คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1959/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลในการพิจารณาคดีอาญา โจทก์ถูกฟ้องหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 ว่าจำเลยได้รับคำบอกเล่าจากผู้อื่นถึงเรื่องที่โจทก์ยอมรับกันผู้นั้นว่าเป็นผู้พรากผู้เยาว์ไปจริง คำเบิกความดังกล่าวชั้นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่ประกอบการรับฟังว่าโจทก์ได้พรากผู้เยาว์ไปจริงหรือไม่ ถือได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องให้เห็นว่าข้อความที่จำเลยเบิกความเท็จเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไรแล้ว ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๒๗๔/๒๕๑๖ ของศาลจังหวัดมีนบุรี ซึ่งเป็นข้อสำคัญในคดี เพราะหากศาลเชื่อความเท็จนั้น โจทก์จะถูกลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๘ ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗ วรรค ๒, ๑๘๑(๑)
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่า ฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘(๕) ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ข้อกล่าวหาตามฟ้องมีอัตราโทษจำคุกเกินกว่า ๓ ปี เกินอำนาจผู้พิพากษานายเดียวพิจารณาพิพากษา ที่ศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษานายเดียวพิจารณาคำฟ้องและมีคำสั่งให้ยกฟ้องโจทก์เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี ขัดต่อพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒๒(๕) เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นให้ดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนมูลฟ้อง แต่เมื่อถึงวันนัดเห็นว่า คดีไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้องต่อไปให้งด แล้ววินิจฉัยว่า แม้จะฟังข้อเท็จจริงได้ตามที่โจทก์ฟ้อง ก็ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้เบิกความอันเป็นเท็จ เป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร เพราะโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าข้อความอันเป็นเท็จดังที่จำเลยเบิกความเป็นประเด็นอันเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร จึงลงโทษจำเลยไม่ได้ พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีอาญาเลขดำที่ ๒๗๔/๒๕๑๖ หมายเลขแดงที่ ๒๕๑/๒๕๑๗ ของศาลจังหวัดมีนบุรีนั้น โจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลยหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๘ และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๒ ข้อสำคัญในคดีดังกล่าวก็คือ จำเลย(โจทก์คดีนี้) ได้พรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารจริงหรือไม่ ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยบังอาจเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาของศาลว่า “นางสาวเพลินบุตร โจทก์ (นางสุไลคอ) หายไปเมื่อไร ข้าฯไม่ทราบ แต่หายไปแล้ว ๒-๓ วัน มีนายก๊บน้องชายจำเลยแท้ ๆ มาที่บ้านโจทก์ ข้าฯไปคุยกับโจทก์อยู่ก่อนเรื่องนาวสาววเพลินหาย……………………….. นายก๊บพูดว่า ลูกของจำเลยที่ ๑ (นายสมศักดิ์) เรียกนายก๊บมาที่บ้านของจำเลยที่ ๑ นายก๊บจึงถามจำเลยที่ ๑ ว่า เอ็งรู้ไหมเด็กหายไปไหน จำเลยที่ ๑ บอกนายก๊บว่า กูเอาไปเอง จะทำไป…………………” นั้น ย่อมแสดงว่าจำเลยได้รู้เห็นว่าโจทก์ยอมรับกับนายก๊บว่าเป็นผู้พรากนางสาวเพลินผู้เยาว์ไปจริง คำเบิกความของจำเลยดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่ประกอบการรับฟังว่าโจทก์ได้พรากผู้เยาว์ไปจริงหรือไม่ จึงเป็นข้อสำคัญในคดี ถือได้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าข้อความที่จำเลยเบิกความเท็จเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไรแล้ว ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ชอบด้วยประมวลกฎหมายิวธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘(๕)
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
(กฤษณ์ โสภิตกุล ยงยุทธ เลอลภ เดช วุฒิสิงห์ชัย)

Share