คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1996/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ.2475มาตรา55บัญญัติให้เจ้าของคนเก่าและคนใหม่เป็นลูกหนี้ค่าภาษีค้างร่วมกันเมื่อหนี้ค่าภาษีค้างเป็นหนี้ที่มีอยู่ก่อนจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของคนใหม่รับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นจากว.เจ้าของคนเก่าสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าภาษีค้างจึงอาจบังคับได้ตั้งแต่ว. เจ้าของคนเก่าแล้วการนับกำหนดอายุความจึงต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องแก่ว.เจ้าของคนเก่าได้คือนับแต่วันพ้นกำหนด90วันที่ว. ได้รับแจ้งรายการประเมินตามมาตรา38เดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินภาษีอากรตามฟ้องจำนวน 106,105 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยทั้งหกให้การว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องแล้วเนื่องจากภาษีโรงเรือนดังกล่าวที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยรับผิดเกินกำหนด 10 ปี นับจากวันที่มีสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งหก นายวิบูลย์ดำรงเกียรติ และทายาทร่วมกันชำระภาษีโรงเรือนตามฟ้องจำนวน106,105 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น จำเลยทั้งหกอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อที่สองมีว่า จำเลยทั้งหกจะต้องร่วมรับผิดในหนี้ค่าภาษีโรงเรือนตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่คู่ความโต้เถียงกันอันนำมาสู่ปัญหาในข้อนี้ก็คือโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งหกได้รับโอนกรรมสิทธิ์โรงเรือนเลขที่ 174/30 ถึง 48 ตรอกวัดสามง่ามแขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร จากนายวิบูลย์ในปี พ.ศ. 2528 แต่จำเลยทั้งหกปฎิเสธว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขออนุญาตสร้างโรงเรือนดังกล่าว โดยมอบให้นายวิบูลย์เป็นผู้ดำเนินการแทนซึ่งนายทะเบียนได้ออกเลขหมายประจำบ้านให้จำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2513 ตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 8 โดยนายวิบูลย์เป็นผู้ออกเงินในการสร้างและตกลงให้กรรมสิทธิ์เป็นของจำเลยทั้งหกทันที ฝ่ายจำเลยทั้งหกตอบแทนนายวิบูลย์โดยการให้สิทธินายวิบูลย์เก็บค่าเช่าโรงเรือนดังกล่าวได้มีกำหนด 12 ปี อันเป็นการปฎิเสธว่าจำเลยทั้งหกเป็นเจ้าของโรงเรือนดังกล่าวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513มิใช่เพิ่งได้รับโอนกรรมสิทธิ์โรงเรือนดังกล่าวจากนายวิบูลย์ในปี พ.ศ. 2528 จำเลยทั้งหกจึงไม่ต้องรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกับนายวิบูลย์และทายาทนายวิบูลย์ในหนี้ค่าภาษีโรงเรือนตามฟ้องในปัญหาข้อนี้โจทก์มีนายเสน่ห์ หลสุวรรณ เจ้าพนักงานจัดเก็บรายได้ สำนักงานเขตปทุมวัน เบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.2แผ่นที่ 92 ว่า วันที่ 8 กันยายน 2530 นายเสน่ห์ได้สอบถามและบันทึกถ้อยคำจำเลยที่ 1 ไว้ได้ว่าความ โรงเรือน เลขที่ 174/30ถึง 48 ตรองวัดสามง่าม แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานครสร้างมานานประมาณ 17 ปี โดยนายวิบูลย์เป็นผู้สร้างลงในที่ดินโฉนดเลขที่ 1787 เลขที่ดิน 86 ซึ่งเช่าจากจำเลยที่ 1 และพวกมีกำหนด 15 ปี นับแต่ปี พ.ศ. 2513 แต่สัญญาเช่าหายไป ดังนั้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 โรงเรือนจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1และพวกซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน นอกจากนี้ยังมีสัญญาเช่าโรงเรือนเลขที่ 174/31 ที่นายวิบูลย์เป็นผู้ให้เช่า นายงืนเอียะ แซ่ลี้เป็นผู้เช่า ซึ่งทำกันไว้เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2513 ตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 89 และ 90 สนับสนุนข้อกล่าวอ้างของโจทก์ว่านายวิบูลย์เป็นเจ้าของโรงเรือนดังกล่าว เพราะหากโรงเรือนดังกล่าวเป็นของจำเลยทั้งหกทันทีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 จำเลยทั้งหกเพียงแต่ให้สิทธิแก่นายวิบูลย์ได้เก็บค่าเช่ามีกำหนด 12 ปีตามที่จำเลยทั้งหกกล่าวอ้าง จำเลยทั้งหกย่อมจะต้องเป็นผู้ให้เช่าโรงเรือนดังกล่าวเองแล้วให้สิทธินายวิบูลย์เก็บค่าเช่าจากผู้เช่าได้ตามสัญญาต่างตอบแทน ไม่มีเหตุที่จะให้ผู้เช่าทำสัญญาเช่าโรงเรือนจากนายวิบูลย์โดยตรง นอกเสียจากว่าโรงเรือนดังกล่าวยังไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่จำเลยทั้งหกประกอบกับแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินที่นายวิบูลย์ยื่นไว้ในระหว่างปี พ.ศ. 2515 ถึง พ.ศ. 2526ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 13 ถึง 24 แผ่นที่ 35 ถึง 46 และแผ่นที่ 56 ถึง 124 นั้น นายวิบูลย์ก็ยื่นในนามนายวิบูลย์เป็นผู้ขอรับการประเมินมิได้ยื่นในนามของจำเลยทั้งหกเป็นผู้ขอรับการประเมินแต่อย่างใด พฤติการณ์บ่งชี้ว่านายวิบูลย์เป็นเจ้าของโรงเรือนดังกล่าวอยู่ หาใช่กรรมสิทธิ์ในโรงเรือนตกเป็นของจำเลยทั้งหกทันที ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 ตามที่จำเลยทั้งหกกล่าวอ้างไม่ การที่จำเลยทั้งหกนำสืบว่านายวิบูลย์เป็นผู้ดำเนินการขออนุญาตสร้างโรงเรือนดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 นั้นก็เป็นแต่เพียงวิธีการในการขออนุญาตสร้างโรงเรือนเท่านั้น หาใช่ข้อเท็จจริงโดยตรงว่านายวิบูลย์ออกเงินในการสร้างโรงเรือนดังกล่าวขึ้นในที่ดินของจำเลยทั้งหก โดยมีข้อตกลงว่าให้กรรมสิทธิ์ในโรงเรือนตกเป็นของจำเลยทั้งหกทันทีในปี พ.ศ. 2513 ไม่พยานหลักฐานของจำเลยทั้งหกจึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งหกได้รับโอนกรรมสิทธิ์โรงเรือนเลขที่ 174/30 ถึง 48 จากนายวิบูลย์ ในปี พ.ศ.2528นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย จำเลยทั้งหกจึงเป็นเจ้าของโรงเรือนดังกล่าวคนใหม่ ต้องรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกับนายวิบูลย์และทายาทนายวิบูลย์ในหนี้ค่าภาษีค้างดังกล่าวตามฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อที่สามมีว่า สิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าภาษีค้างดังกล่าวขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า มาตรา 45แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ที่บัญญัติให้เจ้าของคนเก่าและคนใหม่เป็นลูกหนี้ค่าภาษีค้างร่วมกันนั้นเป็นบทบัญญัติพิเศษที่ให้รัฐสามารถติดตามเอาชำระค่าภาษีค้างให้ได้ไม่ว่ากรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินนั้นจะได้โอนไปเป็นของผู้ใดและโดยหนี้ค่าภาษีค้างเป็นหนี้ที่มีอยู่ก่อนเจ้าของคนใหม่รับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น สิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าภาษีค้างจึงอาจบังคับได้ตั้งแต่เจ้าของคนเก่าแล้ว ดังนั้น การนับกำหนดอายุความจึงต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องแก่เจ้าของคนเก่าได้ คือ นับแต่วันพ้นกำหนด 90 วัน ที่ได้รับแจ้งรายการประเมินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475มาตรา 38 เดิม ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2535 นายวิบูลย์ ดำรงเกียรติ เจ้าของคนเก่าได้รับแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนปี พ.ศ. 2515 ถึง พ.ศ. 2519ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2520 ตามใบรับใบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 50 ถึง 54 ส่วนภาษีโรงเรือนปี พ.ศ. 2520 ได้รับแจ้งรายการประเมินเมื่อวันที่ 22มิถุนายน 2520 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 55 และภาษีโรงเรือนปี พ.ศ. 2521 ถึง พ.ศ. 2524 ได้รับแจ้งรายการประเมินเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2528 ตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 15นับตั้งแต่วันครบกำหนด 90 วัน ที่ได้รับแจ้งรายการประเมินถึงวันฟ้องพ้นกำหนดเวลา 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 167 (เดิม) คดีโจทก์เกี่ยวกับหนี้ค่าภาษีค้างประจำปีพ.ศ. 2515 ถึง พ.ศ. 2524 จึงขาดอายุความ ส่วนภาษีโรงเรือนปี พ.ศ. 2525 นายวิบูลย์ได้รับแจ้งรายการประเมินเมื่อวันที่21 ตุลาคม 2525 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 28 และภาษีโรงเรือนปี พ.ศ. 2526 ได้รับแจ้งรายการประเมินเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม2526 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 5 นับตั้งแต่วันครบกำหนด 90 วันที่ได้รับแจ้งรายการประเมินถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนดเวลา 10 ปีคดีโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง คดีนี้โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระภาษีแก่โจทก์จำนวน 106,105 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง กับให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ มิได้ฟ้องนายวิบูลย์หรือทายาทและมีคำขอให้นายวิบูลย์หรือทายาทร่วมรับผิดกับจำเลยทั้งหกแต่อย่างใดที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้นายวิบูลย์และทายาทร่วมชำระเงินแก่โจทก์ด้วย จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าคำฟ้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 มาตรา 17 ปัญหานี้แม้จำเลยทั้งหกไม่มีสิทธิอุทธรณ์เพราะไม่กระทบถึงสิทธิของจำเลยทั้งหก แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง จึงเห็นควรแก้คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางในส่วนนี้เสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระค่าภาษีโรงเรือนปี พ.ศ. 2525 และ พ.ศ. 2526 จำนวน 34,221 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก นายวิบูลย์และทายาทไม่ต้องร่วมชำระเงินแก่โจทก์ด้วย

Share