คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1939/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยกับผู้ตายดื่มสุราด้วยกันที่บ้านมารดาผู้ตายและมีเรื่องทะเลาะวิวาทถึงกับท้าชกต่อยกัน แต่มีคนมาห้ามจึงแยกกันไป จำเลยทราบว่าผู้ตายจะต้องกลับบ้านจึงได้มาดักรอริมถนนเพื่อทำร้ายด้วยความโกรธแค้นผู้ตายและได้ใช้มีดพกปลายแหลมแทงผู้ตายหลังจากทะเลาะวิวาทกันแล้วประมาณ 10 ชั่วโมง ดังนี้การที่จำเลยใช้มีดแทงผู้ตายกันเนื่องมาจากการทะเลาะวิวาทและจำเลยมีเวลานานพอที่จะสามารถตระเตรียมวางแผนฆ่าผู้ตายด้วยความโกรธแค้นได้ จึงเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) จำเลยให้การว่าได้กระทำผิดจริงแต่ไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) ลดโทษให้หนึ่งในสาม ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ลดโทษให้หนึ่งในสาม ลงโทษจำคุก 10 ปี โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า วันเกิดเหตุที่โจทก์ฟ้อง นายบุญหา ยาวุฒิ ผู้ตาย กับภรรยาไปบ้านมารดาผู้ตายผู้ตายนั่งดื่มสุรากับพวก ต่อมาเวลาประมาณ 10 นาฬิกา ผู้ตายซึ่งมีเรื่องโกรธเคืองจำเลยมาก่อนแล้วได้ทะเลาะโต้เถียงกับจำเลยในวงสุราถึงกับท้าชกต่อยกัน แต่พรรคพวกที่ดื่มสุราห้ามไว้ แล้วจำเลยก็แยกไป ต่อมาเวลาประมาณ 20 นาฬิกา ผู้ตายบอกนางทัศนีย์ ภรรยาว่าจะกลับบ้าน นางทัศนีย์ให้รอจะกลับด้วยแต่ผู้ตายไม่รอได้เดินออกจากบ้านมารดาไป และถูกจำเลยใช้มีดพกปลายแหลมแทงถึงแก่ความตายข้อเท็จจริงได้ความดังกล่าว เห็นว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยกับผู้ตายได้ดื่มสุราด้วยกันและมีเรื่องทะเลาะวิวาทถึงกับท้าชกต่อยแต่มีคนเข้ามาห้ามจึงแยกกันไป ดังนั้น สาเหตุแห่งการที่จำเลยใช้มีดแทงผู้ตายก็เนื่องมาจากการทะเลาะวิวาทกันก่อนเหตุนั้นเองจนกระทั่งถึงเวลาเกิดเหตุซึ่งเป็นเวลาห่างกันประมาณ 10 ชั่วโมง นานพอที่จำเลยสามารถตระเตรียมวางแผนฆ่าผู้ตายได้ และจำเลยทราบดีว่าผู้ตายและภรรยาจะต้องกลับบ้านของตน ทั้งจำเลยก็ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนว่าด้วยความโกรธแค้นผู้ตาย จำเลยจึงได้มาดักรอที่ริมถนนเพื่อทำร้ายผู้ตาย การที่จำเลยใช้มีดพกปลายแหลมแทงผู้ตายขณะที่ผู้ตายเดินกลับบ้านย่อมเห็นได้ว่าเป็นการฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4) ส่วนโทษที่ลงแก่จำเลยนั้น คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share