพาะสีสันเนื้อของลูกโป่ง และรูปร่างประกอบกัน โดยจะทดสอบว่าลูกโป่งมีความยืดหยุ่นดีหรือไม่ เป่าแล้วสีจะจางหรือไม่ แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับลวดลายบนลูกโป่งเนื่องจากสามารถขายได้ไม่ว่าจะมีรูปการ์ตูนอยู่หรือไม่โดยปกติจำเลยจะสั่งซื้อลูกโป่งจำนวนคราวละ 100 ถึง 200 กิโลกรัมซึ่งผู้ขายจะนำลูกโป่งมาส่งโดยบรรจุในถุงปุ๋ยโดยแต่ละถุงมีน้ำหนักประมาณ20 ถึง 25 กิโลกรัม น้ำหนัก 1 กิโลกรัม จะมีลูกโป่งจำนวนประมาณ 300 ใบคละสีกันมาโดยมีสีทั้งหมด 6 สีด้วยกัน เมื่อผู้ขายส่งลูกโป่งมายังโรงงานของจำเลย ลูกจ้างของจำเลยจะตรวจดูว่ามีสีครบทั้งหกสีหรือไม่ จากนั้นก็จะสุ่มหยิบลูกโป่งในถุงออกมาชั่งน้ำหนักประมาณถุงละ 1 กิโลกรัมเพื่อเป่าดูว่ามีลูกโป่งรั่วจำนวนประมาณกี่ใบ ซึ่งหากปรากฏว่ารั่วหรือเสียไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ก็จะรับไว้เพื่อบรรจุลงแผงและจำหน่ายให้ลูกค้าต่อไป โดยมิได้คำนึงถึงภาพพิมพ์บนลูกโป่งแต่อย่างใด ส่วนการบรรจุลูกโป่งเข้าแผงจำเลยเน้นว่าให้บรรจุลูกโป่งสีแดง สีชมพู สีส้ม คั่นด้วยสีน้ำเงิน สีเหลืองและสีเขียว เพื่อความสวยงามโดยลูกจ้างของจำเลยไม่ต้องสนใจภาพพิมพ์บนลูกโป่ง ในวันที่มีการตรวจค้นมีลูกโป่งอยู่ในร้านจำนวนประมาณเกือบ 1,000,000 ใบ ซึ่งสาเหตุที่มีจำนวนมากเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ จำเลยไม่ทราบว่ารูปหมีพูห์เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์เนื่องจากจำเลยพ้นวัยที่จะสนใจในเรื่องของการ์ตูนแล้ว ในข้อที่จำเลยนำสืบดังกล่าวนางสาวเนาวรัตน์พยานโจทก์ตอบทนายจำเลยถามค้านเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยว่าลูกโป่งที่พบในที่เกิดเหตุทั้งหมดมีหลายแสนใบมีลูกโป่งบางส่วนบรรจุอยู่ในแผงกระดาษแล้ว มีลูกโป่งบางส่วนบรรจุอยู่ในแผงกระดาษและบรรจุอยู่ในลังกระดาษพร้อมที่จะจำหน่าย และมีลูกโป่งอีกบางส่วนที่ยังไม่ได้แยกนำมาบรรจุในแผงกระดาษบรรจุอยู่ในถุงปุ๋ยอีกหลายใบในวันเกิดเหตุพยานกับพนักงานของบริษัทพิงค์เคอร์ตัน (ประเทศไทย)จำกัด ที่พยานทำงานอยู่อีก 5 คน ช่วยกันแยกลูกโป่งที่มีรูปหมีพูห์อันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกจากลูกโป่งทั้งหมดหลายแสนใบโดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จึงได้ลูกโป่งที่มีรูปหมีพูห์ดังกล่าวจำนวน4,435 ใบ ในระหว่างการตรวจค้นจำเลยให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานตำรวจเป็นอย่างดี รูปหมีพูห์ปรากฏบนลูกโป่งที่ยึดมาได้นั้นเป็นรูปหมีพูห์ที่มีลักษณะหน้าตาและรูปร่างคล้ายกับรูปหมีพูห์ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย เมื่อพิจารณาแผงกระดาษที่บรรจุลูกโป่งจำนวนแผงละ20 ใบของจำเลย ตามพยานวัตถุหมาย ว.จ.1 และ ว.ล.1 แล้ว ปรากฏว่าแผงกระดาษพยานวัตถุหมาย ว.จ.1 มีลูกโป่งที่มีภาพหมีพูห์ที่คล้ายภาพหมีพูห์ซึ่งเป็นงานมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายคือภาพจำนวนเพียง 4 ใบเป็นลูกโป่งสีม่วงจำนวน 2 ใบ และสีเขียวจำนวน 2 ใบ ลูกโป่งจำนวนอีก 16 ใบมีรูปการ์ตูนซานตาคลอสบนลูกโป่งสีส้มจำนวน 3 ใบ และบนลูกโป่งสีน้ำเงิน 2 ใบมีรูปการ์ตูนหญิงสาวมู่หลาน (MULAN) บนลูกโป่งสีแดงจำนวน 4 ใบ และบนลูกโป่งสีม่วงจำนวน 2 ใบมีรูปปากผู้หญิงกับข้อความ”P.S.I. Love you” บนลูกโป่งสีชมพูจำนวน 2 ใบ และบนลูกโป่งสีเหลืองจำนวน 2 ใบ และมีรูปการ์ตูนหัวกระต่ายสวมหมวกบนลูกโป่งสีชมพูอีก1 ใบ ส่วนแผงกระดาษพยานวัตถุหมาย ว.