คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6524/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ว. ทำงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่สโตร์ ฝ่ายวิศวกรรม มีหน้าที่เบิกจ่ายอะไหล่เครื่องจักรกลและทำบัญชีเบิกจ่ายอะไหล่ ลักษณะงานในหน้าที่ดังกล่าวมิได้เกี่ยวกับการควบคุมหรือดูแลการทำงานของเครื่องจักรโดยตรง แม้ ว. จะดื่มสุราไปบ้างก็ไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่เครื่องจักรของโจทก์ ทั้งไม่ปรากฏว่าในการดื่มสุราดังกล่าว ว. มีอาการมึนเมาสุราอย่างมาก หรือได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แต่อย่างใด แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์จะกำหนดห้ามลูกจ้างดื่มสุราในขณะปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็ยังถือไม่ได้ว่า ว. ได้ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ในกรณีร้ายแรง ดังนั้น เมื่อโจทก์เลิกจ้าง ว. โจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ ว. ตามที่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งไว้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงาน มีคำสั่งที่ 21/2544 ว่า การที่นายวัชระ แสงจันทร์ ลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งเจ้าหน้าที่สโตร์ ซึ่งมีหน้าที่เบิกจ่ายอะไหล่เครื่องจักร ดื่มสุราในเวลาทำงาน ไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับกรณีที่ร้ายแรง เมื่อโจทก์เลิกจ้างจึงให้โจทก์จ่ายค่าชดเชย 60,832 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 1,267 บาท แก่นายวัชระ การกระทำดังกล่าวของลูกจ้างถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับกรณีที่ร้ายแรง ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของจำเลย

จำเลยให้การว่า คำวินิจฉัยของจำเลยชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

วันนัดพิจารณาคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า โจทก์ประกอบกิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรที่ใช้เป็นเครื่องฉีดพลาสติกขนาดน้ำหนัก 20 ถึง 30 ตัน ต้องใช้แม่พิมพ์ นายวัชระ แสงจันทร์ เข้าทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์2537 ตำแหน่งเจ้าหน้าที่สโตร์ ฝ่ายวิศวกรรม มีหน้าที่เบิกจ่ายอะไหล่เครื่องจักรกลเกี่ยวกับวิศวกรรม ทำบัญชีเบิกจ่ายอะไหล่ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2544 นายวัชระดื่มสุราและเบียร์ในเวลาทำงาน โจทก์จึงได้เลิกจ้างนายวัชระด้วยเหตุดังกล่าวตามหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย จ.1 เนื่องจากหากมีการเบิกอุปกรณ์ผิดพลาดอาจทำให้แม่พิมพ์หรือเครื่องจักรเสียหายได้ นายวัชระได้ไปร้องทุกข์ต่อจำเลย ซึ่งจำเลยมีคำสั่งตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่นายวัชระโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนด 30 วัน เอกสารหมาย จ.2 เป็นระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เอกสารหมาย จ.3 เป็นแผนที่เกิดเหตุหากนายวัชระมีสิทธิได้รับค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวนเงินตามคำสั่งของจำเลยถูกต้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่นายวัชระลูกจ้างของโจทก์ดื่มสุราในเวลาทำงานย่อมทำให้ขาดสติสัมปชัญญะ ทำให้การทำงานบกพร่องอาจเบิกอะไหล่เครื่องจักรกลผิดพลาด ซึ่งย่อมทำให้เครื่องจักรและแม่พิมพ์ของโจทก์เสียหาย และอาจเกิดอันตรายแก่ชีวิตของพนักงานและทรัพย์สินของนายจ้าง ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของโจทก์กรณีร้ายแรง โจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่นายวัชระ พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 21/2544

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การที่นายวัชระ แสงจันทร์ ลูกจ้างของโจทก์ได้ดื่มสุราในระหว่างการทำงานเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ในกรณีร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า นายวัชระทำงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่สโตร์ ฝ่ายวิศวกรรม มีหน้าที่เบิกจ่ายอะไหล่เครื่องจักรกลและทำบัญชีเบิกจ่ายอะไหล่ ลักษณะงานในหน้าที่ดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับการควบคุมหรือดูแลการทำงานของเครื่องจักรโดยตรง แม้นายวัชระจะดื่มสุราบ้างก็ไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่เครื่องจักรของโจทก์ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าในการดื่มสุราดังกล่าวนายวัชระมีอาการมึนเมาสุราอย่างมาก หรือได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แต่อย่างใด ฉะนั้น แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 จะกำหนดห้ามลูกจ้างดื่มสุราในขณะปฏิบัติหน้าที่ก็ตาม แต่ก็ยังถือไม่ได้ว่านายวัชระได้ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ในกรณีร้ายแรง คำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่นายวัชระจึงชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอน อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share