คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 200/2477

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหากฎหมาย ปัญหาที่เกี่ยวด้วยการแปลสัญญาเป็นปัญหากฎหมายการปฏิเสฐความรับผิดตามสัญญานั้นไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายเพราะเป็นส่วนหนึ่งของคำให้การเท่านั้นปัญหาข้อเท็จจริง ข้อที่ว่าได้กระทำการใด เป็นปกติหรือไม่นั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ป.พ.พ.ม.680 ตอน 2 สัญญา ค้ำประกันนั้นเพียงแต่มีหลักฐาเป็นหนังสือก็ใช้ได้ แปลสัญญา สัญญาค้ำประกันนั้นไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องบรรยายความรับผิดไว้ ความรับผิดของผู้ค้ำประกันเกิดขึ้นตามกฎหมายในเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้

ย่อยาว

ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ ๑ ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินโจทก์ทั้ง ๒ ไปต่อจากตรายี่ห้อฮะเซ็งฮวดจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้กู้ มีตรายี่ห้อเต็กชุนจั่น(ตรายี่ห้อของจำเลยที่ ๒) กับตรายี่ห้อคนง่วนที่ประทับ ถัดไปมีคำว่า ผู้ค้ำประกัน
ศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์เห็นต้องกันว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้กู้ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงิน ถ้าจำเลยที่ ๑ ไม่ใช้ให้จำเลยที่ ๒ ใช้แทน
จำเลยที่ ๒ ทูลเกล้า ฯถวายฎีกาว่า (๑)สัญญาไม่มีบรรยายความรับผิดไว้จึงไม่มีลักษณเป็นสัญญาค้ำประกันตามมาตรา ๖๘๐ ตอน ๒ (๒) จำเลยปฏิเสธความรับผิดในสัญญาค้ำประกัน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าปัญหาข้อ ๑.เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการแปลสัญญาว่าจะเป็นสัญญาค้ำประกันหรือไม่ ในปัญหาข้อ ๒. ไม่ใช่ข้อกฎหมาย เพราะการปฏิเสธความรับผิดเป็นส่วน ๑ ของคำให้การเท่านั้น และจำเลยกล่าวในฎีกาว่าต้องได้ความว่าจำเลยใช้ตราประทับเป็นปกตินั้นก็เป็นข้อเท็จจริง และวินิจฉัยว่าในเรื่องสัญญาค้ำประกันนั้นกฎหมายมิได้บังคับให้ทำเป็นหนังสือ เพียงแต่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็เพียงพอแล้ว ในคดีนี้ปรากฎว่าคำว่าค้ำประกันได้เขียนเป็นหนังสือย่อมถือเป็นหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ระวางเจ้าหนี้กับผู้ค้ำประกันแล้ว และย่อมเป็นที่เข้าใจว่าจำเลยค้ำประกันเงินที่ลูกหนี้กู้ เพราะจำเลยได้ประทับตราต่อชื่อผู้กู้ลงมา สัญญาค้ำประกันหาต้องบรรยายความรับผิดไม่ ความรับผิดของผู้ค้ำประกันก็คือเมื่อผู้กู้ ไม่ใช่เงินแลกฎหมายเรื่องค้ำประกันก็ไม่ได้บัญญัติว่าต้องบรรยายความรับผิดของผู้ค้ำประกันไว้ สัญญานี้จึงถูกต้องตามมาตรา ๖๘๐ ประมวลแพ่งที่ศาลล่างพิพากษามายอมแล้วจึงพิพากษายืน

Share