คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยนำไม้ยางพาราซึ่งเป็นไม้ที่ทำ โดยไม่ต้องรับอนุญาตบรรทุกรถยนต์ออกไปถึงด่านป่าไม้ด่านแรกแล้วนำเคลื่อนที่ไปโดยไม่มีใบเบิกทางกำกับ โดยไม่ได้รับอนุญาต แม้จำเลยรับสารภาพตามฟ้อง เมื่อศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ศาลก็ย่อมจะพิพากษายกฟ้องของโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185
คำว่า “ไม้ที่ทำ” ตามมาตรา 38 (2) อยู่ในความหมายของคำว่า “ทำไม้” ตามมาตรา 4(5) คือ การตัด ฟัน กาน โค่น ลิด เลื่อย ผ่าน ถาก ทอน ขุด ชักลากไม้ในป่าหรือนำออกจากป่าด้วยประการใด ๆ และหมายความรวมถึงการกระทำดังกล่าวกับไม้สักหรือไม้ยางที่ขึ้นอยู่ในที่ดินซึ่งมิใช่ป่า หรือการนำไม้สักหรือไม้ยางออกจากที่ดินที่ไม้นั้น ๆ ขึ้นอยู่ด้วย เห็นได้ว่า การทำไม้นั้นนอกจากไม้สักหรือไม้ยางแล้วหมายถึงเฉพาะไม้ที่อยู่ในป่าเท่านั้น การนำไม้ที่ทำเคลื่อนที่ตามมาตรา 38 (2) ซึ่งเมื่อนำออกมาถึงด่านป่าไม้ด่านแรกแล้วจะต้องเสียค่าธรรมเนียมและเมื่อจะนำเคลื่อนที่ต่อไปจะต้องมีใบเบิกทางของเจ้าพนักงานไปด้วยตามมาตรา 39 ต้องเป็นไม้ที่ทำจากไม้ในป่านั่นเอง ข้อเท็จจริงที่ว่าไม้ของกลางเป็นไม้ที่ทำจากป่าหรือไม่จึงเป็นสาระสำคัญแห่งคดี เมื่อโจทก์แถลงว่าไม่ทราบว่าไม้ (ยางพารา) ของกลางเป็นไม้ที่ได้มาจากป่าหรือไม่ ศาลจึงลงโทษจำเลยไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้นำไม้ยางพาราแปรรูป ๐๓๐ ซึ่งเป็นแผ่นไม้ที่ทำโดยไม่ต้องรับอนุญาตบรรทุกรถยนต์จากจังหวัดตราดไปยังจังหวัดจันทบุรี ออกไปถึงด่านป่าไม้ด่านแรกแล้วเคลื่อนที่ต่อไปโดยไม่มีใบเบิกทางกำกับ โดยไม่รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานป่าไม้ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๓๙, ๗๐ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๑๑ มาตรา ๕ ของกลางคืนเจ้าของ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยจะมีความผิดตามมาตรา ๓๙ นั้นต้องตกอยู่ภายในบังคับของมาตรา ๓๘ ไม้ของกลางที่จำเลยนำเคลื่อนที่ไม่ใช่ไม้ที่ทำหรือนำมาจากป่า จำเลยนำเคลื่อนที่ได้โดยไม่ต้องมีใบเบิกทางของเจ้าพนักงานกำกับ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง ยกคำขอให้คืนของกลางเนื่องจากศาลยังมิได้สั่งริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์บรรยายฟ้องครบถ้วนตามกฎหมายที่หาว่าจำเลยกระทำความผิดและขอให้ลงโทษทั้งจำเลยให้รับสารภาพตามฟ้องชอบที่ศาลจะลงโทษจำเลยตามฟ้องนั้น เห็นว่าที่ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องหรือไม่ต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๕ คือเมื่อศาลเห็นว่าจำเลยได้กระทำความผิดและไม่มีการยกเว้นโทษตามกฎหมาย ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดก็ดีการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ดี คดีขาดอายุความก็ดีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษก็ดี ศาลต้องยกฟ้องปล่อยจำเลยไป หาใช่เมื่อจำเลยรับสารภาพตามฟ้องศาลต้องฟังว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องและพิพากษาลงโทษจำเลยดังฎีกาของโจทก์ไม่
เกี่ยวกับฎีกาของโจทก์ที่ว่า คำว่า “ไม้ที่ทำ” ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๓๘ (๒) อยู่ในความหมายของคำว่า “ทำไม้” ตามมาตรา ๔ (๕) ของพระราชบัญญัติดังกล่าวหรือไม่นั้น เห็นว่า “ไม้ที่ทำ” ย่อมเป็นผลที่มาจากการทำไม้ กล่าวคือต้องมีการทำไม้จึงจะมีไม้ที่ทำ คำว่า “ไม้ที่ทำ” ตามมาตรา ๓๘ (๒) จึงเป็นคำที่อยู่ในความหมายของคำว่า “ทำไม้” ตามมาตรา ๔ (๕) นั่นเอง คำว่า “ทำไม้” นั้น มาตรา ๔ (๕) บัญญัติว่า การทำไม้หมายความว่า ตัด ฟัน กาน โค่น ลิด เลื่อย ผ่า ถาก ทอน ขุด ชักลากไม้ในป่า หรือนำออกจากป่าด้วยประการใด ๆ และหมายความรวมถึงการกระทำดังกล่าวกับไม้สัก หรือไม้ยากที่ขึ้นอยู่ในที่ดินที่มิใช่ป่า หรือการนำไม้สักหรือไม้ยางออกจากที่ดินที่ไม้นั้น ๆ ขึ้นอยู่ด้วย ความที่ว่าหมายความรวมถึงการกระทำต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้กับไม้สัก หรือไม้ยางที่ขึ้นอยู่ในที่ดินที่มิใช่ป่า หรือการนำไม้สักหรือไม้ยางออกจากที่ดินที่ไม้นั้น ๆ ขึ้นอยู่ด้วย แสดงให้เห็นชัดว่า นอกจากไม้สักหรือไม้ยางแล้ว การทำไม้ตามกฎหมายนี้หมายถึงการกระทำต่าง ๆ เหล่านั้นต่อไม้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นไม้หวงห้ามซึ่งผู้ทำไม้จะทำได้โดยต้องได้รับอนุญาต หรือไม้ที่มิใช่ไม้หวงห้าม ซึ่งผู้ทำไม้ทำได้โดยไม่ต้องรับอนุญาต เฉพาะแต่ไม้ที่อยู่ในป่าเท่านั้น เห็นได้ว่าที่จะเป็นการนำไม้ที่ทำเคลื่อนที่ตามาตรา ๓๘ (๒) ซึ่งเมื่อนำออกไปถึงด่านป่าไม้ด่านแรกแล้วจะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามมารตรา ๒๕ และเมื่อจะนำเคลื่อนที่ต่อไป จะต้องมีใบเบิกทางของพนักงานเจ้าหน้าที่กำกับไปด้วย ตามมาตรา ๓๙ต้องเป็นไม้ที่ทำจากไม้ในป่านั่นเอง ข้อเท็จจริงที่ว่าไม้ของกลางเป็นไม้ที่ทำจากป่าหรือไม่จึงเป็นข้อสารสำคัญแห่งคดีที่จะวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ เมื่อปรากฏในทางพิจารณาตามคำแถลงของโจทก์ว่าโจทก์ไม่ทราบว่าไม้ของกลาง (ไม้ยางพารา) เป็นไม้ที่ได้มาจากป่าหรือไม่ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ คดีก็ลงโทษจำเลยตามฟ้องไม่ได้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share