คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1947-1950/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การโอนสิทธิเรียกร้องของผู้ฝากเงินไว้แก่ธนาคารให้แก่บุคคลอื่นในลักษณะการโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจง จะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 306 กล่าวคือ ต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนมิฉะนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ หากเป็นในลักษณะการโอนหนี้อันพึงต้องชำระตามเขาสั่งผู้ฝากเงินก็ต้องปฏิบัติด้วยการออกเช็คสั่งให้ธนาคารใช้เงินและส่งมอบเช็คนั้นให้แก่ผู้รับโอนไปเบิกเงินจากธนาคาร การที่ธนาคารหักโอนเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของผู้ฝากเงินไป โดยผู้ฝากเงินมิได้ออกเช็คสั่งจ่ายให้ธนาคารใช้เงิน หรือทำหนังสือโอนหนี้ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ย่อมไม่เป็นเหตุให้สิทธิเรียกร้องของผู้ฝากเงินในหนี้เงินฝากต้องระงับสิ้นไป เพราะตามคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันมีข้อความระบุเงื่อนไขในการสั่งจ่ายและถอนเงินไว้ว่า เมื่อผู้ฝากเงินจะสั่งจ่ายหรือถอนเงิน ให้ใช้เช็คซึ่งธนาคารมอบให้ใช้สำหรับแต่ละบัญชีโดยเฉพาะ จะเขียนสั่งในกระดาษหรือแบบพิมพ์อย่างอื่นไม่ได้เว้นแต่ธนาคารจะตกลงยินยอมด้วย การหักโอนเงินจากบัญชีเงินฝากก็ไม่แตกต่างอะไรกับการถอนเงิน
การสั่งโอนเงินฝากทางโทรศัพท์จะใช้ได้แต่เฉพาะกรณีที่ผู้ฝากคนเดียวมีบัญชีเงินฝากอยู่หลายบัญชีและสั่งโอนเงินฝากจากบัญชีหนึ่งไปเข้าอีกบัญชีหนึ่งซึ่งมิใช่เป็นการโอนสิทธิเรียกร้อง แต่การโอนเงินฝากจากบัญชีของคนหนึ่งไปเข้าบัญชีของอีกคนหนึ่งนั้น เป็นการโอนสิทธิเรียกร้อง จำเป็นจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ธนาคารจะอ้างประเพณีมาลบล้างกฎหมายไม่ได้ แม้เจ้าของบัญชีเงินฝากกับผู้รับโอนจะมีความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนผู้ถือหุ้นหรือร่วมอยู่ในเครือเดียวกัน แต่จำเลยก็เป็นห้างหุ้นส่วนบริษัทนิติบุคคล ย่อมมีฐานะต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งรวมเข้ากันเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น บัญชีเงินฝากของจำเลยกับของผู้รับโอนจึงมิใช่บัญชีของบุคคลคนเดียวกัน ธนาคารโจทก์จึงหักโอนเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ที่ 4 และ ที่ 5โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกันมา โดยสามสำนวนแรกโจทก์ฟ้องรวมใจความว่า ธนาคารจำเลยสาขาพัฒน์พงศ์ได้ทำสัญญารับฝากเงินกับโจทก์โดยวิธีเปิดบัญชีกระแสรายวันซึ่งมีข้อตกลงกันว่า จำเลยจะจ่ายหรือหักโอนเงินจากบัญชีของโจทก์ได้เฉพาะตามคำสั่งของโจทก์ โดยโจทก์จะต้องลงลายมือชื่อปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้ และต้องถอนเงินหรือสั่งจ่ายเงินด้วยสมุดเช็คของจำเลย ต่อมาจำเลยได้หักโอนจ่ายเงินออกจากบัญชีเงินฝากของโจทก์โดยพลการ กล่าวคือ ได้หักโอนจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝากเลขที่ 4282 ของโจทก์สำนวนแรกรวม 4 ครั้ง เป็นเงิน 650,000 บาทจากบัญชีเงินฝากเลขที่ 4214 ของโจทก์สำนวนที่สอง รวม 12 ครั้งเป็นเงิน 2,870,000 บาท จากบัญชีเงินฝากเลขที่ 4534 ของโจทก์สำนวนที่สาม รวม 3 ครั้ง เป็นเงิน 800,000 บาท อันเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจและมิชอบ เป็นการกระทำที่ผิดข้อตกลง และผิดต่อวิธีปฏิบัติและประเพณีการค้า โดยโจทก์มิได้สั่งจ่ายหรือถอนเงินจากบัญชี ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินที่หักโอนจ่ายออกจากบัญชีเงินฝากของโจทก์พร้อมทั้งค่าเสียหายและดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยทั้งสามสำนวนให้การว่า มิได้มีข้อตกลงว่าจำเลยจะจ่ายเงินหรือหักโอนจ่ายจากบัญชีได้เฉพาะตามคำสั่งของโจทก์ โดยโจทก์จะต้องลงลายมือชื่อและต้องถอนเงินหรือสั่งจ่ายด้วยสมุดเช็คของจำเลยดังโจทก์อ้าง โจทก์จำเลยมีหน้าที่พึงปฏิบัติต่อกันตามลักษณะบัญชีเดินสะพัดประเภทเงินฝากธนาคารบัญชีกระแสรายวันจำเลยจะลงรายการหรือเพิกถอนรายการเจ้าหนี้ลูกหนี้ในบัญชีกระแสรายวันหมายเลขที่ดังกล่าวข้างต้นได้ตามที่เกิดขึ้นซึ่งกันและกันระหว่างโจทก์จำเลย โดยไม่จำเป็นต้องให้โจทก์ลงลายมือชื่อหรือถอนเงินหรือสั่งจ่ายด้วยเช็คเสมอไป ธนาคารจำเลยสาขาพัฒน์พงศ์มิได้หักโอนจ่ายเงินจากบัญชีของโจทก์โดยพลการโจทก์ได้สั่งถอนหรือสั่งให้จ่ายเงินจากบัญชีดังกล่าว ซึ่งจำเลยได้ปฏิบัติไปตามคำสั่งของโจทก์ โดยได้หักโอนจ่ายให้แก่ผู้รับตามความประสงค์ของโจทก์ โดยได้รับประโยชน์จากเงินที่จำเลยหักบัญชีแล้ว โจทก์ไม่เสียหายและจำเลยไม่มีหน้าที่หรือความรับผิดชอบใด ๆ ที่จะต้องคืนเงินให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

สำนวนที่สี่ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ตกลงกู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ โดยยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีรวม2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2518 จำนวน 1,000,000 บาทมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2514 จำนวน 500,000 บาท มีจำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมค้ำประกันยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 2,000,000 บาทโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีอีกต่อไป ธนาคารโจทก์สาขาพัฒน์พงศ์ได้หักบัญชีเงินฝากประจำซึ่งจำเลยที่ 2 มอบให้ไว้เป็นประกันพร้อมดอกเบี้ย นำมาเข้าบัญชีแล้ว จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์อยู่อีก 452,420 บาท 79 สตางค์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์เป็นลูกหนี้จำเลย เพราะโจทก์ได้หักบัญชีกระแสรายวันที่จำเลยที่ 1 ฝากไว้แก่โจทก์ไปเข้าบัญชีของบุคคลอื่นโดยปราศจากอำนาจและความยินยอมของจำเลยที่ 1เป็นจำนวนถึง 2,870,000 บาท ยอดเงินตามบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวยังไม่ถูกต้องและมีข้อโต้แย้งอยู่ ขอให้ยกฟ้อง

เพื่อความสะดวกในการพิจารณาพิพากษา ศาลชั้นต้นให้เรียกธนาคารกสิกรไทย จำกัด ว่าโจทก์ เรียกห้างหุ้นส่วนจำกัดรามาเคมีภัณฑ์ว่าจำเลยที่ 1 เรียกนายวิวัฒน์ ปภาพจน์ว่าจำเลยที่ 2เรียกนายจำนงค์ ขัมภะรัตน์ ว่า จำเลยที่ 3 เรียกบริษัทคอลลอยด์จำกัด ว่า จำเลยที่ 4 และเรียกห้างหุ้นส่วน จำกัด พี.โอ. เคมีภัณฑ์ว่า จำเลยที่ 5

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้โจทก์ (ธนาคารกสิกรไทย จำกัด)ชำระเงินจำนวน 650,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่จำเลยที่ 4 (บริษัทคอลลอยด์ จำกัด) ชำระเงินจำนวน 2,870,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้แก่จำเลยที่ 1 (ห้างหุ้นส่วน จำกัดรามาเคมีภัณฑ์) ชำระเงินจำนวน 800,000บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่จำเลยที่ 5 (ห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.โอ.เคมีภัณฑ์)ให้ยกฟ้องโจทก์ในสำนวนที่ 4

