แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องโจทก์บรรยายเพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างและเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ไปในทางการที่จ้างแล้วเกิดเหตุขึ้นหาได้บรรยายให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองหรือนั่งไปในรถยนต์ในขณะเกิดเหตุ อันเป็นหลักแห่งข้อหาที่จะให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ ศาลจะพิพากษาให้จำเลยที่1 รับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 มิได้เพราะเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ศาลรวมการพิจารณา โดยโจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องใจความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์ จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างและเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ไปในทางการที่จ้างโดยประมาท เป็นเหตุให้รถยนต์พลิกคว่ำ โจทก์ทั้งสองได้รับบาดเจ็บสาหัส ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสองคนละ 100,000 บาท
จำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 มิได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม และโจทก์มิได้รับความเสียหายตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ทั้งสองสำนวนขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 20,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสองคงบรรยายเกี่ยวกับจำเลยที่ 1เพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์ จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างและเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ไปในทางการที่จ้างแล้วเกิดเหตุขึ้นเท่านั้น หาได้บรรยายให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองหรือนั่งไปในรถยนต์ในขณะเกิดเหตุอันเป็นหลักแห่งข้อหาที่จะให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ด้วยไม่ ฟ้องของโจทก์เช่นนี้ศาลจะพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 มิได้ เพราะเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น
พิพากษายืน