คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1968/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ว่าก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 17 กันยายน2533 เป็นวันสุดท้ายได้เพราะวันครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์คือวันที่ 15 กันยายน 2533 ตรงกับวันเสาร์หยุดราชการ แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว การนับระยะเวลาก็ต้องนับติดต่อกันไปโดยไม่ต้องคำนึงว่าวันสุดท้ายแห่งกำหนดระยะเวลาเดิมจะเป็นวันหยุดราชการหรือไม่ คือเริ่มนับหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2533 เป็นวันเริ่มต้น แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นส่วนนี้ไว้ก็ตาม แต่เมื่อได้ความจากการวินิจฉัยมาแล้วว่าจำเลยที่ 1ที่ 2 ยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดจึงถือเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 มิได้อุทธรณ์นั่นเอง ปัญหาข้อเท็จจริงเช่นว่านั้นย่อมยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินปรับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปีได้ โดยมีเงื่อนไขข้อตกลง เมื่อต่อมาปรากฏว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง และจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาที่ยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยกับจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีได้ เฉพาะเงินกู้งวดสุดท้าย จำเลยที่ 1 ได้ตกลงกับโจทก์ใหม่โดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 จะชำระคืนให้แก่โจทก์ภายใน 6 เดือน นับแต่วันรับเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี อันเป็นข้อตกลงใหม่ต่างหากจากข้อตกลงยอมให้ปรับอัตราดอกเบี้ย โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากเงินกู้งวดสุดท้ายนั้นได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณารวมกัน
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินและจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน จำเลยที่ 2 ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันใช้เงิน500,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันที่ 29 ธันวาคม 2525 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เพื่อไถ่ถอนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 25927 ตำบลบางบำหรุ (บางบำหรุฝั่งเหนือ)อำเภอบางกอกน้อย (ตลิ่งชัน) กรุงเทพมหานคร หากมีดอกเบี้ยค้างชำระครบ 1 ปี ให้นำดอกเบี้ยทบเข้าเป็นต้นเงิน ถ้าจำเลยที่ 1 ที่ 2ไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ใช้หนี้โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า การกู้ยืมเงินตามฟ้องเป็นนิติกรรมอำพรางการที่โจทก์รับออกทุนสนับสนุนโครงการก่อสร้างอาคารชุดของจำเลยที่ 1 และโจทก์ยังจ่ายเงินกู้ไม่ครบตามจำนวนที่ตกลงกันทำให้การก่อสร้างของจำเลยที่ 1 หยุดชะงักและเสียหาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินรวม 14 ครั้งและจำนวนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน จำเลยที่ 2 ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2ร่วมกันใช้เงิน 40,651,158 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากไม่ชำระให้ยึดอาคารชุดตามฟ้อง 76 ห้องชุดของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ ถ้าไม่พอใจจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้จนครบ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งกับแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่า การกู้เงินตามฟ้องเป็นนิติกรรมอำพรางการที่โจทก์ออกทุนสนับสนุนโครงการก่อสร้างอาคารชุดของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ยังจ่ายเงินกู้ล่าช้าและไม่ครบ ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่เคยสัญญาจะออกทุนสนับสนุนโครงการก่อสร้างอาคารชุดของจำเลยที่ 1 และไม่มีการทำนิติกรรมอำพรางการให้กู้ยืมเงินแต่ละครั้งเป็นไปตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินและสัญญาจำนอง ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระเงินให้โจทก์รวมสองสำนวนเป็นเงิน 25,766,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน 500,000 บาท นับแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2528 และของต้นเงิน 25,266,000 บาท นับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2528 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 25927 ตำบลบางบำหรุ (บางบำหรุฝั่งเหนือ)อำเภอบางกอกน้อย (ตลิ่งชัน) กรุงเทพมหานคร และอาคารชุดรวม76 ห้องชุดในที่ดินโฉนดเลขที่ 25914 ตำบลเดียวกัน ที่จำนองไว้ออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์ในแต่ละสำนวน หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เอาชำระหนี้โจทก์จนครบ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก กับให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ในสำนวนหลังค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า สำนวนแรกให้จำเลยที่ 1 ที่ 2ร่วมกันชำระต้นเงินกู้ 661,250 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15ต่อปีนับแต่วันที่ 27 กันยายน 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากมีดอกเบี้ยค้างชำระครบ 1 ปี ให้นำทบเข้าเป็นต้นเงินกู้ สำนวนหลังให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวม 32,664,056.62 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี และ 19 ต่อปีของต้นเงิน 29,435,587.50 บาท และ1,230,000 บาทตามลำดับ นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองสำนวนทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความสำนวนแรกรวม 6,000 บาท สำนวนหลังรวม 250,000 บาทนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ที่ 2 สำนวนหลัง คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้จำเลยที่ 1 ที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ในเบื้องต้นเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ก่อนว่า ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยและพิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ประเด็นข้อนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาคดีทั้งสองสำนวนนี้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฟังเมื่อวันที่ 15สิงหาคม 2533 ครบอุทธรณ์ภายในกำหนดหนึ่งเดือนในวันที่ 15 กันยายน2533 ซึ่งตรงกับวันเสาร์อันเป็นวันหยุดราชการ จำเลยที่ 1 ที่ 2ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 17 กันยายน 2533 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 161 เดิม (มาตรา 193/8)แต่ปรากฏว่า ก่อนครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ที่ 2ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ 10 วัน นับแต่วันครบกำหนด ดังนี้ เห็นว่าแม้ว่าก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 17 กันยายน2533 เป็นวันสุดท้ายได้เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา161 เดิม (มาตรา 193/8) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 22 บัญญัติไว้ให้กระทำได้ก็ตาม แต่ภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว การนับระยะเวลาก็ต้องบังคับตามมาตรา 160 เดิม ดังนั้นกำหนดระยะเวลาเดิมกับระยะเวลาที่ขยายออกไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น จึงต้องนับติดต่อกันไปโดยไม่ต้องคำนึงว่าวันสุดท้ายแห่งกำหนดระยะเวลาเดิมจะเป็นวันหยุดราชการหรือไม่ คดีนี้วันครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์เดิมคือวันที่ 15 กันยายน 2533 เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลา10 วัน นับแต่วันครบกำหนด จึงต้องนับต่อจากวันสุดท้ายที่ครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์เดิม คือเริ่มนับ 1 ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2533จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 25 กันยายน 2533แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยื่นอุทธรณ์วันที่ 26 กันยายน 2533 จึงล่วงพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาให้แล้ว
ประเด็นวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้จากโจทก์ตามสัญญากู้ครบถ้วน เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 อ้างเหตุโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นไว้แล้วนั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นส่วนนี้ไว้ก็ตาม แต่เมื่อได้ความจากการวินิจฉัยมาแล้วว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดจึงถือเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 มิได้อุทธรณ์นั่นเอง ส่วนที่จำเลยที่ 1ที่ 2 อ้างเหตุโต้แย้งในประการต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้แก้อุทธรณ์ในประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์เรื่องดอกเบี้ยซึ่งมีข้อความทำนองโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้ครบถ้วนทุกครั้ง เพราะเช็คที่โจทก์จ่ายเงินตามสัญญากู้ให้แก่จำเลยที่ 1 จะมีอยู่ฉบับหนึ่งซึ่งสั่งจ่ายเงินคิดเป็นร้อยละ 9 ของจำนวนเงินตามสัญญากู้ จำเลยที่ 1 จะต้องสลักหลังคืนให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 แก้อุทธรณ์เช่นนี้ ปัญหาว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินตามสัญญากู้ครบถ้วนแล้วหรือไม่ จึงเป็นปัญหาที่ศาลอุทธรณ์จะต้องพิจารณาต่อไป หาใช่ยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่นั้น เห็นว่าเมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากโจทก์ตามสัญญากู้ครบถ้วนแล้ว หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่เห็นพ้องด้วย จำเลยที่ 1 ที่ 2ก็จะต้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะโต้แย้งเพียงยื่นคำแก้อุทธรณ์ไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 ยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดซึ่งถือเท่ากับว่ามิได้อุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงเช่นว่านั้นย่อมยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้รับเงินกู้จากโจทก์ตามสัญญาครบถ้วนนั้น จึงเป็นการชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ประเด็นวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงกันว่าจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 19 ต่อปีโดยโจทก์ตกลงว่าจะหาแหล่งเงินกู้ระยะยาวให้แก่ลูกค้าของจำเลยที่ 1เป็นการตอบแทน เมื่อปรากฏต่อมาว่าโจทก์ปฏิบัติผิดข้อตกลงดังกล่าวและจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาที่ยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีได้
ประเด็นวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2มีว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ได้เฉพาะจำนวนเงิน 1,500,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 รับจากโจทก์ในครั้งสุดท้ายหรือไม่เรื่องเงิน 1,500,000 บาทนี้ แม้จำเลยที่ 2 จะเบิกความว่าเป็นเงินงวดสุดท้ายซึ่งจำเลยที่ 1 ตกลงขึ้นวงเงินจำนองไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่12 มกราคม 2526 ก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 ก็เบิกความรับข้อเท็จจริงว่าโจทก์เพิ่งจ่ายเงินให้เมื่อปี พ.ศ. 2527 โดยก่อนที่จะจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 นั้นจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือแจ้งให้โจทก์จ่ายเงินจำนวนดังกล่าว แต่โจทก์มีหนังสือแจ้งเหตุขัดข้องว่า ยังไม่สามารถจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ต้องตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยก่อนและช่วงนั้นจำเลยที่ 1 ไม่มีเงินที่จะชำระให้แก่การไฟฟ้านครหลวงเป็นเหตุให้ลูกค้าของจำเลยที่ 1 เดินขบวนไปหานายวานิชกรรมการของโจทก์เพื่อให้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 โจทก์ได้ตั้งเงื่อนไขขึ้นมาใหม่ว่าจำเลยที่ 1 ต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ภายใน 6 เดือน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปีและจำเลยที่ 1 ก็ได้มีหนังสือยืนยันยอมรับเงื่อนไขของโจทก์ดังกล่าว ตามคำเบิกความรับข้อเท็จจริงของจำเลยที่ 2 เช่นนี้ เป็นที่เห็นได้ว่า เฉพาะเงินกู้งวดสุดท้ายจำนวน 1,500,000 บาทนี้โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงกันใหม่โดยชัดแจ้งว่าจำเลยจะชำระคืนให้แก่โจทก์ภายใน 6 เดือน นับแต่วันรับเงินกู้จำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี อันเป็นข้อตกลงกันใหม่ต่างหากจากข้อตกลงยอมให้ปรับดอกเบี้ยโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากเงินจำนวน 1,500,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 รับจากโจทก์ในงวดสุดท้าย
พิพากษาแก้เป็นว่า สำนวนแรกให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระต้นเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยดอกเบี้ยที่ค้างชำระครบหนึ่งปีให้ทบเป็นต้นเงิน สำนวนที่สองให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระต้นเงินจำนวน 23,424,000 บาท จำนวน33,000 บาท และจำนวน 309,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2525, 12 กรกฎาคม2527 และ 28 มีนาคม 2526 ตามลำดับ และให้ร่วมกันชำระต้นเงินจำนวน 1,500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2527 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งนี้โดยดอกเบี้ยที่ค้างชำระครบหนึ่งปีให้ทบเป็นต้นเงินได้ถึงวันฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share