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ยกฟ้องสำนวนแรก สำนวนที่สองและสำนวนที่สาม ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ในสำนวนที่สี่เป็นเงิน 461,074 บาท 73 สตางค์ พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยทั้งห้าฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้ฝากเงินไว้แก่ธนาคารโจทก์โดยเปิดบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวันตามความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลย จำเลยในฐานะผู้ฝากมีสิทธิที่จะออกเช็คสั่งให้โจทก์จ่ายเงินในบัญชีของจำเลยแก่จำเลยเองหรือแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ได้ และโจทก์จำเป็นต้องใช้เงินตามเช็คซึ่งจำเลยได้ออกเบิกเงินแก่ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991 เว้นแต่จะไม่มีเงินในบัญชีของจำเลยพอจ่ายตามเช็คนั้น ตราบใดที่ยังมีเงินฝากเหลืออยู่ในบัญชี จำเลยย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ชำระหนี้เงินฝากนั้นได้ หากจำเลยประสงค์จะโอนสิทธิเรียกร้องของจำเลยให้แก่บุคคลอื่น ในลักษณะการโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจง จำเลยต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 กล่าวคือ ต้องทำเป็นหนังสือโอนหนี้ลงลายมือชื่อจำเลยผู้โอนมิฉะนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ หากจำเลยประสงค์จะโอนสิทธิเรียกร้องของจำเลยในลักษณะการโอนหนี้อันพึงต้องชำระตามเขาสั่งจำเลยก็ต้องปฏิบัติด้วยการออกเช็คสั่งให้โจทก์ใช้เงิน และส่งมอบเช็คนั้นให้แก่ผู้รับโอนไปเบิกเงินจากโจทก์ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 309, 917, 918, 987 และ 989 การที่โจทก์หักโอนเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยไปโดยจำเลยมิได้ออกเช็คสั่งให้โจทก์ใช้เงินหรือทำหนังสือโอนหนี้ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ย่อมไม่เป็นเหตุให้สิทธิเรียกร้องของจำเลยในหนี้เงินฝากต้องระงับสิ้นไป นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังได้ความว่าเมื่อจำเลยขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์จำเลยได้ทำคำขอเสนอต่อโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งโจทก์ตกลงสนองรับเกิดเป็นสัญญาผูกพันกัน ตามคำขอดังกล่าวมีข้อความระบุเงื่อนไขการสั่งจ่ายและถอนเงินไว้โดยชัดแจ้งว่า เมื่อผู้ฝากจะสั่งจ่ายหรือถอนเงินให้ใช้เช็คซึ่งธนาคารมอบให้ใช้สำหรับแต่ละบัญชีโดยเฉพาะ จะเขียนสั่งในกระดาษหรือแบบพิมพ์อย่างอื่นไม่ได้ เว้นแต่ธนาคารจะตกลงยินยอมด้วย ตามเงื่อนไขข้อตกลงดังกล่าวย่อมเห็นได้ว่า การสั่งจ่ายหรือถอนเงินจากธนาคารโจทก์จะกระทำได้ก็แต่โดยวิธีออกเช็ค และต้องใช้เช็คที่โจทก์มอบให้ไว้โดยเฉพาะ การหักโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยก็ไม่แตกต่างอะไรกับการถอนเงิน เพราะมีผลทำให้เงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยลดน้อยลงเช่นเดียวกันแม้แต่จำเลยไปที่ธนาคารด้วยตนเองเพื่อจะโอนเงินฝากจากบัญชีของจำเลยไปเข้าบัญชีของบุคคลอื่น