แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและเป็นการเลิกจ้างโจทก์ที่ไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น เมื่อศาลแรงงานกลางเห็นว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (5) แล้ววินิจฉัยต่อมาว่าจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าโจทก์กระทำความผิดดังกล่าวซึ่งนายจ้างมีเหตุอันสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างได้โดยไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จึงเป็นการพิจารณาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ด้วยแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2537 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานฝ่ายผลิตทำหน้าที่ช่างพิมพ์ ได้รับค่าจ้างวันละ 610 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือน วันที่ 10 พฤศจิกายน 2546 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ ด้วยเหตุโจทก์ทำงานกับจำเลยมานานและมีอัตราค่าจ้างสูง จำเลยให้โจทก์เขียนใบสมัครใหม่ แต่โจทก์ไม่ยินยอม จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์ไม่มีความผิด ไม่ได้บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าตามกฎหมาย และเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นเงิน 18,300 บาท ค่าชดเชยเป็นเงิน 146,400 บาท ค่าเสียหาย 400,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 564,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2537 อัตราค่าจ้างวันละ 610 บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ขาดงานติดต่อกันตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2546 จนถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2546 รวมระยะเวลา 17 วัน ซึ่งมีวันทำงาน 14 วัน วันหยุด 3 วัน โดยโจทก์ไม่ได้ลาหยุดงานถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย จำเลยจึงมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2546 นับแต่จำเลยมีหนังสือเลิกจ้าง โจทก์ไม่ได้มาทำงานอีกเลย จำเลยไม่ได้กลั่นแกล้งโจทก์ การเลิกจ้างดังกล่าวจำเลยกระทำถูกต้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2537 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งช่างพิมพ์ ได้รับค่าจ้างวันละ 610 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2546 (ที่ถูกเป็นวันที่ 26 ตุลาคม 2546) บิดาโจทก์ถึงแก่ความตาย โจทก์จึงได้เดินทางไปจัดการงานศพบิดาที่จังหวัดพัทลุง วันที่ 10 พฤศจิกายน 2546 โจทก์กลับมาทำงานแต่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.ล.2 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยโดยยกเพียงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (5) โดยมิได้ยกพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ประกอบวินิจฉัยเรื่องการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและเป็นการเลิกจ้างโจทก์ที่ไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น เมื่อศาลแรงงานกลางเห็นว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (5) แล้ววินิจฉัยต่อมาว่าจำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่า โจทก์กระทำความผิดดังกล่าวซึ่งนายจ้างมีเหตุอันสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างได้โดยไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการพิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 แล้ว อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.