คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1966/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยบุกรุกที่ดินของโจทก์ทั้งสองบางส่วนทางด้านทิศเหนือเป็นผืนติดต่อกันในเวลาเดียวกันเพื่อแย่งสิทธิครอบครองเป็นของตนโจทก์ทั้งสองย่อมมีส่วนได้เสียในมูลเหตุอันเป็นรากฐานแห่งคดีแม้ที่ดินที่ถูกบุกรุกจะมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)คนละฉบับ และเป็นที่ดินต่างแปลงกันก็ตาม ก็เป็นเรื่องหลักฐานทางทะเบียนเท่านั้น ถือได้ว่า โจทก์ทั้งสองมีส่วนได้เสียร่วมกันในมูลความแห่งคดี ชอบที่จะเป็นโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยรวมกันในคดีเดียวกันได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1703 ส่วนโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1715ที่ดินของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีอาณาเขตทางทิศเหนือจดเป็นแนวเดียวกัน ทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกติดต่อซึ่งกันและกัน โจทก์ทั้งสองได้เข้าครอบครองที่ดินทำกินอย่างสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของ จำเลยได้บุกรุกเข้าไปเก็บมะม่วงในที่ดินของโจทก์ที่ 1ซึ่งปลูกไว้ในที่ดินด้านทิศเหนือ เนื้อที่กว้าง 1 เส้น 16 วา2 ศอก ยาว 2 เส้น และจำเลยได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ที่ 2 เพื่อเก็บมะม่วงซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินของโจทก์ที่ 2 ทางด้านทิศเหนือซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินของโจทก์ที่ 1 เนื้อที่กว้าง2 เส้น ยาว 5 เส้น 2 ศอก โดยจำเลยอ้างว่ามะม่วงและที่ดินซึ่งเป็นอาณาเขตปลูกมะม่วงเป็นของจำเลย จำเลยมีสิทธิในที่ดินแต่ผู้เดียว ขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิในที่ดินพิพาทขับไล่จำเลย ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินมีโฉนดที่โจทก์ทั้งสองจะอ้างสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1382 ได้ และกรณีไม่มีเหตุที่โจทก์ทั้งสองจะฟ้องขอให้ศาลสั่งแสดงสิทธิครอบครองได้ตามกฎหมาย ส่วนที่ขอให้ขับไล่จำเลยและห้ามจำเลยกับบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องอีกนั้น ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายว่าประมาณเดือนมกราคม 2533 จำเลยบุกรุกเข้าไปเก็บมะม่วงในที่ดินพิพาท ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้บุกรุกเข้าไปอีก และขณะนี้ยังอยู่ในที่ดินพิพาทหรือไม่ กรณีไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิและไม่มีเหตุที่จะใช้สิทธิทางศาลได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาท ถือได้ว่า มีข้อโต้แย้งสิทธิเกิดขึ้น โจทก์ทั้งสองย่อมมีอำนาจฟ้อง แต่โจทก์ทั้งสองต่างเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทคนละแปลง ถือไม่ได้ว่ามีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีที่จะร่วมเป็นโจทก์ฟ้องรวมกันมาได้ จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบ พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รับคำฟ้องโจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองจะฟ้องจำเลยรวมมาในคดีเดียวกันได้หรือไม่พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59บัญญัติว่า บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป อาจเป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้ โดยเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม ถ้าปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี…ฯลฯ ซึ่งหมายความว่าต้องมีส่วนได้เสียร่วมกันในมูลเหตุอันเป็นรากฐานแห่งคดีนั้น โดยถือหนี้อันเป็นมูลของคดีนั้นเป็นสาระสำคัญ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยบุกรุกที่ดินของโจทก์ทั้งสองบางส่วนทางด้านทิศเหนือเป็นผืนติดต่อกันในเวลาเดียวกันเพื่อแย่งสิทธิครอบครองเป็นของตนโจทก์ทั้งสองย่อมมีส่วนได้เสียในมูลเหตุอันเป็นรากฐานแห่งคดีนั้นแล้ว แม้ที่ดินที่ถูกบุกรุกจะมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) คนละฉบับ และเป็นที่ดินต่างแปลงกันก็ตาม ก็เป็นเรื่องหลักฐานทางทะเบียนเท่านั้น กรณีดังกล่าวถือได้ว่า โจทก์ทั้งสองมีส่วนได้เสียร่วมกันในมูลความแห่งคดี จึงชอบที่จะเป็นโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยรวมกันมาในคดีเดียวกันได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้รับคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองไว้พิจารณาต่อไป.

Share