คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1938/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้ามรดกได้รับที่พิพาทจากบิดาในระหว่างที่สมรสกับมารดาโจทก์ตามกฎหมายอิสลามก่อนวันที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ใช้บังคับ ตามกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกไม่มีบัญญัติว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นสินสมรสหรือไม่ ต้องใช้กฎหมายลักษณะผัวเมียอันเป็นกฎหมายในขณะนั้นบังคับ ที่พิพาทจึงเป็นสินสมรส ต่อมามารดาโจทก์ถึงแก่กรรม เมื่อไม่ปรากฏว่าทั้งเจ้ามรดกและมารดาโจทก์มีสินเดิมหรือไม่ ที่พิพาทจึงตกเป็นของมารดาโจทก์1 ส่วนและตกเป็นของเจ้ามรดกเอง 2 ส่วน เฉพาะทรัพย์ส่วนที่เป็นของมารดาโจทก์นั้นต้องแบ่งแก่ทายาทตามกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก ข้อความในพินัยกรรมของเจ้ามรดกจึงผูกพันที่พิพาทเฉพาะส่วนของเจ้ามรดก ไม่มีผลผูกพันส่วนของมารดาโจทก์ซึ่งโจทก์มีสิทธิจะได้รับทั้งส่วนที่เป็นมรดกของมารดาโจทก์และส่วนของเจ้ามรดกที่ระบุไว้ในพินัยกรรม ปัญหาว่าส่วนของมารดาโจทก์จะต้องแบ่งกันตามกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก และโจทก์ซึ่งเป็นทายาทจะได้รับส่วนของมารดาโจทก์เท่าใด เป็นข้อกฎหมายอิสลามที่ดะโต๊ะยุติธรรมต้องเป็นผู้ชี้ขาด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามฯพ.ศ. 2489 มาตรา 3,4 จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสามเป็นอิสลามิกชนในเขตจังหวัดยะลา เมื่อประมาณ 50 ปีเศษมานี้ นายหะรงและนางสาละเมาะทำการสมรสกันตามกฎหมายอิสลามที่จังหวัดยะลา มีบุตรด้วยกัน 5 คน คือโจทก์ที่ 1 นางตือเมาะ ซึ่งตายก่อนบิดามารดานายเจะและซึ่งตายหลังบิดา โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ระหว่างอยู่ร่วมกันนายหะรงและนางสาละเมาะมีทรัพย์สินหาได้ร่วมกันเป็นที่ดินสวน ที่ดินนาและที่ดินปลูกบ้านตามบัญชีท้ายฟ้องต่อมาปี 2499นางสาละเมาะถึงแก่ความตาย แต่ยังไม่มีการแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวทายาทคงครอบครองร่วมกัน ต่อมานายหะรงแต่งงานใหม่กับนางตีเมาะมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นบุตรติดกับนางตีเมาะ และครอบครองทรัพย์สินดังกล่าวร่วมกัน ต่อมาปี 2522 นายหะรงถึงแก่ความตาย และศาลได้มีคำสั่งตั้งให้โจทก์ที่ 1 และจำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของนายหะรงและนางสาละเมาะร่วมกัน โจทก์ทั้งสามขอให้จำเลยทั้งสามแบ่งมรดกให้โจทก์ทั้งสามตามกฎหมายอิสลาม จำเลยทั้งสามไม่ยอมแบ่งอ้างว่านายหะรงทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินดังกล่าวทั้งหมดให้จำเลยทั้งสาม ซึ่งนายหะรงไม่มีสิทธิจะนำทรัพย์สินส่วนของนางสาละเมาะไปทำพินัยกรรม ขอศาลบังคับให้จำเลยทั้งสามแบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์ทั้งสาม
จำเลยทั้งสามให้การว่า ทรัพย์มรดกรายนี้เป็นสินเดิมของนายหะรง และนายหะรงได้ทำพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์มรดกดังกล่าวแล้ว จำเลยทั้งสามเข้าครอบครองทรัพย์มรดกในส่วนที่ได้รับตามพินัยกรรมแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอแบ่งตามกฎหมายอิสลาม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในส่วนที่โจทก์ทั้งสามจะได้รับจากทรัพย์สินพิพาทแล้วพิพากษาใหม่
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นายเจ๊ะเต๊ะยกที่พิพาทให้นายหะรงบิดาโจทก์ทั้งสามในระหว่างที่นายหะรงกับนางสาละเมาะเป็นสามีภริยากันอยู่ และคนทั้งสองมิได้หย่ากันแต่อย่างใด ที่พิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส ซึ่งตามกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกไม่มีบัญญัติไว้ จึงต้องใช้กฎหมายลักษณะผัวเมียอันเป็นกฎหมายใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ที่พิพาทจึงเป็นสินสมรสตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย และโดยที่ไม่ปรากฏว่าฝ่ายใดมีสินเดิมเมื่อนางสาละเมาะถึงแก่กรรมจึงต้องแบ่งที่พิพาทอันเป็นสินสมรสออกเป็น 3 ส่วนเท่า ๆ กันตกได้แก่นางสาละเมาะ 1 ส่วน นายหะรง2 ส่วน ส่วนของนางสาละเมาะนี้ย่อมเป็นมรดกที่จะต้องแบ่งแก่ทายาทต่อไปตามกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก ดังนี้ ข้อความในพินัยกรรมของนายหะรงที่กล่าวถึงที่พิพาทจึงผูกพันที่พิพาทเฉพาะส่วนของนายหะรงเท่านั้น หามีผลผูกพันส่วนของนางสาละเมาะไม่ ซึ่งโจทก์ทั้งสามมีสิทธิจะได้รับทั้งส่วนที่เป็นมรดกของนางสาละเมาะและส่วนของนายหะรงที่ระบุไว้ในพินัยกรรม แต่ส่วนของนางสาละเมาะนั้นจะต้องแบ่งกันตามกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก และโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทจะได้รับส่วนของนางสาละเมาะเท่าใดนั้น เป็นข้อกฎหมายอิสลามที่ดะโต๊ะยุติธรรมต้องเป็นผู้ชี้ขาด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 มาตรา 3, 4
พิพากษายืน.

Share