คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1956/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเลิกห้างหุ้นส่วนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1056 เป็นการเลิกในระหว่างที่กิจการของห้างหุ้นส่วนยังดำเนินไปได้ตามปกติ กฎหมายจึงบัญญัติให้บอกกล่าวล่วงหน้าหกเดือน และให้เลิกได้ต่อเมื่อสิ้นรอบปีในทางบัญชีเงินของห้างหุ้นส่วนแต่ถ้ามีเหตุการณ์ที่เสียหายเกิดขึ้นระหว่างดำเนินการของห้างหุ้นส่วนเมื่อหุ้นส่วนคนใดร้องขอศาลอาจสั่งให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเลิกกันได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1057 ซึ่งไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1056
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2511 ตลาดป่าโมกถูกไฟไหม้บรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่ใช้แพท่าของโจทก์จำเลยเป็นที่รับส่งสินค้าได้งดการรับส่งสินค้า และได้แยกย้ายไปหาแพท่าขนส่งสินค้าใหม่ผลประโยชน์ที่โจทก์กับจำเลยได้รับลดน้อยลงโจทก์มีความประสงค์จะเลิกการเป็นหุ้นส่วนกับจำเลย เพราะไม่มีผู้ที่จะดูแลรักษาแพท่านี้อันเป็นเหตุให้เกิดการเสียหายได้แจ้งขอเลิกการเป็นหุ้นส่วนกับจำเลยแล้วถือได้ว่ามีเหตุทำให้ห้างหุ้นส่วนเหลือวิสัยที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1057 (3)โจทก์มีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งเลิกห้างหุ้นส่วนนั้นได้ โดยไม่จำต้องบอกกล่าวความจำนงล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกเดือนตามมาตรา 1056 แม้โจทก์จะมิได้มีคำขอท้ายฟ้องให้ศาลสั่งให้เลิกห้างหุ้นส่วนเพียงแต่ขอให้บังคับจำเลยแบ่งทุน แต่ก็เห็นความประสงค์ของโจทก์ได้ว่าต้องการให้สั่งเลิกห้างหุ้นส่วน จึงได้ขอแบ่งทุน เมื่อตามคำฟ้องคำให้การ และทางพิจารณา ไม่ปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนมีลูกหนี้เจ้าหนี้หรือผู้เป็นหุ้นส่วนได้ออกเงินทดรองและค่าใช้จ่ายของตนไปเพื่อจัดการค้าของห้าง โจทก์จำเลยได้ผลัดกันเก็บรายได้จากแพท่าคนละเดือนมาเป็นเวลา 10 ปีเศษแล้วสินทรัพย์ของห้างมีแต่แพรายพิพาทเท่านั้นจะรื้อฟื้นให้พิจารณาเรื่องชำระหนี้บัญชีของห้างหุ้นส่วน ก็คงไม่ได้ข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้นแต่ประการใด ศาลพิพากษาให้จำเลยแบ่งแพรายพิพาทให้โจทก์ครึ่งหนึ่งไปทีเดียวได้ โดยให้ประมูลราคาระหว่างโจทก์จำเลย หากไม่ตกลงกัน ให้เอาแพรายพิพาทออกขายทอดตลาดเอาเงินได้สุทธิแบ่งให้โจทก์ (อ้างฎีกาที่ 1195/2497)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยได้ร่วมกันลงทุนเข้าหุ้นส่วนกันสร้างแพโป๊ะขึ้น ๑ แพ เพื่อทำเป็นท่าจอดเรือยนต์ ในการลงทุนนี้โจทก์จำเลยมิได้จดทะเบียนหุ้นส่วนต่อเจ้าพนักงานแต่อย่างใด โดยออกเงินลงทุนสร้างแพคนละครึ่ง รวมเป็นเงินประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาท การลงทุนดังกล่าวมิได้ทำเป็นหนังสือ เพียงแต่ตกลงกันด้วยวาจาว่า เมื่อสร้างแพเสร็จแล้วโจทก์จำเลยผลัดเปลี่ยนกันเก็บผลประโยชน์คนละหนึ่งเดือนและได้ปฏิบัติตามข้อสัญญาตลอดมาต่อมาไฟไหม้ตลาดป่าโมก บรรดาพ่อค้าแม่ค้าได้แยกย้ายไปใช้แพท่าขนส่งสินค้าใหม่ ผลประโยชน์ที่ได้รับน้อยลงโจทก์จึงแจ้งขอเลิกการเป็นหุ้นส่วน ให้จำเลยประมูลตีราคาแพท่านี้แบ่งกันคนละครึ่ง หรือจะขายแพท่าแล้วแบ่งเงินกัน หรือจะรื้อแพท่านี้แบ่งกันจำเลยไม่ยอม จึงขอให้ศาลพิพากษาให้แบ่งเงินทุนในการสร้างแพท่าเรือระหว่างโจทก์กับจำเลย ให้โจทก์ได้ครึ่งหนึ่งเป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท ถ้าไม่ตกลงกัน ให้เอาแพท่าเรือขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันคนละครึ่ง
