คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 194/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติ ญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 11 กำหนดให้พนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์พ้นจากตำแหน่งนั้น มีความหมายว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้ใดมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์อันเป็นการขาดคุณสมบัติแล้วก็ให้รัฐวิสาหกิจนั้นดำเนินการให้ผู้นั้นออกจากงาน มิได้หมายความว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่งทันที ดังนี้เมื่อจำเลยผู้เป็นนายจ้างดำเนินการให้โจทก์ออกจากงานเพื่อให้เป็นไปตามบทกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้าง จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาคดียี่สิบหกสำนวนเข้ากับคดีหมายเลขดำที่ 5021/2533 ของศาลแรงงานกลาง ซึ่งในระหว่างพิจารณาศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีดังกล่าวโดยให้เรียกโจทก์ทั้งยี่สิบหกสำนวนเป็นโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 5 และโจทก์ที่ 7 ถึงโจทก์ที่ 27 ตามกำกับ โจทก์ทั้งยี่สิบหกสำนวนฟ้องว่าโจทก์ทั้งยี่สิบหกเป็นลูกจ้างของจำเลย วันเข้าทำงาน ตำแหน่งหน้าที่และค่าจ้างอัตราสุดท้ายของโจทก์แต่ละคนปรากฎตามฟ้อง ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2533 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบหกเพราะเหตุเกษียณอายุ โดยไม่จ่ายค่าชดเชย โจทก์ทั้งยี่สิบหกมีอายุการทำงานเกินกว่า 3 ปีแล้ว จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบหกตามกฎหมายพร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งยี่สิบหกสำนวนให้การว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์ทั้งยี่สิบหกเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ การที่โจทก์ทั้งยี่สิบหกออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุหรือมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ เป็นการพ้นจากตำแหน่งโดยผลของกฎหมาย มิใช่เป็นผลโดยตรงจากการเลิกจ้างของจำเลยจึงไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน โจทก์ทั้งยี่สิบหกไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง วันนัดพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงตามฟ้อง ศาลแรงงานกลางเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดสืบพยาน ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 38,040 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 59,580 บาทโจทก์ที่ 3 จำนวน 38,040 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 86,820 บาทโจทก์ที่ 5 จำนวน 63,360 บาท โจทก์ที่ 7 จำนวน 112,560 บาทโจทก์ที่ 8 จำนวน 50,820 บาท โจทก์ที่ 9 จำนวน 38,040 บาทโจทก์ที่ 10 จำนวน 84,360 บาท โจทก์ที่ 11 จำนวน 49,200 บาทโจทก์ที่ 12 จำนวน 86,820 บาท โจทก์ที่ 13 จำนวน 54,180 บาทโจทก์ที่ 14 จำนวน 27,960 บาท โจทก์ที่ 15 จำนวน 35,700 บาทโจทก์ที่ 16 จำนวน 50,820 บาท โจทก์ที่ 17 จำนวน 49,200 บาทโจทก์ที่ 18 จำนวน 57,750 บาท โจทก์ที่ 19 จำนวน 63,360 บาทโจทก์ที่ 20 จำนวน 79,740 บาท โจทก์ที่ 21 จำนวน 57,750 บาทโจทก์ที่ 22 จำนวน 73,350 บาท โจทก์ที่ 23 จำนวน 75,420 บาทโจทก์ที่ 24 จำนวน 43,260 บาท โจทก์ที่ 25 จำนวน 59,580 บาทโจทก์ที่ 26 จำนวน 71,280 บาท โจทก์ที่ 27 จำนวน 35,700 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินค่าชดเชยของโจทก์แต่ละคนดังกล่าว เว้นแต่โจทก์ที่ 27 ทั้งนี้นับแต่วันที่1 ตุลาคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งยี่สิบหกสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่าการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46จะต้องเป็นเรื่องที่นายจ้างได้ดำเนินการให้ลูกจ้างออกจากงานไม่รวมถึงการที่ลูกจ้างต้องออกจากงานไปเองตามกฎหมายโดยเหตุเกษียณอายุ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ และโจทก์ทั้งยี่สิบหกเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518มาตรา 11 ที่บัญญัติให้พนักงานรัฐวิสาหกิจซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์พ้นจากตำแหน่งนั้น มีความหมายว่าเมื่อพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้ใดมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์อันเป็นการขาดคุณสมบัติแล้วก็ให้รัฐวิสาหกิจนั้นดำเนินการให้ผู้นั้นออกจากงาน มิได้หมายความว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่งในทันที ดังนั้นเมื่อจำเลยผู้เป็นนายจ้างดำเนินการให้โจทก์ทั้งยี่สิบหกออกจากงานเพื่อให้เป็นไปตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46กรณีหาใช่โจทก์ทั้งยี่สิบหกออกจากงานไปเองตามกฎหมายไม่ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบหกนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งยี่สิบหกสำนวนฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share