คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1954/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าจำเลยให้สัมภาษณ์โดยมีข้อความซึ่งอ่านแล้วรู้ได้ทันทีว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์ ถือได้แล้วว่าโจทก์รู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันที่โจทก์ได้อ่านข่าวตามหนังสือพิมพ์นั้น ไม่จำต้องรอแสวงหาหลักฐานเพื่อฟ้องคดีหรือสืบสวนจนเป็นที่แน่ใจโจทก์ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดก่อนจึงจะร้องทุกข์ดำเนินคดี เมื่อโจทก์ไม่ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนคดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96
เมื่อศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้วเห็นว่าคดีขาดอายุความก็พิพากษายกฟ้องได้โดยไม่จำต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องก่อน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด แต่ไม่เกินวันที่ 10 กันยายน 2526 จำเลยได้ให้ข่าวหรือให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์รวมประชาชาติ (หรือรวมประชาชาติธุรกิจ) และเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2526 หนังสือพิมพ์รวมประชาชาติ (หรือรวมประชาชาติธุรกิจ) ได้ออกข่าวว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการแผนกคอมพิวเตอร์- โทรคมนาคม – อีเล็กทรอนิกส์ บริษัทบอน์นาเฟดดี้ จำกัด เปิดเผยว่าบริษัทบอน์นาเฟดดี้ จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายไมโครคอมพิวเตอร์ ยี่ห้ออีเกิ้ล แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ไม่ใช่บริษัทโจทก์โจทก์ซื้อเครื่องอีเกิ้ล จากฮ่องกงแล้วมาโฆษณาขาย อันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328, 332 และขอให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ด้วย
ศาลชั้นต้นตรวจฟ้องแล้วเห็นว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า หนังสือพิมพ์รวมประชาชาติ (หรือรวมประชาชาติธุรกิจ) ฉบับวันเสาร์ที่ 10 กันยายน 2526 ลงข่าวว่า ‘ฯลฯ อย่างไรก็ตาม นายคัชพล เรียบร้อยเจริญ (จำเลย) ผู้จัดการแผนกคอมพิวเตอร์ – โทรคมนาคม – อีเล็กทรอนิกส์ บริษัทบอน์นาเฟดดี้เปิดเผย ‘ประชาชาติธุรกิจ’ ว่า ตัวแทนจำหน่าย ‘อีเกิ้ล’ แต่เพียงผู้เดียวในเมืองไทย คือบริษัทบอน์นาเฟดดี้ ไม่ใช่บริษัทเน็ทเวอร์ค (โจทก์) อย่างเด็ดขาด ฯลฯ’ และมีข้อความตอนอื่นๆ อีกว่า จำเลยเป็นผู้ให้ข่าว ซึ่งเมื่อโจทก์อ่านแล้ว ก็รู้ได้ทันทีว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์ ส่วนที่ว่าจำเลยเป็นใครอยู่ที่ใด รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร จำเลยกล่าวจริงหรือไม่ อันเป็นการแสวงหาหลักฐานเพื่อฟ้องคดีเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่อยู่ในปัญหาที่ว่ารู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้วหรือไม่ เพราะแม้ว่าโจทก์จะได้ค้นคว้าสืบสวนจนเป็นที่แน่ใจโจทก์ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ในการพิจารณาคดี จำเลยก็อาจมีข้อโต้แย้งและปฏิเสธได้ และศาลอาจพิพากษาแตกต่างไปจากความเห็นของโจทก์ก็ได้ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองมีความเห็นว่า ตามข่าวหนังสือพิมพ์ โจทก์รู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว แต่ไม่ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้นจึงชอบแล้ว
ฎีกาข้อต่อไปของโจทก์ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องก่อน เป็นการชอบด้วยกระบวนพิจารณาหรือไม่เห็นว่า ในชั้นตรวจคำฟ้องนั้น ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมายศาลจะสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือยกฟ้อง หรือไม่ประทับฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 และเมื่อตรวจฟ้องว่าถูกต้องตามกฎหมายแล้ว จึงจะทำการไต่สวนมูลฟ้องตามมาตรา 162 (1) ต่อไป ซึ่งกฎหมายดังกล่าวบังคับให้ศาลต้องปฏิบัติตามนั้น ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นตรวจฟ้องโจทก์แล้วเห็นว่าคดีขาดอายุความ ก็พิพากษายกฟ้องได้ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษายืน.

Share