ล.1 ไม่มีลูกโป่งที่มีภาพหมีพูห์ที่คล้ายภาพหมีพูห์ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายแต่อย่างใดคงมีแต่ลูกโป่งสีแดงที่มีภาพหมีแพนด้านั่งอยู่ คือภาพ จำนวน 2 ใบลูกโป่งจำนวนอีก 18 ใบ มีรูปปากผู้หญิงกับข้อความว่า “P.S.I. love you”บนลูกโป่งสีม่วงจำนวน 4 ใบ มีรูปการ์ตูนกระต่ายนั่งอยู่บนลูกโป่งสีชมพูจำนวน 2 ใบ บนลูกโป่งสีเหลืองจำนวน 2 ใบ บนลูกโป่งสีเขียว 1 ใบ และบนลูกโป่งสีแดง 1 ใบ มีรูปการ์ตูนกระต่ายยืนอยู่บนลูกโป่งสีน้ำเงินจำนวน2 ใบ บนลูกโป่งสีเขียวจำนวน 2 ใบ และบนลูกโป่งสีแดง 1 ใบ และมีรูปช่อดอกไม้บนลูกโป่งสีส้มจำนวน 3 ใบ เห็นได้ว่าลูกโป่งที่มีภาพหมีพูห์ที่คล้ายภาพหมีพูห์ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ได้แยกออกมาจากลูกโป่งจำนวนประมาณเกือบ 1,000,000 ใบ นั้น มีจำนวนเพียง 4,435 ใบซึ่งนับว่าเป็นจำนวนน้อยมาก ลูกโป่งใบอื่นนอกจากลูกโป่งจำนวนดังกล่าวมีรูปการ์ตูนอื่น ข้อความ และรูปดอกไม้ แผงกระดาษที่บรรจุลูกโป่งบางแผงก็มีรูปการ์ตูนหมีพูห์บางแผงก็ไม่มี ทั้งปรากฏว่ามีลูกโป่งบางส่วนยังคงอยู่ในถุงปุ๋ย นางสาวเนาวรัตน์กับพนักงานของบริษัทที่นางสาวเนาวรัตน์ทำงานอยู่อีก 5 คน ต้องใช้เวลาแยกลูกโป่งที่มีรูปหมีพูห์ดังกล่าวออกจากลูกโป่งจำนวนมากนานถึงประมาณ 1 ชั่วโมง ประกอบกับปรากฏตามบันทึกการตรวจค้นจับกุมและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเอกสารหมาย จ.3และ จ.8 ว่า จำเลยให้การรับเพียงว่าจำเลยมีลูกโป่งที่มีภาพหมีพูห์ของกลางจำนวน 4,435 ใบไว้ขายให้แก่ลูกค้าจริงเท่านั้น จำเลยหาได้ให้การรับว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าลูกโป่งที่มีภาพหมีพูห์ดังกล่าวเป็นภาพที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายไม่ ข้อเท็จจริงคดีนี้มีน้ำหนักและเหตุผลให้เชื่อได้ดังที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยสั่งซื้อลูกโป่งมาขายแก่ลูกค้าโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับภาพพิมพ์บนลูกโป่งว่าจะเป็นภาพใด แต่เน้นที่สีของลูกโป่ง เนื้อของลูกโป่งความยืดหยุ่นและลูกโป่งที่ไม่รั่วเท่านั้น โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบให้ฟังได้ว่าภาพหมีพูห์บนลูกโป่งของกลางคือภาพได้มีผู้ทำขึ้นโดยมิได้มีการริเริ่มสร้างสรรค์ขึ้นเองแต่เป็นการทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย กล่าวคือข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าภาพหมีพูห์บนลูกโป่งของกลางดังกล่าวได้มีผู้ทำขึ้นโดยการทำซ้ำ คัดลอก เลียนแบบจากต้นฉบับหรือจากสำเนาภาพพิมพ์หมีพูห์ของผู้เสียหาย คือภาพดังต่อไปนี้ หรือจากการโฆษณาในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ หรือได้มีทำขึ้นโดยดัดแปลงเปลี่ยนรูปใหม่ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมหรือจำลองงานต้นฉบับดังกล่าวในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน อันเป็นการทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายอย่างไรก็ตามแม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าภาพหมีพูห์บนลูกโป่งของกลางได้มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานภาพพิมพ์หมีพูห์ของผู้เสียหายดังที่โจทก์อ้างแต่พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบมายังไม่พอให้ฟังได้ว่าจำเลยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานภาพพิมพ์บนลูกโป่งของกลางนั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมภาพพิมพ์รูปหมีพูห์ของผู้เสียหายแล้วจำเลยยังนำลูกโป่งที่มีภาพพิมพ์นั้นออกขายแก่ลูกค้าทั่วไป การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537มาตรา 31 และ 70 วรรคสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share