คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1991/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีอาญาศาลทหารกรุงเทพ (ศาลอาญา) วินิจฉัยว่าการที่ จำเลยที่ 1 ยิงนายฉลองคนร้ายเป็นการกระทำในการจับกุม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 จำเลยที่1 ไม่มีความผิดในการยิงนายฉลองแต่กระสุนปืนของ จำเลยที่ 1 ในจำนวน 3 นัดที่ยิงนายฉลอง มี 2 นัด ที่พลาดไปถูกนายชูศักดิ์ตายเป็นการป้องกันเกินสมควรกว่าเหตุในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารฯ มาตรา 54โดยจะวินิจฉัยเสียใหม่ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการ ป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหาได้ไม่ ที่จำเลยที่ 1 อ้างถึงการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ก็ไม่ปรากฏตัวผู้บังคับบัญชาผู้ออกคำสั่งโดยแน่ชัดจำเลยที่ 1 จึง ไม่ได้รับนิรโทษกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 449ต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดต่อนายชูศักดิ์ (วรรคนี้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 2/2527) จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจในสังกัดของจำเลยที่ 10จำเลยที่ 1 สกัดจับนายฉลองคนร้ายตามที่ได้รับ วิทยุแจ้งเหตุ ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติ หน้าที่ของจำเลย ที่ 1 เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ทำให้ โจทก์ทั้งสามเสียหายจึงเป็นการกระทำละเมิดในหน้าที่การงานซึ่งจำเลยที่ 10 จะต้องร่วมรับผิดด้วยตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 จำเลยที่ 10 จะโต้เถียงอ้างว่าเป็นการนอกวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับหาได้ไม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ยิงนายฉลองคนร้ายกระสุนพลาด ไปถูกนายชูศักดิ์ 2 นัด เป็นบาดแผลฉกรรจ์ที่สามารถทำให้ นายชูศักดิ์ถึงแก่ความตายได้ และเกิดจากการกระทำของ จำเลยที่ 1 ก่อนบุคคลอื่น แม้จะมีบุคคลอื่นยิงนายชูศักดิ์อีกสองแผลอันเป็นบาดแผลฉกรรจ์และอาจทำให้ นายชูศักดิ์ถึงแก่ความตายได้เช่นเดียวกันเมื่อบุคคล ดังกล่าวมิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำผิด โดยต่างคน ต่างทำจำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดในความเสียหายทั้งหมดอันเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุ ให้นายชูศักดิ์ถึงแก่ความตายจำเลยที่ 1 จะอ้างว่า บุคคลอื่นมีส่วนทำละเมิดต่อนายชูศักดิ์มาเป็นเหตุลดหย่อนความรับผิดของตนหาได้ไม่ นายชูศักดิ์เป็นผู้มีสุขภาพดีและไม่มีโรคประจำตัวนอกจากนั้นการแพทย์และการอนามัยในปัจจุบันเจริญขึ้น มากจึงเป็นที่คาดหมายได้ว่านายชูศักดิ์อาจมีอายุยืนยาวกว่า60ปีได้(นายชูศักดิ์อายุ 53 ปีขณะถึงแก่กรรมที่ศาลกำหนดให้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 1 เดือนละ 8,000 บาท มีกำหนด 10 ปี จึงเป็นการพอควรและเหมาะสม แล้ว ขณะนายชูศักดิ์ตายเด็กชายรักษ์และเด็กชายภูมิบุตรนายชูศักดิ์ มีอายุ 9 ปี 2 เดือน และ 5 ปี 10 เดือนตามลำดับเด็กชายรักษ์และเด็กชายภูมิชอบที่จะได้รับชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะตลอดไปจนกว่าอายุจะบรรลุนิติภาวะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 กำหนดเวลาที่ เด็กชายรักษ์และเด็กชายภูมิได้รับชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะแม้ เกิน 10 ปี ก็เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หา เป็นการขัดกันกับกำหนดระยะเวลาที่โจทก์ที่ 1 ได้รับ ชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะไม่เมื่อเด็กชายรักษ์และเด็กชายภูมิเจริญเติบโตขึ้นก็จำเป็นต้องได้รับการศึกษาสูงขึ้นและ ได้รับการเลี้ยงดูเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ที่ศาลคิด ถัวเฉลี่ยค่าขาดไร้อุปการะตลอดไปจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะเป็น เงินคนละ 25,000 บาทต่อปีจึงเป็นการพอสมควรและเหมาะสมแก่ฐานะของนายชูศักดิ์ผู้ตายแล้ว ในวันปลงศพหรือฌาปนกิจศพ นายชูศักดิ์มีการ พระราชทานเพลิงศพมารดาและฌาปนกิจศพเด็กหญิงทรายบุตรผู้ตายซึ่งไม่เกี่ยวกับการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 รวมอยู่ ด้วยก็ตามแต่ความสำคัญอยู่ที่การจัดการศพนายชูศักดิ์ที่ศาลให้จำเลยที่ 1 รับผิดสองในสามของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการปลงศพจึงเป็นการเหมาะสมแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงนายฉลอง จันทร์วิชัย และนายชูศักดิ์ ภิงคารวัฒน์ ขณะที่อยู่ในรถยนต์โดยเจตนาฆ่า ทั้งนี้เนื่องจากนายฉลองบังคับนายชูศักดิ์และควบคุมตัวเด็กหญิงทราย ภิงคารวัฒน์ บุตรสาวนายชูศักดิ์ เป็นตัวประกันเพื่อนำนายฉลองไปส่งขึ้นรถยนต์โดยสารที่กรุงเทพฯ ไปจังหวัดชัยภูมิ เพื่อหลบหนีคดีฆ่าคนตาย โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ใช้อาวุธปืนยิงทะลุตัวถังและกระจกรถยนต์ถูกนายฉลอง นายชูศักดิ์และเด็กหญิงทรายถึงแก่ความตาย อันเป็นการจงใจกระทำโดยผิดต่อกฎหมาย ซึ่งจำเลยที่ 10 ในฐานะนายจ้างหรือตัวการต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดดังกล่าว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ผลแห่งการละเมิดดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นภรรยานายชูศักดิ์ ขาดไร้อุปการะจากนายชูศักดิ์ เดือนละ 20,000 บาท เป็นเวลา 24 ปี เป็นเงิน 5,760,000บาท โจทก์ที่ 2 ในนามเด็กชายรักษ์และเด็กชายภูมิ ภิงคารวัฒน์ บุตรโจทก์ที่ 1อันเกิดจากนายชูศักดิ์ขอคิดค่าขาดไร้อุปการะจากนายชูศักดิ์เป็นเงิน 2,266,050 บาท สำหรับเด็กหญิงทรายเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วอาจให้อุปการะแก่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี ปีละ 24,000 บาท โจทก์ที่ 1 จัดการศพนายชูศักดิ์เสียค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอย่างอื่นเป็นเงิน 856,695 บาท รถยนต์ของโจทก์ที่ 3 เป็นรถใหม่ได้รับความเสียหายทั้งคันไม่อยู่ในสภาพที่จะใช้การได้ต่อไปขอคิดตามราคารถในขณะฟ้องเป็นเงิน 820,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสามพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายชูศักดิ์และมิใช่มารดาของเด็กชานรักษ์ เด็กชายภูมิและเด็กหญิงทราย โจทก์ที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุ จำเลยทั้งเก้ามิได้ร่วมกันฆ่านายชูศักดิ์และเด็กหญิงทราย นายฉลองเป็นผู้ใช้ปืนยิงเด็กหญิงทรายจนถึงแก่ความตาย และยิงบุคคลอื่นรวมทั้งจำเลยทั้งเก้า จำเลยทั้งเก้าต้องเข้าทำการจับุมคนร้ายตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่นายชูศักดิ์ถึงแก่ความตายเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยและเป็นการเข้าใจผิดทั้งเป็นการป้องกันและปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งเก้ามิได้ร่วมกันฆ่านายชูศักดิ์และเด็กหญิงทรายค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสามเรียกร้องเกินความเป็นจริง นายชูศักดิ์ไม่เคยอุปการะครอบครัว โจทก์ที่ 1 เรียกค่าขาดอุปการะจากนายชูศักดิ์เป็นเวลา 24 ปี เป็นการคาดการณ์ในอนาคตไม่แน่นอน นายชูศักดิ์มิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กชายรักษ์และเด็กชายภูมิ โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยทั้งเก้าชดใช้ค่าขาดอุปการะแก่โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 เรียกร้องได้ไม่เกิน 100,000 บาท โจทก์ที่ 1 เรียกค่าสินไหมทดแทนจากการตายของเด็กหญิงทรายได้ไม่เกิน 10,000 บาท ค่าปลงศพนายชูศักดิ์ไม่เกิน 100,000 บาท จำเลยทั้งเก้าไม่ได้ทำให้รถยนต์คันเกิดเหตุเสียหาย รถดังกล่าวอยู่ในสภาพที่ใช้การได้ หากจะเสียหายก็ไม่เกิน 1,000 บาท ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าเด็กหญิงทรายถูกกระสุนปืนของจำเลยทั้งเก้าหรือนายฉลอง ค่าเสียหายก็กล่าวลอย ๆ ไม่บรรยายว่าเสียหายอย่างไร เท่าใด เป็นฟ้องเคลือบคลุม