ก็ไม่อาจออกคำสั่งด้วยวาจาให้โจทก์ปฏิบัติได้ ถ้าจำเลยไม่ทำเป็นหนังสือโอนหนี้ ก็จะต้องออกเช็คถอนเงินจากบัญชีของจำเลยฝากเข้าบัญชีของผู้รับโอนหรือออกเช็คฝากเข้าบัญชีของผู้รับโอนเพื่อหักโอนเงินจากบัญชีของจำเลย ซึ่งเป็นการหักโอนบัญชีโดยมีเช็คเป็นหลักฐาน จึงไม่มีเหตุผลอย่างใดที่โจทก์จะหักโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยได้ โดยอ้างแต่เพียงว่าได้รับคำสั่งจากจำเลยทางโทรศัพท์ ซึ่งอาจมีการแอบอ้างได้โดยง่ายที่โจทก์นำสืบว่า การสั่งโอนเงินฝากทางโทรศัพท์ไม่เป็นการผิดกฎหมายหรือประเพณีของธนาคารพาณิชย์ โจทก์มีสิทธิหักบัญชีของลูกค้าได้โดยไม่จำต้องให้ลูกค้าลงลายมือในเช็คสั่งจ่ายเงินนั้นศาลฎีกาเห็นว่า การสั่งโอนเงินฝากทางโทรศัพท์ย่อมจะใช้ได้ในกรณีที่ผู้ฝากคนเดียวมีบัญชีเงินฝากอยู่หลายบัญชีและสั่งโอนเงินฝากจากบัญชีหนึ่งไปเข้าอีกบัญชีหนึ่ง ซึ่งมิใช่เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องแต่การโอนเงินฝากจากบัญชีของบุคคลหนึ่งไปเข้าบัญชีของบุคคลอีกคนหนึ่งนั้น เป็นการโอนสิทธิเรียกร้อง จึงจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โจทก์จะอ้างประเพณีมาลบล้างกฎหมายหาได้ไม่ถึงแม้จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 เจ้าของบัญชีเงินฝากกับผู้รับโอนจะมีความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนผู้ถือหุ้นหรือร่วมอยู่ในเครือเดียวกัน แต่จำเลยก็เป็นห้างหุ้นส่วนบริษัทนิติบุคคล ย่อมมีฐานะต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งรวมเข้ากันเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1015 บัญชีเงินฝากของจำเลยกับของผู้รับโอนจึงมิใช่ของบุคคลคนเดียวกันอันธนาคารมีสิทธิที่จะหักโอนบัญชีได้โดยไม่จำต้องมีหลักฐาน ถึงแม้ในทางปฏิบัติของธนาคารบางแห่งจะยอมผ่อนปรนให้ลูกค้าบางรายที่ธนาคารเชื่อถือสั่งโอนเงินฝากทางโทรศัพท์ได้ ก็มิได้หมายความว่าธนาคารมีอำนาจหักโอนเงินจากบัญชีของลูกค้าได้โดยไม่จำต้องมีหลักฐาน เพราะเมื่อธนาคารโอนเงินไปตามคำสั่งของลูกค้าแล้ว ก็จะต้องจัดการให้ลูกค้าทำหลักฐานหรือออกเช็คสั่งจ่ายเงินเท่าจำนวนที่สั่งโอนมอบให้แก่ธนาคารเพื่อเป็นหลักฐานในการหักโอนบัญชีโดยไม่ชักช้า หาใช่แต่เพียงอาศัยคำสั่งโอนทางโทรศัพท์ดังที่โจทก์ปฏิบัติเท่านั้นไม่ ถ้าหากธนาคารมีอำนาจหักโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของลูกค้าได้โดยไม่จำต้องมีหลักฐานอย่างใด ๆ ประชาชนผู้ฝากเงินไว้กับธนาคารจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เงินในบัญชีเงินฝากของตนยังมีอยู่ครบถ้วนโดยไม่ถูกใครแอบอ้างคำสั่งทางโทรศัพท์ โอนไปเป็นของบุคคลอื่น ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์หักโอนเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเว้นแต่ข้อที่ว่าให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 นั้นเพียงแต่บังคับให้โจทก์คืนเงินจำนวนดังกล่าวฝากเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ตามเดิม ถ้าปฏิบัติไม่ได้ ก็ให้โจทก์ชำระเงินแทนและให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะคืนเงินฝากเข้าบัญชีของจำเลยหรือชำระเงินเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมทุกสำนวนทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share