จำเลยให้การว่า การที่โจทก์ขอเลิกหุ้นส่วนนี้ยังไม่มีเหตุสมควรเลิก เพราะกิจการของหุ้นส่วนดำเนินไปด้วยดี โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยแบ่งแพพิพาทฝ่ายละครึ่งโดยประมูลราคาระหว่างกันเอง ถ้าไม่ตกลงกัน ก็ให้ขายทอดตลาดแบ่งเงินกันตามส่วน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์จำเลยเข้าหุ้นส่วนทำแพโป๊ะโดยไม่มีกำหนดเวลาโจทก์จะบอกเลิกการเป็นหุ้นส่วนได้เมื่อสิ้นรอบปีในทางบัญชีเงินของห้างนี้ และจะต้องบอกกล่าวความจำนงจะเลิกการเป็นหุ้นส่วนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๖ เดือน โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ได้ร่วมลงทุนเป็นหุ้นส่วนกับจำเลย มีปัญหาต่อไปเพียงว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งเงินลงทุนในการสร้างแพแก่โจทก์ครึ่งหนึ่งได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าการเลิกห้างหุ้นส่วนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๕๖ เป็นการเลิกในระหว่างที่กิจการของห้างหุ้นส่วนยังดำเนินไปตามปกติ กฎหมายจึงบัญญัติให้บอกกล่าวล่วงหน้า๖ เดือน และให้เลิกได้ต่อเมื่อสิ้นรอบปีในทางบัญชีเงินของห้างหุ้นส่วนนั้นแต่ถ้ามีเหตุการณ์ที่เสียหายเกิดขึ้นระหว่างดำเนินการของห้างหุ้นส่วนเมื่อหุ้นส่วนคนใดร้องขอศาลอาจสั่งให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเลิกกันได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๕๖ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อตลาดป่าโมกถูกไฟไหม้บรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่ใช้แพท่าของโจทก์จำเลยเป็นที่รับส่งสินค้าได้งดการรับส่งสินค้าใหม่ผลประโยชน์ที่โจทก์กับจำเลยได้รับลดน้อยลง โจทก์มีความประสงค์จะเลิกการเป็นหุ้นส่วนกับจำเลย เพราะไม่มีผู้ที่จะดูแลรักษาแพท่านี้ อันเป็นเหตุให้เกิดการเสียหายได้แจ้งการขอเลิกการเป็นหุ้นส่วนกับจำเลยแล้ว ถือได้ว่ามีเหตุทำให้ห้างหุ้นส่วนเหลือวิสัยที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๕๗ (๓) โจทก์มีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งเลิกห้างหุ้นส่วนนั้นได้ โดยไม่จำต้องบอกกล่าวความจำนงจะเลิกล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๖ เดือน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๕๖ แม้โจทก์จะไม่ได้มีคำขอท้ายฟ้องว่าให้ศาลสั่งให้เลิกห้างหุ้นส่วนเพียงแต่ขอให้บังคับจำเลยแบ่งทุนแต่ก็เห็นความประสงค์ของโจทก์ได้ว่าต้องการให้สั่งเลิกห้างหุ้นส่วน จึงได้ขอแบ่งทุน การที่โจทก์ขอคืนทุนโดยมิได้ขอให้ชำระบัญชีเสียก่อนนั้น เห็นว่าตามคำฟ้อง คำให้การและทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนนี้มีลูกหนี้เจ้าหนี้หรือผู้เป็นหุ้นส่วนได้ออกเงินทดรองและค่าใช้จ่ายของตนไปเพื่อจัดการค้าของห้าง โจทก์จำเลยได้ผลัดกันเก็บรายได้จากแพท่าคนละเดือนมาเป็นเวลา ๑๐ ปีเศษแล้ว สินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนมีแต่แพรายพิพาทเท่านั้น จะรื้อฟื้นให้พิจารณาเรื่องชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนก็คงจะไม่ได้ข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้นแต่ประการใดเห็นควรพิพากษาไปทีเดียว ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๙๕/๒๔๙๗ ระหว่าง นายเชื้อ อยู่สำราญ โจทก์ นายมี แก้วสิทธิ จำเลย
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยแบ่งแพรายพิพาทให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง โดยให้ประมูลราคาระหว่างโจทก์จำเลย หากไม่ตกลงกันให้เอาแพรายพิพาทออกขายทอดตลาดเอาเงินได้สุทธิแบ่งให้โจทก์

Share