แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ได้รับทุนการศึกษาภายใต้แผนโคลัมโบ ซึ่งเป็นทุนที่รัฐบาลออสเตรเลียมอบให้แก่รัฐบาลไทยเพื่อคัดเลือกบุคคลไปศึกษา รัฐบาลไทยจึงมีส่วนได้เสียในทุนดังกล่าว โจทก์ซึ่งเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยมีอำนาจหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ เมื่อจำเลยที่ 1เป็นผู้สอบคัดเลือกได้และได้ทำสัญญาการรับทุนกับโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อสัญญา จำเลยที่ 2 ผู้ทำสัญญาค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์จึงต้องรับผิดตามข้อความในสัญญาที่ทำไว้ด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาและไม่ยอมชดใช้เงินตามข้อตกลงในสัญญา จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ขณะทำสัญญา ผ. เป็นอธิบดีกรมโจทก์ ได้มีคำสั่งมอบหมายให้ ช. รองอธิบดีรักษาราชการแทน ซึ่งตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 218 เรื่อง ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ข้อ 44 วรรคแรกบัญญัติให้ผู้รักษาราชการแทนมีอำนาจเช่นเดียวกับผู้ที่ตนแทน ช.จึงมีอำนาจมอบให้ ช. ซึ่งเป็นวิทยากรพิเศษลงลายมือชื่อในสัญญาการรับทุนและสัญญาค้ำประกันแทน ช. จึงลงลายมือชื่อในสัญญาการรับทุนและสัญญาค้ำประกันแทนโจทก์ได้ สัญญาค้ำประกันจึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 วรรคแรก จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ลาไปศึกษาต่อแม้จะยังคงมีสถานะเป็นข้าราชการและรับเงินเดือนอยู่ก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นการเข้ารับราชการหรือปฏิบัติราชการตามความหมายในสัญญาการรับทุน จึงไม่อาจนำเวลาที่ลาไปศึกษาต่อมารวมกับเวลาที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติราชการจริงได้ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามสัญญาการรับทุนจะต้องรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 พร้อมทั้งดอกเบี้ยตามสัญญาการรับทุนทั้งหมด เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดและต้องรับผิดในดอกเบี้ยต่อโจทก์นับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2530 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญารับเงินทุนจากโจทก์ไปศึกษายังประเทศออสเตรเลีย โดยสัญญาว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาจะกลับมารับราชการในส่วนราชการที่โจทก์ให้ความยินยอมมีกำหนดระยะเวลา 2 เท่า ของระยะเวลาที่ไปศึกษา หากไม่เข้ารับราชการจะใช้เงินคืนเป็น 2 เท่า ของจำนวนเงินที่ได้รับ หากรับราชการไม่ครบกำหนดตามระยะเวลาตามสัญญาจะใช้เงินเป็น 2 เท่า ของจำนวนเงินที่รับไปหักด้วยระยะเวลาที่เข้ารับราชการลงตามส่วน โดยจำเลยที่ 2ทำสัญญาค้ำประกัน เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จำเลยที่ 1 ได้กลับมารับราชการระยะหนึ่ง ต่อมาจำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการ รวมระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ทำงานใช้ทุนรวมเวลา 1 ปี 6 เดือน 19 วัน คิดเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 รับราชการใช้ทุน 2,203.24 เหรียญออสเตรเลียไม่ครบกำหนดตามสัญญา โดยยังขาดระยะเวลาใช้ทุนอีก 6 ปี 11 เดือน23 วัน คิดเป็นเงิน 9,846.88 เหรียญออสเตรเลีย ซึ่งจำเลยที่ 1จะต้องชดใช้ให้โจทก์เป็น 2 เท่าตามสัญญา เป็นเงิน 19,693.76เหรียญออสเตรเลีย คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ยื่นฟ้อง 1 เหรียญออสเตรเลียเท่ากับ 18.45 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 363,349.87 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน19,693.76 เหรียญออสเตรเลีย หรือคิดเป็นเงินไทย 363,349.87 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 กระทำไว้ไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา เพราะผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับสัญญาไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ โจทก์ไม่ได้เป็นผู้ออกเงินค่าใช้จ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์ โจทก์คำนวณเวลารับราชการไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดสัญญา จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 363,349.87บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7พฤศจิกายน 2530
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่8 พฤศจิกายน 2530 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 25ตุลาคม 2516 จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากโจทก์ให้รับทุนภายใต้แผนโคลัมโบ อันเป็นทุนที่รัฐบาลออสเตรเลียมอบให้แก่รัฐบาลไทย เพื่อคัดเลือกบุคคลไปศึกษา ได้ทำสัญญาการรับทุนเพื่อไปศึกษาในประเทศออสเตรเลียกับโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ 1 ได้ให้ความยินยอมและทำหนังสือค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 กับโจทก์ นายชิน ชุมนุม วิทยากรพิเศษของโจทก์เป็นผู้ลงนามในสัญญาค้ำประกันดังกล่าวแทนโจทก์ จำเลยที่ 1 เดินทางไปศึกษาที่ประเทศออสเตรเลียตามทุนที่ได้รับเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม2516 จนถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2521 