จำเลยที่ 10 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ไม่ใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 10 แต่มีความสัมพันธ์กันตามกฎหมายปกครอง กระกระทำของจำเลยทั้งเก้าเป็นเรื่องเฉพาะตัว และนอกวัตถุประสงค์ นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 10 ไม่แน่ว่าเด็กหญิงทรายถูกกระสุนของผู้ใดจำเลยที่ 10 ไม่ต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งการละเมิด ค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 รวมทั้งค่าปลงศพของนายชูศักดิ์ โจทก์เรียกรวมกันมาโดยไม่มีรายละเอียด จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม โจทก์ที่ 1 เรียกค่าขาดไร้อุปการะได้ไม่เกิน 100,000 บาท โจทก์ที่ 2 เรียกค่าขาดไร้อุปการะได้ไม่เกิน 200,000บาท ค่าปลงศพเรียกได้อย่างสูงไม่เกิน 30,000 บาท จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์เกี่ยวกับการตายของเด็กหญิงทราย จำเลยที่ 10 ไม่ต้องรับผิดชอบในค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 1 เกี่ยวกับการตายของเด็กหญิงทราย รถคันดังกล่าวอาจซ่อมให้อยู่ในสภาพเดิมได้ ค่าซ่อมไม่เกิน20,000 บาท

