แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คดีก่อนจำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องขอให้บังคับ ภ. และ น. ร่วมกันโอนทะเบียนรถยนต์พิพาท โดยทำเป็นสัญญาขายแก่จำเลยระหว่างพิจารณาโจทก์คดีนี้ยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดีดังกล่าวอ้างว่าจำเลยและ ภ. กับพวกทำสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทกันโดยไม่สุจริตเพราะรถยนต์พิพาทเป็นของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง จำเลยให้การแก้คำร้องสอดว่า จำเลยซื้อรถยนต์พิพาทจาก ภ. และพวกโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้รับมอบการครอบครองไว้ตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขาย จำเลยจึงมีสิทธิไม่คืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ เว้นแต่โจทก์จะใช้ราคาแก่จำเลย ศาลฎีกาฟังว่ารถยนต์พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องสอด ให้ยกฟ้อง ผลของคำพิพากษาฎีกาย่อมผูกพันจำเลยมิให้โต้เถียงกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ร้องสอดอีก จำเลยย่อมไม่มีสิทธิยึดถือรถยนต์พิพาทไว้ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์เป็นคดีนี้จึงเป็นการฟ้องเพื่อขอให้บังคับตามสิทธิของโจทก์ที่เกิดขึ้นจากผลของคำพิพากษาคดีดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องจำเลยได้ไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ หมายเลขทะเบียน5 ฉ-9915 กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2530 โจทก์ให้นายนพพรอมาตยกุล เช่าซื้อไป ต่อมานายนพพร ผิดสัญญาเช่าซื้อ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและให้ส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวคืน แต่นายนพพรหลบหน้าหายไป โจทก์ทราบว่ารถยนต์ดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของจำเลย จึงมีหนังสือขอให้จำเลยส่งมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย ต่อมาจำเลยฟ้องบริษัทภัทรโรจน์ จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 และนายนพพร เป็นจำเลยที่ 2 ขอให้โอนทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวและส่งมอบสมุดคู่มือจดทะเบียนให้แก่จำเลย โจทก์จึงร้องสอดเข้ามาในคดีเพราะบริษัทภัทรโรจน์ จำกัด และนายนพพรไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์และเป็นการซื้อขายไม่สุจริต ซึ่งต่อมาศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยว่าการซื้อขายรถยนต์พิพาทระหว่างจำเลยคดีนี้กับบริษัทภัทรโรจน์จำกัด และนายนพพรไม่สุจริตตามสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 12076/2531 หมายเลขแดงที่ 10778/2533 ของศาลแพ่ง นับแต่ศาลฎีกามีคำพิพากษามาจนถึงขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยยังไม่ยอมส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนแก่โจทก์ การที่จำเลยไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทแต่ยังคงครอบครองรถยนต์พิพาทของโจทก์ จึงเป็นการครอบครองโดยมิชอบ เป็นการละเมิดต่อโจทก์โดยจำเลยทราบว่ารถยนต์พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2530 แต่การที่จำเลยครอบครองรถยนต์พิพาทตลอดมา ทำให้โจทก์ไม่สามารถขายรถยนต์พิพาทได้ในราคา 1,025,000 บาทซึ่งเป็นราคาในขณะนั้นและโจทก์ได้รับเงินค่าเช่าซื้อมาแล้ว 25,000 บาท ทำให้โจทก์ขาดรายได้เป็นเงิน 1,000,000 บาท ซึ่งหากนำไปฝากธนาคารจะได้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปี เป็นเวลา 9 ปี เป็นเงินดอกเบี้ยทั้งสิ้น 945,000 บาทรวมค่าเสียหายค่าขาดประโยชน์จากดอกเบี้ยในส่วนนี้เป็นเงิน 1,945,000 บาทนอกจากนี้ รถยนต์พิพาทหากมีสภาพดีเหมือนสภาพในเดือนพฤศจิกายน 2530หากนำมาขายในเดือนที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้จะได้ราคาไม่เกิน 500,000 บาททำให้โจทก์ขาดประโยชน์จากการขายทรัพย์สินพิพาทเป็นเงิน 500,000 บาทซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดชอบในค่าเสียหายส่วนนี้ รวมเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้น2,445,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบรถยนต์เบนซ์หมายเลขทะเบียน5 ฉ-9915 กรุงเทพมหานคร ให้โจทก์ในสภาพดีใช้การได้ตามสภาพในเดือนพฤศจิกายน 2530 กับให้ใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 2,445,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปีจากต้นเงิน 1,000,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเงินค่าขายรถยนต์ในราคา 1,000,000 บาท แก่โจทก์จนครบ
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 10778/2533 ของศาลแพ่ง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงตามคดีหมายเลขดำที่ 12076/2531หมายเลขแดงที่ 10778/2533 ของศาลแพ่งได้ความว่า จำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องขอให้บังคับบริษัทภัทรโรจน์ จำกัด ที่ 1 นายนพพร อมาตยกุล ที่ 2 จำเลยร่วมกันโอนทะเบียนรถยนต์พิพาทที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาขายแก่จำเลยคดีนี้ ซึ่งจำเลยคดีนี้ชำระราคาครบถ้วนและได้รับมอบรถยนต์พิพาทไว้ในครอบครองแล้ว จำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา แต่ระหว่างพิจารณาโจทก์คดีนี้ยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดีดังกล่าวอ้างว่าจำเลยและบริษัทภัทรโรจน์ จำกัด กับพวก ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทกันโดยไม่สุจริตเพราะรถยนต์พิพาทเป็นของโจทก์ซึ่งจำเลยทราบดีอยู่แล้วโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนแก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยไม่มีสิทธิขอให้โอนทะเบียนรถยนต์พิพาทเป็นของจำเลยขอให้ยกฟ้อง จำเลยให้การแก้คำร้องสอดในคดีดังกล่าวว่า จำเลยซื้อรถยนต์พิพาทจากบริษัทภัทรโรจน์ จำกัด และพวก โดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้รับมอบการครอบครองรถยนต์พิพาทไว้ตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขาย จำเลยจึงมีสิทธิไม่คืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ เว้นแต่โจทก์จะใช้ราคารถยนต์พิพาทแก่จำเลยศาลฎีกาฟังว่า รถยนต์พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องสอด ให้ยกฟ้องโจทก์ในคดีดังกล่าวตามคำพิพากษาฎีกาที่ 6510/2538 ดังนี้ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ผลของคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ย่อมผูกพันจำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวมิให้โต้เถียงกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทกับโจทก์คดีนี้ ซึ่งเป็นผู้ร้องสอดในคดีข้างต้นอีก จำเลยย่อมไม่มีสิทธิ จะยึดถือรถยนต์พิพาทไว้ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ จึงเป็นการฟ้องเพื่อขอให้บังคับตามสิทธิของโจทก์ที่เกิดขึ้นจากผลของคำพิพากษาฎีกาที่ 6510/2538 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่โดยที่ศาลล่างทั้งสองยังมิได้พิจารณาพิพากษาชี้ขาดประเด็นข้อข้อพิพาทอื่นอีกหลายข้อ เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวเป็นไปตามลำดับชั้นศาล จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองพิจารณาพิพากษาประเด็นข้อพิพาทอื่นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยเสียก่อน”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ยังไม่ได้วินิจฉัย แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี