คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1994/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องศาลฎีกาพิพากษากลับ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดใน กรณีเช่นนี้เจ้าหนี้ย่อมยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนด 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์เด็ดขาดของศาลฎีกาได้ จำเลย(ลูกหนี้) จำนองทรัพย์สินไว้แก่เจ้าหนี้ ในสัญญา ต่อท้ายสัญญาจำนองได้กำหนดให้จำเลยประกันภัยทรัพย์สิน ที่จำนองโดยให้เจ้าหนี้เป็นผู้รับประโยชน์จากสัญญาประกันภัยนั้นแต่จำเลยไม่จัดการประกันภัยเจ้าหนี้ จึงทำสัญญาประกันภัยและได้ชำระเบี้ยประกันภัยไป ดังนี้เจ้าหนี้จะมาขอรับชำระหนี้ในหนี้จำนวนดังกล่าวโดยอ้างว่า ชำระแทนจำเลยไปไม่ได้เพราะต้องถือว่าเจ้าหนี้เป็นทั้ง ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 862ผู้เอาประกันภัยหมายความว่าคู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัยการที่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นคู่สัญญา กับผู้รับประกันภัยได้ชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้รับประกันภัย ไปจึงต้องถือว่าเป็นการชำระหนี้ของตนเอง ไม่ใช่เป็นการ ชำระหนี้แทนจำเลยหาก่อให้เกิดอำนาจแห่งการรับช่วงสิทธิ แก่เจ้าหนี้ตามมาตรา 226 และมาตรา 229 แต่ประการใดไม่

ย่อยาว

กรณีเรื่องนี้สืบเนื่องมาจากศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2514 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2516 วันที่ 7 กรกฎาคม 2518 ศาลฎีกาพิพากษากลับให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของศาลฎีกาเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2518 แจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ที่ยังไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ ให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันที่โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

ธนาคารกรุงไทยจำกัดยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 26 กันยายน2518 อ้างว่าจำเลยเป็นหนี้ตามภาระหนังสือค้ำประกัน หนี้เบิกเงินเกินบัญชีหนี้ตามสัญญารับมอบสินค้าเชื่อ หนี้ตามเลตเตอร์ออฟเครดิต และหนี้เงินค่าเบี้ยประกันภัยจ่ายแทนจำเลยเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 68,803,010 บาท 10 สตางค์

นายราชัย เตชะพูนผล เจ้าหนี้คัดค้านว่าหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นเงินสูงเกินความจริง

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเสนอความเห็นต่อศาลชั้นต้นว่า 1. หนี้ตามภาระหนังสือค้ำประกันต่อกรมศุลกากรที่ขอมา 1,563,278 บาท 10 สตางค์ เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เป็นจำนวน 622,482 บาท 29 สตางค์ 2. หนี้ตามภาระหนังสือค้ำประกันต่อกรมศุลกากรซึ่งยังไม่ได้ชำระให้ยกเสีย 3. หนี้ตามภาระหนังสือค้ำประกันต่อบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่ขอมา 23,336,039 บาท 51 สตางค์ เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เป็นจำนวน 6,179,752 บาท 60 สตางค์ 4. หนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ขอมา 29,181,715 บาท 73 สตางค์ เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระเป็นจำนวน 7,678,687 บาท 32 สตางค์ โดยมีเงื่อนไขว่าหากบังคับชำระหนี้จากนายราชัย เตชะพูนผลผู้ค้ำประกันและได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 18057 แล้วเพียงใด ให้ลดลงเพียงนั้น 5. หนี้ตามสัญญารับมอบสินค้าเชื่อที่ขอมา 5,270,355 บาท 22 สตางค์ เห็นการให้เจ้าหนี้ได้รับชำระจำนวน 3,925,628 บาท 41 สตางค์ และหนี้ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ขอมา 886,344 บาท 62 สตางค์ เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระเป็นจำนวน 631,104 บาท 64 สตางค์โดยมีเงื่อนไขว่า หากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากนายราชัน เตชะพูนผล นายกิจจา เตชะพูนผลและนางมาลิน คุวานันท์ ผู้ค้ำประกันแล้วเพียงใด ให้ลดลงเพียงนั้น 6. หนี้ค้ำประกันต่อกองตรวจคนเข้าเมืองเห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เป็นเงินจำนวน 45,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าหากบุคคลต่างด้าวไม่มีหนี้หรือไม่ต้องรับผิดต่อกองตรวจคนเข้าเมืองเพียงใด ให้ลดลงเพียงนั้น 7. หนี้ค่าประกันภัยให้ยกเสียทั้งหมด