จึงจบหลักสูตรในระดับปริญญาตรีสาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์และเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 23กุมภาพันธ์ 2521 แล้วเข้ารับราชการตำแหน่งอาจารย์วิชาคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระหว่างรับราชการจำเลยที่ 1ได้รับอนุญาตให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาสถิติ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2522 ถึงวันที่ 9 กันยายน2524 จากนั้นเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2524 จำเลยที่ 1 ได้ขอลาศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก แล้วเดินทางกลับประเทศไทยในปี 2530จนถึงวันที่ 1 เมษายน 2530 จึงลาออกจากราชการ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นประการแรกว่า โจทก์มีส่วนได้เสียและมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ทุนการศึกษาภายใต้แผนโคลัมโบในคดีนี้ เป็นทุนที่รัฐบาลออสเตรเลียมอบให้แก่รัฐบาลไทยเพื่อคัดเลือกบุคคลไปศึกษา รัฐบาลไทยจึงมีส่วนได้เสียในทุนดังกล่าวโจทก์ซึ่งเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยมีอำนาจหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้ เมื่อได้ดำเนินการสอบคัดเลือกผู้ขอรับทุน ซึ่งจำเลยที่ 1เป็นผู้สอบคัดเลือกได้และได้ทำสัญญาการรับทุนกับโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1ต่อโจทก์ จึงต้องรับผิดตามข้อความในสัญญาที่ทำไว้ด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาและไม่ยอมชดใช้เงินตามข้อตกลงในสัญญาการรับทุนที่ทำไว้จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนโจทก์คืออธิบดีกรมวิเทศสหการ ซึ่งอธิบดีมีคำสั่งมอบให้รองอธิบดีรักษาการแทนตามเอกสารหมาย จ.23 โดยมิได้ให้อำนาจรองอธิบดีมอบอำนาจช่วงแก่บุคคลอื่นทำการแทน การที่นายชูชาติ ประมูลผล รองอธิบดีมอบอำนาจให้นายชิน ชุมนุม ลงลายมือชื่อในสัญญารับทุนของจำเลยที่ 1 และสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการมอบอำนาจช่วงหนังสือสัญญารับทุนเอกสารหมาย จ.3 และสัญญาค้ำประกันหมาย จ.5จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดด้วยนั้น ในข้อนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะทำสัญญาในคดีนี้ โจทก์มีนายผิว มูลสวัสดิ์เป็นอธิบดี นายผิวได้มีคำสั่งมอบหมายให้นายชูชาติ ประมูลผลรองอธิบดีรักษาราชการแทนตามเอกสารหมาย จ.23 ซึ่งตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 เรื่องระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ข้อ 44วรรคแรก ที่ใช้บังคับขณะนั้นบัญญัติให้ผู้รักษาราชการแทนมีอำนาจเช่นเดียวกับผู้ที่ตนแทน นายชูชาติจึงมีอำนาจมอบให้นายชินซึ่งมีตำแหน่งเป็นวิทยากรพิเศษลงลายมือชื่อในสัญญาการรับทุนและสัญญาค้ำประกันแทน ฉะนั้นนายชินจึงลงลายมือชื่อในสัญญาการรับทุนและสัญญาค้ำประกันแทนโจทก์ได้ ทั้งในสัญญาค้ำประกันซึ่งจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ก็มีข้อความระบุไว้ชัดว่า จำเลยที่ 2 ขอทำสัญญาค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่ให้ไว้ต่อโจทก์ สัญญาค้ำประกันจึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 วรรคแรก โจทก์จึงฟ้องบังคับจำเลยที่ 2ตามสัญญาดังกล่าวได้
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ลาไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอกนั้น ถือได้ว่าเป็นการเข้ารับราชการหรือเข้าปฏิบัติราชการตามสัญญาการรับทุน เอกสารหมายจ.3 เมื่อรวมเวลาที่ลาไปศึกษาดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 จึงปฏิบัติตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 ครบถ้วนแล้วนั้น เห็นว่าการลาไปศึกษาต่อแม้จำเลยที่ 1 จะยังคงมีสถานะเป็นข้าราชการและรับเงินเดือนอยู่ก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นการเข้ารับราชการหรือปฏิบัติราชการตามความหมายในสัญญาการรับทุน จึงไม่อาจนำเวลาที่ลาไปศึกษาต่อมารวมกับเวลาที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติราชการจริงได้
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาในข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในดอกเบี้ยเมื่อจำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัด จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือทวงถามของโจทก์เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2530 จำเลยที่ 2จะต้องชำระหนี้ภายใน 30 วันนับแต่วันรับหนังสือ จำเลยที่ 2 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดในวันที่ 20 ธันวาคม 2530 และต้องรับผิดในดอกเบี้ยต่อโจทก์นับแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2530 ไม่ใช่นับแต่วันที่ 8พฤศจิกายน 2530 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดนั้น ในข้อนี้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามสัญญาการรับทุนจะต้องรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 พร้อมทั้งดอกเบี้ยตามสัญญาการรับทุนทั้งหมด ในคดีนี้จำเลยที่ 1 ผิดนัดและต้องรับผิดในดอกเบี้ยต่อโจทก์นับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2530 จำเลยที่ 2ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ
พิพากษายืน