แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การขาดจากสัญชาติไทยตาม พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2)พ.ศ.2496 ต้องเป็นไปด้วยใจสมัคร
เมื่อบุคคลยังมีสัญชาติไทยอยู่ ก็ไม่มีหน้าที่ต้องมีใบสำคัญหรือต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นคนต่างด้าว ไม่ต่ออายุใบสำคัญประจำตัวฯและไม่มีใบสำคัญประจำตัวฯ
จำเลยปฏิเสธ
ศาลจังหวัดเลยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทุกคนเดิมมีสัญชาติเป็นไทยตาม พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 เพราะเกิดในราชอาณาจักรไทย การที่จำเลยบางคนสมรสกับคนต่างด้าว จำเลยก็มิได้สละสัญชาติไทย จำเลยจึงได้ใบทะเบียนต่างด้าวมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่จำต้องมีใบทะเบียนประจำตัวคนต่างด้าว และไม่มีหน้าที่ต้องขอต่ออายุใบสำคัญนั้น พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า
(1) มาตรา 16 ทวิแพ่ง พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495 เพิ่มเติมโดย มาตรา 5 แห่ง พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496 ที่บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีสัญชาติไทย เพราะเกิดในราชอาณาจักร แต่บิดาเป็นคนต่างด้าวนั้น ถ้าได้รับใบสำคัญประจำตัวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าวแล้ว ให้ขาดจากสัญชาติไทย ไม่ว่าจะได้รับใบสำคัญประจำตัวก่อนหรือหลังวันใช้ พระราชบัญญัตินี้บังคับ” นั้น ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวที่เจ้าพนักงานออกให้ย่อมใช้ได้ตามมาตรานี้ทั้งสิ้นไม่ต้องคำนึงว่า ผู้ได้รับใบสำคัญได้ใบสำคัญนั้นมาโดยสมัครใจหรือไม่
(2) จำเลยเสียสัญชาติไทยตั้งแต่ทำการสมรสกับสามีซึ่งเป็นจีน
(3) เมื่อใบสำคัญที่จำเลยบางคนได้มานั้นสมบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยก็มีหน้าที่ต้องต่ออายุใบสำคัญ
ศาลฎีกาเห็นว่า
จำเลยได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวมาโดยไม่สมัครใจ จำเลยจึงยังไม่สูญเสียสัญชาติไทยตามฎีกาข้อ(3) ส่วนในฎีกาข้อ (2) ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยสละสัญชาติและไม่ปรากฏว่ากฎหมายแห่งประเทศจีนจะยอมให้บุคคลอย่างจำเลยได้รับสัญชาติจีนตามสามี จำเลยจึงมิได้เสียสัญชาติไทย
ดังนี้ จำเลยจึงไม่จำต้องมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวหรือต้องต่ออายุดั่งโจทก์ฟ้อง พิพากษายืน