แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ใบจอง หมายถึงหนังสือแสดงการยอมให้ราษฎรเข้าครอบครองที่ดินชั่วคราวเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำมาหากินเลี้ยงชีพให้เป็นไปตามระเบียบและเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนดโดยอยู่ภายใต้ข้อบังคับว่าผู้ได้รับอนุญาตให้จับจองจะโอนไม่ได้เว้นแต่จะตกทอดโดยทางมรดกตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ ป.ที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 8 วรรคสอง ที่ดินตามใบจองจึงยังเป็นของรัฐ ไม่ใช่ที่ดินที่เอกชนมีสิทธิครอบครองอันจะมีการแย่งการครอบครองระหว่างราษฎรด้วยกันได้ การที่ ป. ได้รับอนุญาตจากรัฐให้เข้าครอบครองที่ดินตามใบจอง ต่อมา ป. ถึงแก่ความตายสิทธิตามใบจองย่อมตกทอดได้แก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง มาตรา 1600 มาตรา 1635 ประกอบ พ.ร.บ.ให้ใช้ ป.ที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 8 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาตามกฎหมายของนายประยูร นายประยูรได้รับอนุญาตจากรัฐให้เข้าครอบครองทำประโยชน์ชั่วคราวที่ดินเนื้อที่ประมาณ 17 ไร่ 80 ตารางวา หมู่ที่ 10 บ้านแก่งยาง ตำบลดอนจิก อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ตามเอกสารใบจองเลขที่ 174 เล่ม 1 หน้า 92 ต่อมานายประยูรถึงแก่กรรม โจทก์และบุตรยังครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเรื่อยมา เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2545 จำเลยขัดขวางไม่ให้โจทก์และบริวารเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน โดยอ้างว่าที่ดินทางทิศตะวันตกเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ เป็นที่ดินของจำเลย จำเลยเข้าไปไถนาปลูกข้าว โจทก์บอกให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คิดเป็นค่าเสียหายเป็นเงิน 12,000 บาทต่อปี ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามใบจองเลขที่ 174 เล่มที่ 1 บ้านแก่งยาง ตำบลดอนจิก อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้อง ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ปีละ 12,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทตามคำฟ้องจะเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิเป็นใบจองที่มีชื่อสามีโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือไม่ จำเลยไม่รับรอง แต่จำเลยได้ยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ โดยเข้าทำนาและยึดถือเพื่อตนติดต่อกันมาตั้งแต่ก่อนปี 2506 โดยสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของจนถึงปัจจุบัน ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน เป็นระยะเวลาเกิน 1 ปี โจทก์จึงหมดสิทธิฟ้องเรียกคืนการครอบครองและโจทก์ไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินส่วนที่ระบายด้วยหมึกสีเขียวตามแผนที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินตามเอกสารใบจอง (น.ส. 2) เลขที่ 174 เล่ม 1 หมู่ที่ 10 ตำบลดอนจิก อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทกับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินเดือนละ 1,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 พฤศจิกายน 2546) แก่โจทก์ จนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นศาลอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า นายประยูร เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจากรัฐให้เข้าครอบครองที่ดินตามใบจองเลขที่ 174 เล่ม 1 หน้า 92 หมู่ 10 ตำบลดอนจิก อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ตามใบจอง (น.ส. 2) ที่ดินทางด้านทิศตะวันตกตามใบจองดังกล่าวอยู่ติดกับที่ดินของจำเลย นายประยูรเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2545 นายประยูรถึงแก่ความตาย จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 21036 ตำบลดอนจิก อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ตามโฉนดที่ดิน ที่ดินพิพาทอยู่ทางตะวันออกของที่ดินของจำเลยบริเวณที่ระบายด้วยหมึกสีเขียวในแผนที่พิพาท เมื่อปี 2545 จำเลยได้ให้นายบุญมาก ซึ่งเป็นบุตรนำรถแทรกเตอร์เข้าไปไถในที่ดินพิพาทและข้อเท็จจริงตามฟ้องซึ่งจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งถือว่าจำเลยยอมรับแล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินตามใบจองเลขที่ 174 ซึ่งมีชื่อนายประยูรสามีโจทก์เป็นผู้ที่รัฐยอมให้เข้าครอบครอบตามใบจอง สำหรับประเด็นพิพาทว่าจำเลยจะยกเรื่องระยะเวลาการฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองเกิน 1 ปี ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้หรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามใบจองของนายประยูรซึ่งที่ดินที่มีใบจองนั้นหมายถึงที่ดินของรัฐที่จัดให้ราษฎรใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำมาหาเลี้ยงชีพโดยให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนดและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 27 และคำว่า ใบจอง หมายความว่า หนังสือแสดงการยอมให้เข้าครอบครองที่ดินชั่วคราว ตามบทนิยามของคำว่า “ใบจอง” ในมาตรา 1 ของประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเมื่อรัฐจัดให้บุคคลเข้าครอบครองที่ดินและออกใบจองให้แล้ว หากปรากฎว่าบุคคลนั้นปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดโดยครบถ้วนแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้ แต่หากไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับให้ครบถ้วน อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจสั่งให้บุคคลนั้นออกไปจากที่ดินนั้นได้ และถือว่าบุคคลนั้นขาดสิทธิอันจะพึงได้ทันทีตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 30 และมาตรา 32 ดังนั้น การที่ทางราชการยังไม่ได้เปลี่ยนใบจองของโจทก์เป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ย่อมแสดงว่าที่ดินตามใบจองยังเป็นของรัฐ ที่ดินดังกล่าวจึงไม่ใช่ที่ดินที่เอกชนมีสิทธิครอบครองอันจะมีการแย่งการครอบครองระหว่างราษฎรด้วยกันได้ จำเลยจึงฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีใบจอง ถือว่ายังเป็นที่ดินของรัฐ เมื่อนายประยูรสามีโจทก์ถึงแก่กรรม ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ทรัพย์มรดกตกทอดมายังโจทก์ ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้เข้าครอบครอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 1 ได้นิยามความหมายของคำว่า “ใบจอง” หมายถึง หนังสือแสดงการยอมให้เข้าครอบครองที่ดินชั่วคราว จากคำนิยามดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าทางราชการยังไม่ได้ให้สิทธิครอบครองอย่างเด็ดขาดแก่นายประยูรผู้มีชื่อในใบจอง นายประยูรมีเพียงแต่สิทธิเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยต้องปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนดรวมถึงเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนด แต่ในระหว่างที่นายประยูรได้รับอนุญาตให้จับจองที่ดินตามใบจองซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทนั้นนายประยูรจะต้องอยู่ภายในบังคับของพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 8 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า ที่ดินที่ได้รับใบอนุญาตให้จับจอง… ผู้ได้รับอนุญาตจะโอนไม่ได้ เว้นแต่จะตกทอดทางมรดกเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายประยูร ผู้มีชื่อในใบจอง เป็นสามีของโจทก์และนายประยูรถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2545 สิทธิตามใบจองย่อมตกทอดได้แก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง มาตรา 1600 และมาตรา 1635 ประกอบพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 8 วรรคสอง ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในชั้นศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตาม แต่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฏหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยจึงมีสิทธิจะยกปัญหาเช่นว่านี้ขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