แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำพิพากษาคดีก่อนซึ่งถึงที่สุดแล้ว คดีแรกเป็นคดีที่มีข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยกับบุคคลภายนอก คดีที่สองพิพาทระหว่างบุคคลภายนอกกับจำเลย ซึ่งเป็นเรื่องเพิกถอนนิติกรรมและเรื่องขับไล่ตามลำดับ ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาคดีนี้เป็นคดีที่โจทก์มีข้อพิพาทกับจำเลยในเรื่องขอหย่าและแบ่งทรัพย์สิน มูลคดีของคำพิพากษาทั้งสองคดีแตกต่างกันและต่างคู่ความกัน ทั้งคำพิพากษาคดีแรกได้มีการบังคับคดีไปแล้ว การที่จำเลยยื่นคำร้องในคดีนี้เพื่อให้มีผลก้าวล่วงไปถึงคดีที่ได้มีการบังคับคดีไปแล้วนั้น ศาลฎีกาจึงไม่อาจวินิจฉัยให้ได้
ที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งโดยให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีนี้ซึ่งเป็นศาลสูงกว่า และสั่งว่าบ้านพร้อมที่ดินพิพาทในคดีนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแต่ผู้เดียว โดยโจทก์ไม่มีสิทธิจะแบ่งทรัพย์สินเหล่านี้จากจำเลยตามคำพิพากษาในคดีซึ่งถึงที่สุดในคดีแรกและบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีนี้ต่อไปนั้น เมื่อคดีนี้ศาลฎีกาได้พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์กรณีไม่ต้องมีการบังคับคดี ฎีกาของจำเลยมีผลเท่ากับขอให้ศาลฎีกาออกคำบังคับให้หรือให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้แก่จำเลย จึงไม่อาจดำเนินการให้ในคดีนี้ได้ ทั้งไม่ใช่กรณีคำพิพากษาขัดกันอันต้องตามบทบัญญัติ ป.วิ.พ.มาตรา 146ที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งตามคำขอของจำเลย ชอบที่จำเลยจะไปดำเนินคดีเอง