คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1956/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พนักงานสอบสวนสอบคำให้การจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2542 ก่อน ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 ที่แก้ไขเพิ่มเติม โดย ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 มีผลใช้บังคับ จึงเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนไม่ต้องสอบถามจำเลยทั้งสองในฐานะผู้ต้องหาว่าต้องการทนายความหรือไม่ก่อนเริ่มถามคำให้การจำเลยทั้งสองตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ บันทึกคำให้การของจำเลยทั้งสองจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 339, 340 ตรี คืนรถจักรยานยนต์และสร้อยคอทองคำของกลางให้แก่เจ้าของ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนสร้อยคอทองคำหนึ่งในสามส่วนที่ชิงได้ไปหรือชดใช้ราคาเป็นเงิน 5,000 บาท แก่ผู้เสียหาย บวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1337/2540 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 616/2542 ของศาลชั้นต้น และนับโทษของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 และที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1060/2542 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ และจำเลยทั้งสองรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ให้คืนรถจักรยานยนต์และสร้อยคอทองคำของกลางแก่เจ้าของ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี, 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 มีอายุ 19 ปี มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีแล้ว จึงไม่ลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ให้ จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 15 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพขณะถูกแจ้งข้อกล่าวหาและในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 10 ปี บวกโทษจำคุก 9 เดือน ของจำเลยที่ 1 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1337/2540 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปี 9 เดือน นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1396/2543 ของศาลชั้นต้น นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 616/2542 และต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1396/2543 ของศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนสร้อยคอทองคำที่ชิงได้ไปหรือชดใช้ราคาแทนเป็นเงิน 5,000 บาท แก่ผู้เสียหาย คืนสร้อยคอทองคำของกลางให้แก่ผู้เสียหาย และคืนรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่เจ้าของ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติในชั้นฎีกาว่า เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2542 เวลา 11.30 นาฬิกา มีคนร้าย 2 คน ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะร่วมกันชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำของนางภัทรียา ผู้เสียหาย โดยใช้อาวุธปืนจี้ขู่บังคับแล้วกระชากเอาสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไปได้ส่วนหนึ่งเนื่องจากผู้เสียหายใช้มือกำส่วนที่เหลือไว้ได้ วันรุ่งขึ้นเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองได้ในคดีอื่น และร้อยตำรวจโทเมธี พนักงานสอบสวนซึ่งรับแจ้งความไว้จากผู้เสียหายได้สอบสวนจำเลยทั้งสอง ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองรับว่าเป็นคนร้ายที่ชิงทรัพย์ผู้เสียหายไป จึงแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามบันทึกคำให้การ ร้อยตำรวจโทเมธีให้ผู้เสียหายไปนำชี้ที่เกิดเหตุ แล้วจัดทำบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุและแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุไว้ สอบคำให้การของผู้เสียหายและจัดให้ผู้เสียหายชี้ตัวจำเลยทั้งสองไว้ตามบันทึกคำให้การ นำจำเลยทั้งสองไปนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพตามบันทึกและภาพถ่ายประกอบ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า มาตรา 134/1 ดังกล่าวซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2547 มีผลใช้บังคับในวันที่ 24 ธันวาคม 2547 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 134/1 วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีตรงกับที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 ร้อยตำรวจโทเมธีพนักงานสอบสวนสอบคำให้การจำเลยทั้งสองตามบันทึกคำให้การ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2542 ก่อนที่กฎหมายมาตรานี้จะใช้บังคับ จึงเป็นกรณีที่ไม่ต้องดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวตามที่จำเลยทั้งสองฎีกา บันทึกคำให้การของจำเลยทั้งสอง รับฟังเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นอย่างเดียวกันเป็นประการที่สองว่า ไม่มีการจัดให้ผู้เสียหายชี้ตัวจำเลยทั้งสอง เห็นว่า การจัดให้มีการชี้ตัวผู้ต้องหาโดยผู้เสียหายหรือพยานนี้ไม่มีกฎหมายบังคับว่าเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนต้องจัดทำ แม้ว่าการจัดให้มีการชี้ตัวผู้ต้องหาอาจทำให้คดีนี้มีน้ำหนักยิ่งขึ้น แต่ถ้าพนักงานสอบสวนเห็นว่าพยานหลักฐานอื่นในคดีที่มีอยู่เพียงพอแก่การสอบสวนแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องจัดให้การชี้ตัว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองแม้ถึงหากฟังได้ดั่งที่ฎีกาก็ไม่ทำให้รูปคดีเปลี่ยนแปลงไป เพราะไม่ทำให้การสอบสวนเสียไปแต่อย่างใด