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสามพร้อมดอกเบี้ย ยกฟ้องโจทก์สำหรับคดีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10

โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 10 ร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 10 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมแก่โจทก์ทั้งสามโดยลดจำนวนค่าสินไหมทดแทนลง

โจทก์ทั้งสามฎีกาขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 10 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด

จำเลยที่ 1 และที่ 10 ฎีกาขอให้ยกฟ้อง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในคดีอาญาซึ่งจำเลยที่ 1 กับพวกรวมเก้าคนถูกฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพ (ศาลอาญา) ตามคดีหมายเลขแดงที่ 6020/2522 ศาลทหารกรุงเทพ (ศาลอาญา) ได้พิพากษาโดยฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 ยิงนายฉลองคนร้ายเป็นการกระทำในการจับกุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดในการยิงนายฉลองแต่กระสุนปืนของจำเลยที่ 1 ซึ่งยิงนายฉลองจำนวน 3 นัด มี 2 นัดที่พลาดไปถูกนายชูศักดิ์เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารฯ มาตรา 54 โดยจะวินิจฉัยเสียใหม่ว่าการกระทำของจำลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหาได้ไม่ส่วนข้อที่จำเลยที่ 1 อ้างถึงการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาก็เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่ปรากฏตัวผู้บังคับบัญชา ผู้ออกคำสั่งโดยแน่ชัด จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้รับนิรโทษกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 449 ต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อนายชูศักดิ์

จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานในสังกัดของจำเลยที่ 10 จำเลยที่ 1 สกัดจับนายฉลองคนร้ายตามที่ได้รับวิทยุแจ้งเหตุ ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ทั้งสามเสียหาย จึงเป็นการกระทำละเมิดในหน้าที่การงาน ซึ่งจำเลยที่ 10 จะต้องร่วมรับผิดด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 จำเลยที่ 10 จะโต้เถียงอ้างว่าเป็นการนอกวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับหาได้ไม่

เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ยิงนายฉลองคนร้ายกระสุนพลาดไปถูกนายชูศักดิ์ 2 นัด เป็นบาดแผลฉกรรจ์ที่สามารถทำให้นายชูศักดิ์ถึงแก่ความตายได้และเกิดจากกระทำของจำเลยที่ 1 ก่อนบุคคลอื่น แม้จะมีบุคลลอื่นยิงนายชูศักดิ์อีกสองแผลอันเป็นบาดแผลฉกรรจ์และอาจทำให้นายชูศักดิ์ถึงแก่ความตายได้เช่นเดียวกันเมื่อบุคคลดังกล่าวมิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำผิดโดยต่างคนต่างทำ จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดในความเสียหายทั้งหมด อันเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1เป็นเหตุให้นายชูศักดิ์ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าบุคคลอื่นมีส่วนทำละเมิดต่อนายชูศักดิ์มาเป็นเหตุลดหย่อนความรับผิดของตนหาได้ไม่

นายชูศักดิ์เป็นผู้มีสุขภาพดีและไม่มีโรคประจำตัว นอกจากนั้นการแพทย์และอนามัยในปัจจุบันเจริญขึ้นมาก จึงเป็นที่คาดหมายได้ว่านายชูศักดิ์อาจมีอายุยืนยาวกว่า 60 ปีได้ (นายชูศักดิ์อายุ 53 ปี ขณะถึงแก่กรรม) ที่ศาลกำหนดให้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 1 เดือนละ 8,000 บาท มีกำหนด 10 ปี จึงเป็นการพอควรและเหมาะสมแล้ว

ขณะนายชูศักดิ์ตาย เด็กชายรักษ์และเด็กชายภูมิบุตรนายชูศักดิ์มีอายุ 9 ปี 2 เดือน และ 5 ปี 10 เดือนตามลำดับ เด็กชายรักษ์และเด็กชายภูมิชอบที่จะได้รับชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะตลอดไปจนกว่าอายุจะบรรลุนิติภาวะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 กำหนดเวลาที่เด็กชายรักษ์และเด็กชายภูมิได้รับชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะแม้เกิน 10 ปี ก็เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หาเป็นการขัดกับกำหนดระยะเวลาที่โจทก์ที่ 1 ได้รับชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะไม่ เมื่อเด็กชายรักษ์และเด็กชายภูมิเจริญเติบโตขึ้นก็จำเป็นต้องได้รับการศึกษาสูงขึ้นและได้รับการเลี้ยงดูเพิ่มมากขึ้นตามลำดับที่ศาลคิดถัวเฉลี่ยค่าขาดไร้อุปการะตลอดไปจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะเป็นเงินคนละ 25,000 บาทต่อปี จึงเป็นการพอสมควรและเหมาะสมแก่ฐานานุรูปของนายชูศักดิ์ผู้ตายแล้ว

ในวันปลงศพหรือฌาปนกิจศพนายชูศักดิ์ผู้ตายมีการพระราชทานเพลิงศพมารดาและฌาปนกิจศพเด็กหญิงทรายบุตรผู้ตาย ซึ่งไม่เกี่ยวกับการการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 รวมอยู่ด้วยก็ตาม แต่ความสำคัญอยู่ที่การจัดศพนายชูศักดิ์ผู้ตาย การที่ศาลให้จำเลยที่ 1 รับผิดสองในสามของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการปลงศพจึงเป็นการเหมาะสมแล้ว

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 10 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1,758,696 บาท พร้อมดอกเบี้ยและร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 5,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

Share