แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ตรวจชำระใหม่ มาตรา 1567(3) โจทก์ทั้งสองผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ฐานาบุรูป และมาตรา 1563 บัญญัติให้บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ดังนั้นกิจการหรืแรงงานที่บุตรทำให้บิดามารดาก็คือการอุปการะเลี้ยงดูอย่างหนึ่ง เมื่อ ว.บุตรโจทก์ถูกกระทำละเมิดตายลงย่อมทำให้โจทก์ขาดไร้อุปการะจากผู้ตาย โจทก์ฟ้องเรียกค่าขาดแรงงาน ว.ถือได้ว่าเป็นการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะนั่นเอง การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะให้โจทก์ จึงมิใช่เป็นการพิพากษานอกฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภรรยากัน โจทก์ที่ ๒ เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันหนึ่ง จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารคันหนึ่งซึ่งนำไปวิ่งรับส่งผู้โดยสารในนามของจำเลยที่ ๒ และได้ประกันภัยไว้กับจำเลยที่ ๓ ซึ่งจำเลยที่ ๓ ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้บุคคลภายนอกเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เมื่อวันเกิดเหตุนายเสนอลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ขับขี่รถยนต์โดยสารคันดังกล่าวด้วยความประมาทชนรถบรรทุกของโจทก์ซึ่งแล่นสวนทางมาพังทั้งคัน นายวิเชียรและเด็กชายวิชิตบุตรโจทก์ตายคาที่ โจทก์ที่ ๒ ได้รับบาดเจ็บพิการตลอดชีวิต จำเลยทั้งสามต้องรับผิดในค่าเสียหาย คือค่ารักษา ค่าขาดรายได้ ระหว่างเจ็บป่วย ค่าเสียความสามารถในการประกอบอาชีพของโจทก์ที่ ๒ ค่าผลไม้บนรถบรรทุกเสียหาย ค่าซ่อมแซมรถบรรทุกและค่าเสื่อมสภาพ ค่าขาดรายได้จากการบรรทุกสินค้าระหว่างซ่อมรถ ค่าปลงศพบุตรทั้งสอง ค่าขาดแรงงานนายวิเชียร ๔ เดือน ซึ่งต้องจ้างบุคคลอื่นมาทำแทนกับอีก ๑๐ ปี ค่าขาดแรงงานเด็กชายวิชิต ๑๐ ปี ขอบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง นายเสนอไม่ใช่ลูกจ้างปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์โดยสาร เหตุเกิดเพราะความประมาทของรถยนต์บรรทุก ค่าเสียหายตามฟ้องสูงเกินควรและไกลเกินกว่าเหตุ เด็กชายวิชิตไม่อยู่ในฐานะช่วยเหลือประกอบอาชีพโจทก์ไม่มีสิทธิคิดค่าแรงงาน และค่าแรงงานไม่เกินกว่ากฎหมายแรงงาน จำเลยที่ ๓ ไม่ได้รับประกันภัยรถยนต์โดยสารจากจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เมื่อผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ ๓ ก็ไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ย โดยให้จำเลยที่ ๓ ร่วมรับผิดไม่เกินวงเงินที่รับประกันภัย
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เหตุเกิดเพราะความประมาทของนายเสนอซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ และวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ปัญหาค่าขาดแรงงานของเด็กชายวิชิตที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ฎีกาว่าไม่มีกฎหมายรับรองใช้สิทธิที่จะเรียกค่าขาดแรงงานได้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิจารณาให้เป็นค่าขาดไร้อุปการะเป็นการนอกฟ้องนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ตรวจชำระใหม่ มาตรา ๑๕๖๗(๓) โจทก์ทั้งสองผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ฐานานุรูป และมาตรา ๑๕๖๓ บัญญัติให้บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ดังนั้นกิจการหรือแรงงานที่บุตรทำให้บิดามารดาก็คือการอุปการะเลี้ยงดูอย่างต่อเนื่อง เมื่อเด็กชายวิชิตตายลงย่อมทำให้โจทก์ขาดไร้อุปการะจากผู้ตาย โจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าขาดแรงงานเด็กชายวิชิตถือได้ว่าเป็นการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะนั่นเอง ฉะนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะให้โจทก์ จึงมิใช่เป็นการพิพากษานอกฟ้อง สำหรับค่าสินไหมทดแทนทุกรายการศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างทั้งสองกำหนดให้เหมาะสมแล้ว
พิพากษายืน