จำเลยทั้งสองฎีกาเหมือนกันเป็นประการสุดท้ายว่า ผู้เสียหายมิได้มาเบิกความในชั้นพิจารณา พยานหลักฐานของโจทก์คงมีแต่พยานบอกเล่าไม่อาจฟังลงโทษจำเลยทั้งสองได้ เห็นว่า พยานบอกเล่านั้น โดยปกติเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักน้อยเพราะมิได้เป็นผู้ที่ได้เห็นหรือได้ยินเรื่องที่ตนจะให้การเป็นพยานด้วยตนเองโดยตรง แต่พยานบอกเล่าก็เป็นพยานหลักฐานชนิดหนึ่ง ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟัง เพียงแต่ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง โดยจะต้องพิจารณาถึงความสมเหตุสมผลในเนื้อหาของเรื่องที่ได้รับบอกเล่ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพิจารณาถึงความเชื่อมโยงสอดคล้องกับพยานหลักฐานอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นพยานบอกเล่าด้วยกันก็ได้ และต้องไม่ปรากฏข้อพิรุธสงสัยว่าได้มีการแต่งเติมเสริมต่อจนทำให้ไม่น่าเชื่อถือ หรือได้พยานหลักฐานนั้นมาโดยมิชอบประการอื่น ซึ่งในบางกรณีเมื่อได้ใช้หลักการพิจารณาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ศาลอาจเชื่อถือพยานบอกเล่ายิ่งกว่าประจักษ์พยานก็สามารถทำได้ คือฟังเชื่อคำให้การของพยานในชั้นสอบสวนยิ่งกว่าคำเบิกความของพยานคนเดียวกันนั้นในชั้นพิจารณา เนื่องจากจับพิรุธได้ว่าพยานเปลี่ยนใจไม่เบิกความตามความเป็นจริง ตรงข้ามกับที่ให้การไว้ในชั้นสอบสวน แต่คำเบิกความขัดต่อเหตุผล ซึ่งอาจเกิดจากการเปลี่ยนใจที่ต้องการช่วยเหลือหรือหวาดกลัวจำเลย คดีนี้แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานมานำสืบเพราะผู้เสียหายซึ่งเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศ ไม่สามารถตามตัวมาได้ แต่พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำผู้เสียหายทันทีในวันรุ่งขึ้นหลังจากเกิดเหตุเมื่อผู้เสียหายมาแจ้งความ ผู้เสียหายไม่เคยรู้จักจำเลยทั้งสองมาก่อน คำให้การเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดจนคำยืนยันที่จำหน้าคนร้ายได้จึงเชื่อถือได้ว่าไม่มีเจตนาที่จะให้ร้ายจำเลยทั้งสอง เชื่อได้ว่าได้ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนตามความเป็นจริง ในวันเดียวกันนั้น เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองได้ในคดีอื่นจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเองว่าเป็นคนร้ายที่ร่วมกันชิงทรัพย์ผู้เสียหายในวันเกิดเหตุ โดยมีรายละเอียดของคำให้การ ซึ่งสอดคล้องต้องกันกับคำให้การของผู้เสียหาย นอกจากนี้ อีก 3 วันต่อมาในวันที่ 10 เมษายน 2542 จำเลยทั้งสองยังได้เป็นผู้นำชี้ที่เกิดเหตุและมีการถ่ายรูปประกอบคำรับสารภาพอย่างละเอียดลออ ซึ่งกรณีนี้แม้จำเลยที่ 1 จะกล่าวอ้างในฎีกา ภาพที่ 2 มีลักษณะเป็นการจัดฉากโดยพนักงานสอบสวน แต่ดูจากภาพถ่ายดังกล่าวมีประชาชนมาดูเป็นจำนวนมาก พนักงานสอบสวนได้กระทำโดยเปิดเผย การพูดคุยหรือสอบถามชี้มือในระหว่างนั้นเป็นเรื่องปกติ ไม่ปรากฏข้อน่าสงสัยอย่างที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง และจำเลยที่ 1 ก็ลงลายมือชื่อรับรองการนำชี้ที่เกิดเหตุและการถ่ายรูปไว้เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 ที่มิได้โต้แย้งในเรื่องนี้แต่ประการใด ย่อมฟังได้ว่าเป็นการนำชี้สถานที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพด้วยความสมัครใจของจำเลยทั้งสอง ในชั้นพิจารณาจำเลยทั้งสองก็มิได้นำสืบพยานให้เห็นว่าคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองไม่ชอบอย่างไร คำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย ไม่ถูกต้องอย่างไร ดังนั้น แม้โจทก์จะมีเพียงพยานบอกเล่าคือคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสอง กับคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย แต่พยานทั้งสองนี้สอดคล้องต้องกัน เมื่อพิจารณาประกอบการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพโดยจำเลยทั้งสอง เป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะลงโทษจำเลยทั้งสองได้โดยปราศจากสงสัย คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีรายละเอียดที่ชอบด้วยเหตุผล ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share