คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1968/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

อ. กับพวกบังคับให้ผู้เสียหายถอดทรัพย์สินต่าง ๆ ให้โดยพวกคนร้ายจับผู้เสียหายไว้ อ. บอกผู้เสียหายว่า ลูกพี่ใหญ่ของตนมาแล้ว จากนั้นประมาณ 10 นาที จำเลยขับรถจักรยานยนต์ มาที่เกิดเหตุ พูดคุยกับ อ. อ. เล่าเรื่องให้จำเลยฟังจำเลยถามผู้เสียหายว่าบ้านอยู่ที่ไหน จำเลยเอาทรัพย์สิน ของผู้เสียหายไป และมอบแหวนของผู้เสียหายให้ อ. สวมไว้ แล้วจำเลยขับรถออกไป จึงไม่แจ้งชัดว่าจำเลยสมคบกับอ. และพวกวางแผนเพื่อตระเตรียมการมาเพื่อปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย กับจำเลยมาที่เกิดเหตุหลังจากการปล้นทรัพย์สำเร็จและขาดตอนไปแล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยร่วมกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดอันถึงถือได้ว่าเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมปล้นทรัพย์ แต่การที่ จำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป จำเลยมีความผิดฐานรับของโจร แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ แต่กรณีถือได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง แต่มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสารสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรได้ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี83 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 3,450 บาทแก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีดังกล่าวด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคแรก ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 จำคุก 18 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 3,450 บาท แก่ผู้เสียหาย นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีหมายเลขแดงที่ 956/2540 ของศาลจังหวัดนครปฐมส่วนคดีหมายเลขดำที่ 780/2540 ของศาลชั้นต้นยังไม่มีคำพิพากษาจึงไม่นับโทษต่อให้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง จำคุก 3 ปี ยกฟ้องความผิดฐานปล้นทรัพย์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าจำเลยร่วมกับพวกกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์มีนายอนันต์ศิริ พรมแสง ผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่า นายโอฬารและพวกอีก 3 คนบังคับให้ผู้เสียหายถอดแหวน สร้อยข้อมือและสร้อยคอพร้อมพระเลี่ยมทองคำให้โดยพวกคนร้ายจับตัวผู้เสียหายไว้ เมื่อได้ทรัพย์ของผู้เสียหายแล้ว นายโอฬารบอกผู้เสียหายว่าลูกพี่ใหญ่ของตนมาแล้ว หลังจากนั้นประมาณ 10 นาที จำเลยก็ขับรถจักรยานยนต์ตรงเข้ามาที่เกิดเหตุและเดินไปพูดคุยกับนายโอฬาร นายโอฬารจึงเล่าเรื่องทั้งหมดให้จำเลยฟัง จำเลยถามผู้เสียหายว่าบ้านอยู่ไหนแล้วจำเลยเก็บเอาทรัพย์สินต่าง ๆ ของผู้เสียหายจากนายโอฬารไปแต่ได้มอบแหวนของผู้เสียหายให้นายโอฬารสวมไว้แล้วจำเลยขับรถจักรยานยนต์ไปทางหลังวัด ร้อยตำรวจเอกนันทรังสรรค์ สอนเจตน์ผู้จับกุมนายโอฬารและจำเลยเบิกความว่า เมื่อได้รับแจ้งความจากผู้เสียหายแล้ว ได้ให้ผู้เสียหายพาไปจับกุมคนร้าย ผู้เสียหายชี้ให้จับกุมนายโอฬารได้ขณะยังสวมแหวนของผู้เสียหายอยู่นายโอฬารให้การรับว่า ขณะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปมีพวก คือนายเก่ง นายเอกและจำเลย โดยจำเลยเป็นผู้เอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปบางส่วนตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1 เห็นว่าตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1 นายโอฬารรับว่าได้ปล้นทรัพย์ผู้เสียหายโดยร่วมกับนายสมศักดิ์หรือคิง เปี่ยมทองคำและนายเอกโดยนายโอฬารเป็นคนถอดแหวนของผู้เสียหายเก็บไว้ นายเอกเป็นคนล้วงเงินสดและถอดสร้อยคอเงินพร้อมพระเลี่ยมทองคำ และสร้อยข้อมือเงินไปด้วย โดยนายสมศักดิ์หรือคิงคอยคุมเชิงอยู่ใกล้ ๆ ซึ่งในคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายตามเอกสารหมาย จ.15 กลับระบุว่านายสมศักดิ์ เปี่ยมทองคำ มีชื่อเล่นว่า นายเจ๋งหรือเก๋ง ดังนั้นผู้ที่ยืนคุมเชิงอยู่ใกล้ ๆ ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1จึงไม่ใช่จำเลย พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมายังได้ความไม่แจ้งชัดว่าจำเลยร่วมสมคบกับนายโอฬารและพวกคนร้ายวางแผนหรือตระเตรียมการมาปล้นผู้เสียหาย และยังได้ความจากผู้เสียหายว่าจำเลยขับรถจักรยานยนต์เข้ามาในที่เกิดเหตุหลังจากนายโอฬารและพวกเอาทรัพย์ไปจากผู้เสียหายแล้วเป็นเวลาถึง 10 นาทีซึ่งการปล้นทรัพย์สำเร็จและขาดตอนไปแล้ว ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยร่วมกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดอันถึงถือได้ว่าเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมปล้นทรัพย์แต่การที่จำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปจากนายโอฬารและพวกโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดซึ่งเข้าลักษณะปล้นทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานรับของโจร แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ แต่กรณีถือได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องระหว่างการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์กับรับของโจร มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสามศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share