คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1962/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ส่วนหนึ่งของที่พิพาทมาจาก ช. ผู้ถือกรรมสิทธิ์ รวมกับจำเลยแล้วโจทก์ครอบครองที่พิพาทส่วนทางทิศเหนือตามที่ ช. เจ้าของเดิมครอบครองมา ส่วนจำเลยครอบครองทางทิศใต้โดยถือเอาคันสวนเป็นแนวเขต ต่อมาโจทก์จำเลยได้ ทำบันทึกตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมมีความว่า โจทก์จำเลยตกลงแบ่งส่วนที่ดินของตนที่มีอยู่ในที่ดินแปลงนี้ออกจากกันทางทิศใต้แบ่งเป็นของจำเลยให้ได้เนื้อที่ครึ่งหนึ่ง ส่วนแปลงคงเหลือเป็นของโจทก์ บันทึก ดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความใช้บังคับกันได้
บันทึกดังกล่าวข้อ 1 ระบุว่าให้แบ่งตามส่วนที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ กับข้อ 2 ระบุว่าโจทก์จำเลยจะนำช่างแผนที่ไปทำการรังวัดปักหลักเขตให้เป็นการแน่นอนต่อไป เมื่ออ่าน 2 ข้อประกอบกันแล้วเห็นได้ว่าคู่กรณีเจตนาให้แบ่งกันตามส่วนที่ทั้งสองฝ่ายมีอยู่แล้ว ต้องถือตามเจตนาที่แท้จริงของคู่กรณี คือแบ่งครึ่งกันตามที่ทั้งสองฝ่ายนำชี้ ที่ซึ่งตนครอบครองอยู่แล้ว หาใช่แบ่งครึ่งกันตามเนื้อที่ที่คำนวณได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 4909 ตั้งอยู่ที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี มาจากนางชลอผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวรวมกับจำเลย แล้วโจทก์จำเลยได้ถือกรรมสิทธิ์รวมกันต่างครอบครองเป็นส่วนสัด โจทก์ครอบครองส่วนด้านเหนือที่นางชลอครอบครองอยู่ ส่วนจำเลยครอบครองด้านใต้ ต่อมา พ.ศ. 2520 โจทก์จำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงแบ่งที่ดินดังกล่าวกันให้จำเลยได้ทางทิศใต้ครึ่งหนึ่ง ส่วนโจทก์ได้แปลงที่คงเหลือ แต่เมื่อรังวัดแล้วได้เนื้อที่ไม่เต็มตามโฉนดและจำเลยนำชี้ปักหลักเขตเอามากกว่าครึ่งหนึ่ง ขอให้บังคับให้จำเลยแบ่งที่พิพาทให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งตามข้อตกลง

จำเลยให้การว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงแบ่งครึ่งกันตามที่ครอบครองมาโดยถือเอาคันดินกั้นกลางเป็นเขต ไม่จำต้องให้ได้เนื้อที่ครึ่งหนึ่งดังโจทก์ฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์จำเลยได้แยกกันครอบครองเป็นส่วนสัดมาแต่ต้นจะบังคับให้แบ่งครึ่งตามเนื้อที่ไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้แบ่งครึ่งหนึ่งตามเนื้อที่

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บันทึกดังกล่าวมีข้อความว่าโจทก์จำเลยตกลงแบ่งส่วนที่ดินพิพาทคือทางทิศใต้แบ่งเป็นของจำเลยครึ่งหนึ่ง ส่วนแปลงคงเหลือเป็นของโจทก์โดยโจทก์จำเลยจะนำช่างแผนที่ไปทำการรังวัดให้เป็นการแน่นอนต่อไป แล้วขอให้เจ้าพนักงานจดทะเบียนแบ่งแยกตามนั้น และมีแผนที่จำลองหลังโฉนด แสดงการแบ่งมีเส้นขีดแบ่งกลาง บันทึกนี้มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 851, 1364

ปัญหาว่าโจทก์จำเลยมีเจตนาแบ่งกันอย่างไรนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้บันทึกดังกล่าวจะมีข้อความว่า “ทางทิศใต้แบ่งเป็นของนางหาญชลธี โดยให้ได้เนื้อที่กึ่งหนึ่ง” ก็ตาม แต่ข้อตกลงข้อ 1 ระบุว่าให้แบ่งตามส่วนที่แต่ละฝ่ายมีอยู่แล้ว ในข้อ 2 ระบุว่า โจทก์จำเลยจะได้นำช่างแผนที่ไปทำการรังวัดปักหลักเขตให้เป็นการแน่นอนต่อไป เมื่ออ่านความใน 2 ข้อนี้ประกอบกันแล้ว ย่อมเห็นได้ว่า การแบ่งนี้แบ่งตามส่วนที่ต่างฝ่ายต่างมีอยู่แล้ว โดยทั้งสองฝ่ายจะได้ไปชี้เขตตามที่ตนมีอยู่นั้นให้ช่างแผนที่ทำการรังวัดปักหลักเขตให้เป็นการแน่นอนต่อไป เพราะฉะนั้นความแน่นอนของเขตที่จะแบ่งกันจึงอยู่ที่การนำชี้ของโจทก์จำเลย โดยถือคันสวนเป็นแนวเขตตามแผนที่ จ.4 หาใช่อยู่ที่การคำนวณเนื้อที่ไม่ ตอนรังวัดก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์คัดค้าน เมื่อโจทก์จำเลยต่างได้ครอบครองมาตามสัดส่วนโดยถือคันสวนเป็นเขตเช่นนี้ ถือว่าโจทก์จำเลยมีเจตนาแบ่งครึ่งกันตามที่ต่างฝ่ายครอบครองมา ต้องถือตามเจตนาที่แท้จริงของคู่กรณี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 132 ที่ศาลอุทธรณ์ให้แบ่งครึ่งตามเนื้อที่โดยเฉียบขาดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

พิพากษาแก้ให้แบ่งตามที่โจทก์จำเลยครอบครองกันมาตามแผนที่แบ่งกรรมสิทธิ์รวม จ.4

Share