แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามบทบัญญัติในมาตรา 11 แห่ง ก.ม.ลักษณะอาญา ศาลจะยกมาตรา 23 แห่งกฎหมายนี้มาใช้ได้เฉพาะในกรณีที่กฎหมายนั้น ๆ มิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น แต่ในกรณีเรื่องการกระทำผิดต่อ พ.ร.บ.ฝิ่นนั้น มาตรา 68 (1) แห่ง พ.ร.บ.ฝิ่น พ.ศ.2472 บัญญัติถึงวิธีเพิ่มโทษผู้กระทำผิดต่อ พ.ร.บ.ฝิ่น โดยเฉพาะเป็นพิเศษ บังคับให้ศาลลงโทษทั้งปรับทั้งจำจึงจะนำกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 23 มาใช้ในกรณีเช่นนี้ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องจำเลยรับสารภาพ คดีฟังได้ว่าจำเลยมีฝิ่นไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน และก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาเพราะได้กระทำผิดพระราชบัญญัติฝิ่น ฯ มาแล้ว พ้นโทษไปยังไม่ครบ ๓ ปี จึงขอให้ลงโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยผิดตาม พ.ร.บ.ฝิ่น พ.ศ.๒๔๗๒ มาตรา ๖๘ พ.ร.บ.ฝิ่น พ.ศ.๒๔๙๔ มาตรา ๖ แต่เห็นควรจำคุกจำเลยสถานเดียวตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๒๓ จึงให้วางโทษจำคุก ๑ ปี ลดฐานปราณีตามมาตรา ๕๙ กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๖ เดือน ของกลางริบ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ปรับด้วย
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้วางโทษจำคุกจำเลย ๑ ปี ปรับ ๕๐๐ บาท ลดฐานปราณีตามมาตรา ๕๙ กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๖ เดือน ปรับ ๒๕๐ บาท
จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ศาลยก ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๒๓ มาใช้ยกโทษปรับได้
ศาลฎีกาเห็นว่า เรื่องการกระทำผิดต่อ พ.ร.บ.ฝิ่นนั้น มาตรา ๖๘ (๑) แห่ง พ.ร.บ.ฝิ่น พ.ศ.๒๔๗๒ บัญญัติถึงวิธีเพิ่มโทษผู้กระทำผิด พ.ร.บ.ฝิ่นโดยเฉพาะเป็นพิเศษ บังคับให้ศาลลงโทษ ทั้งปรับทั้งจำ จึงจะนำ ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๒๓ มาใช้ในกรณีเช่นนี้ไม่ได้
จึงพิพากษายืน