แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้พิจารณาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา208เป็นคำสั่งภายหลังเมื่อศาลชั้นต้นได้พิพากษาคดีแล้วไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาแต่เป็นคำสั่งชี้ขาดใดๆซึ่งอยู่ในบังคับของการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดซึ่งต้องยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนด1เดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งดังกล่าวให้คู่ความฟังตามมาตรา223และ229เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้พิจารณาใหม่ภายใน1เดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงถึงที่สุดแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์อีกแม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์โดยชอบโจทก์จะยกขึ้นฎีกาต่อมาไม่ได้มาตรา249วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 354 ตำบลยางหย่องอำเภอแม่ประจันต์ จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 29 ไร่ 2 งาน4 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของนายถนอม ชูเหม นางสาวปลีก ขาวเอี่ยมและจำเลยร่วมกันเมื่อประมาณ 20 ปีเศษ นางสาวปลีกได้ขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนเนื้อที่ 12 ไร่เศษ ทางด้านตะวันออกให้โจทก์ในราคา12,000 บาท โดยไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายแต่ได้มอบที่ดินให้โจทก์เข้าครอบครองทำนาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมายโดยการครอบครอง ต่อมาเมื่อปี 2519 นางสาวปลีกได้ถึงแก่ความตายจำเลยซึ่งรู้อยู่แล้วว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเฉพาะส่วนของนางสาวปลีกได้ขอรับมรดกที่ดินเฉพาะส่วนดังกล่าวในฐานะทายาท เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตทำให้โจทก์เสียหายขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนรับมรดกที่ดินเฉพาะส่วนของนางสาวปลีก เนื้อที่ 12 ไร่เศษ และพิพากษาว่าที่ดินเฉพาะส่วนของนางสาวปลีกดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครอง จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับโอนมรดกของจำเลยในที่ดินโฉนดเลขที่ 354 ตำบลยางหย่องอำเภอแม่ประจันต์ (ปัจจุบันตำบลท่าแลง อำเภอท่ายาง)จังหวัดเพชรบุรี เฉพาะส่วนของนางสาวปลีก ขาวเอี่ยม และให้ที่ดินดังกล่าวตามรูปที่ดินที่ระบายด้วยเส้นหมายสีแดงในแผนที่หมาย จ.2เนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา อันเป็นส่วนของนางสาวปลีก ขาวเอี่ยม ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382
จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาใหม่อ้างว่ามิได้จงใจขาดนัดศาลชั้นต้นอนุญาตให้พิจารณาใหม่ ให้จำเลยยื่นคำให้การภายใน 8 วัน
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่แล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์กับจำเลยเคยอยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสมาได้ประมาณ20 ปี มีบุตรด้วยกัน 6 คน ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 354 มีเนื้อที่ 12 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา เดิมนางสาวปลีก ขาวเอี่ยม น้าจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเมื่อนางสาวปลีกถึงแก่ความตายจำเลยได้ขอจดทะเบียนรับมรดกที่ดินพิพาท เมื่อนางสาวปลีกถึงแก่ความตายจำเลยได้ขอจดทะเบียนรับมรดกที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย หลังจากนั้นโจทก์ได้ฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียน ต่อมาวันที่ 8 เมษายน 2534 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาใหม่ตามคำขอของจำเลยและมีคำพิพากษาใหม่ในวันที่ 18 มกราคม 2537 โจทก์จึงอุทธรณ์ว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวและคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้พิจารณาใหม่ไม่ชอบที่โจทก์ฎีกาว่า คำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 ศาลไม่ควรมีคำสั่งอนุญาตให้มีการพิจารณาใหม่นั้น เห็นว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้พิจารณาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 208 เป็นคำสั่งภายหลังเมื่อศาลชั้นต้นได้พิพากษาคดีแล้ว ไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา แต่เป็นคำสั่งชี้ขาดใด ๆ ซึ่งอยู่ในบังคับของการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดซึ่งต้องยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งดังกล่าวให้คู่ความฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 และ 229 เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้พิจารณาใหม่ ภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงถึงที่สุดแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิ์หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์อีก แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3วินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยชอบ โจทก์จะยกขึ้นฎีกาต่อมาไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการเดียวว่า โจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้วหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ขาดน้ำหนัก ไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ได้ซื้อที่ดินพิพาทจากนางสาวปลีกแล้วเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ
พิพากษายืน