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้และผู้คัดค้านต่างอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำนวนเงินที่เจ้าหนี้ชำระให้แก่กรมศุลกากรไปนั้น อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระเป็นจำนวน 1,306,786 บาท 29 สตางค์ จำนวนเงินที่เจ้าหนี้ชำระให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยนั้นอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระเป็นจำนวน 21,093,049 บาท 63 สตางค์ หนี้ตามสัญญารับมอบสินค้าเชื่อ อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระจำนวน 3,883,657 บาท 03 สตางค์ และอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับในการที่ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยไปเป็นจำนวน 107,018 บาท 40 สตางค์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ ส่วนอุทธรณ์ของผู้คัดค้านนั้นให้ยกอุทธรณ์ คืนค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้ทั้งหมด

ผู้ขอรับชำระหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และผู้คัดค้านต่างฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาว่าหนี้ตามภาระหนังสือค้ำประกันต่อบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่ผู้ขอรับชำระหนี้ได้ชำระแทนลูกหนี้ไปนั้น บางส่วนเจ้าหนี้ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของศาลชั้นต้นเป็นจำนวนเงิน 10,188,063 บาท 27 สตางค์ เจ้าหนี้จึงขาดสิทธิเรียกร้องในเงินจำนวนดังกล่าวจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ขอรับชำระหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของศาลฎีกา จึงหาขาดสิทธิเรียกร้องดังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาไม่

หนี้ตามค่าเบี้ยประกันภัยนั้นศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ลูกหนี้ได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 18057 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกันหนี้ทั้งหมดในวงเงิน 19,000,000 บาท ตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองได้กำหนดไว้ว่าลูกหนี้จะต้องทำการประกันภัยสิ่งปลูกสร้างที่จำนองโดยให้เจ้าหนี้เป็นผู้รับประโยชน์จากสัญญาประกันภัยนั้น แต่ลูกหนี้ไม่จัดการประกันภัยเจ้าหนี้จึงทำสัญญาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างของลูกหนี้ไว้กับผู้รับประกันภัยเองและได้ชำระเบี้ยประกันไปรวมเป็นเงิน 107,018 บาท 40 สตางค์ เจ้าหนี้จึงมาขอรับชำระหนี้ในหนี้จำนวนดังกล่าวโดยอ้างว่าได้ชำระหนี้แทนลูกหนี้ไป ศาลฎีกาเห็นว่าการที่เจ้าหนี้ได้ทำสัญญาประกันภัยทรัพย์ของลูกหนี้ไว้กับผู้รับประกันภัยเอง ในกรณีนี้ต้องถือว่าเจ้าหนี้เป็นทั้งผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยผู้เอาประกันภัยตามมาตรา 862 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย การที่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นคู่สัญญากับผู้รับประกันภัยได้ชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้รับประกันภัยไปจึงต้องถือว่าเป็นการชำระหนี้ของตนเอง ไม่ใช่เป็นการชำระหนี้แทนลูกหนี้หาก่อให้เกิดอำนาจการรับช่วงสิทธิแก่เจ้าหนี้ตามมาตรา 226 และมาตรา 229 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่ประการใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเจ้าหนี้กระทำไปเพื่อบรรเทาความเสียหายของเจ้าหนี้ที่จะได้รับ ลูกหนี้จึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก้เจ้าหนี้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในข้อนี้ฟังขึ้น

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะที่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามภาระหนังสือค้ำประกันต่อบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่เจ้าหนี้ได้ชำระแทนลูกหนี้ไปในต้นเงิน 20,296,364 บาท 35 สตางค์เป็นว่า อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในต้นเงิน 18,407,108 บาท 12 สตางค์และที่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในการที่ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยไปจำนวน 107,018 บาท 40 สตางค์ เป็นว่าให้ยกคำขอรับชำระหนี้ในหนี้จำนวนดังกล่าวทั้งหมด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share