คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1930/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสละรูปภาชนะบรรจุสินค้าและข้อความที่บรรยายทางการค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขาย ตามที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งแล้วนั้น ย่อมหมายรวมถึงการวางรูปของเครื่องหมายการค้าและข้อความที่บรรยายในทางการค้าหรือสิ่งอื่นใดในเครื่องหมายการค้าที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ยินยอมสละแล้วด้วย ดังนั้น โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่อาจถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในรูปลักษณะภาชนะบรรจุยาขัดล้างรถยนต์และข้อความบรรยายทั้งการวางรูปของเครื่องหมายการค้าและคำบรรยายที่ภาชนะเช่นนี้การที่จำเลยที่ 1 ผลิตสินค้า มีรูปลักษณะของภาชนะและคำบรรยายเกี่ยวกับสินค้าอย่างเดียวกับสินค้าของโจทก์ โจทก์จึงอ้างไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิไม่สุจริต เครื่องหมายการค้าอักษรโรมัน คำว่า “CARGLO” หรือ “คาร์โกล้”ของโจทก์และเครื่องหมายการค้าคำว่า “DINCO” หรือ “ดิงโก้”ของจำเลยที่ 1 แตกต่างกันทั้งตัวอักษรที่เขียนและสำเนียงเรียกขานแม้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวใช้กับสินค้าจำพวกยาขัดล้างรถยนต์เหมือนกัน แต่บุคคลบางประเภทเท่านั้นที่ใช้สินค้าดังกล่าว ไม่ใช่สินค้าที่ประชาชนทั่วไปใช้สอย จึงเป็นไปได้ยากที่ผู้ใช้จะมาหลงผิดเข้าใจว่ายาขัดล้างรถยนต์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1เป็นยาขัดล้างรถยนต์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จึงไม่เหมือน หรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้หลงผิดในความเป็นเจ้าของ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการกระทำการแทน จำเลยที่ 1 ได้ลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์นำไปขอจดทะเบียน และจำเลยทั้งสองสมคบร่วมกันใช้เครื่องหมายการค้าเหมือนคล้ายกับของโจทก์ และเอารูปรอยประดิษฐ์และข้อความคำบรรยายบนกระป๋องสินค้ายาขัดล้างรถยนต์ของโจทก์ไปใช้กับสินค้าของจำเลยขอให้จำเลยที่ 1 เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 146239 ถ้าจำเลยที่ 1ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และห้ามจำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับเก็บสินค้าของจำเลยทั้งสองให้หมดสิ้นจากตลาดการค้าและห้ามจำเลยทั้งสองใช้รูปลักษณะและสีสันกระป๋องบรรจุยาขัดล้างรถยนต์ซึ่งเหมือนหรือเกือบเหมือนกับของโจทก์และให้โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 145780 และ 145781 ดีกว่าจำเลยที่ 1 กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำนวน1,000,000 บาท
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 1 มีลักษณะต่างกันอย่างชัดเจน ไม่ทำให้ผู้ซื้อหรือบุคคลทั่วไปหลงเข้าใจผิดทั้งสิ้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 2 โจทก์มอบอำนาจให้นายวิรัตน์ กรรฐโรจน์เป็นผู้ดำเนินคดีแทน โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “CARGLO” (อ่านว่า คาร์โกล้) ตามคำขอเลขที่ 90654 ซึ่งโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2518สำหรับใช้กับสินค้ายาขัดล้างรถยนต์ ในรายการสินค้าจำพวก 50เครื่องหมายการค้าอักษรไทยคำว่า “คาร์โกล้” ตามคำขอเลขที่ 75148จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2515 สำหรับใช้กับสินค้ายาขัดล้างรถยนต์ในรายการสินค้าจำพวก 50 เครื่องหมายการค้าฉลากรูปกระป๋อง “CARGLO” (ด้านหลัง) ตามคำขอเลขที่ 145780จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2528สำหรับใช้กับสินค้ายาขัดล้างรถยนต์ในรายการสินค้าจำพวก 50และเครื่องหมายการค้าฉลากรูปกระป๋อง “CARGLO” (ด้านหน้า) ตามคำขอเลขที่ 145781 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่15 กุมภาพันธ์ 2528 สำหรับใช้กับสินค้ายาขัดล้างรถยนต์ในรายการสินค้าจำพวก 50 ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “DINCO” ตามคำขอเลขที่ 89338 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2518 สำหรับใช้กับสินค้ายาขัดรถยนต์ ยาล้างรถยนต์ เครื่องแต่งเรือน กระเบื้อง และหินขัดในรายการสินค้าจำพวก 50 โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างผลิตสินค้ายาขัดล้างรถยนต์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของตนออกจำหน่าย โดยจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายของจำเลยที่ 1 และก่อนนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งรูปรอยเครื่องหมายการค้าด้านหลังของภาชนะบรรจุสินค้าของโจทก์ และรับรองเครื่องหมายการค้าตามรูปรอยเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งให้โจทก์และจำเลยที่ 1 สละรูปภาชนะบรรจุสินค้า และบรรดาข้อความที่บรรยายทางการค้าซึ่งเป็นสิ่งสามัญไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างได้สละรูปภาชนะบรรจุสินค้ากับข้อความที่บรรยายทางการค้าแล้ว…
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่าเครื่องหมายการค้ารูปลักษณะภาชนะพร้อมคำบรรยายยาล้างขัดรถยนต์ของจำเลยตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 146239 เอกสารหมาย จ.7 เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้ารูปลักษณะภาชนะพร้อมคำบรรยายยาล้างขัดรถยนต์ของโจทก์ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 145780 และเลขที่145781 เอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 จนเป็นเหตุให้สาธารณชนหลงผิดหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์สละคำว่าซิลิโคน แวกซ์ (SILICONE WAX) คาร์ โปลิช (CAR POLISH)คำบรรยายอื่น ๆ ขนาดบรรจุได้ และรูปขวด นั้น ไม่รวมถึงการวางรูปของเครื่องหมายการค้า การที่จำเลยที่ 1 วางรูปเครื่องหมายการค้าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และจำเลยที่ 1ยังได้ใช้รูปลักษณะภาชนะบรรจุ ตลอดจนสีสันของภาชนะเป็นอย่างเดียวกับของโจทก์อีกด้วย จึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสละรูปภาชนะบรรจุสินค้าและข้อความที่บรรยายทางการค้าซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขาย ตามที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งให้โจทก์และจำเลยที่ 1สละแล้วนั้น ย่อมหมายความรวมถึงการวางรูปของเครื่องหมายการค้าและข้อความที่บรรยายในทางการค้าหรือสิ่งอื่นใดในเครื่องหมายการค้าที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ยินยอมสละแล้วด้วย ทั้งเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “CARGLO” ของโจทก์ที่ได้รับการจดทะเบียนตามทะเบียนเลขที่ 57853 เอกสารหมาย จ.2 ก็ได้รับจดทะเบียนเฉพาะคำเท่านั้นไม่รวมถึงการวางรูปของเครื่องหมายการค้าดังที่ปรากฏในคำขอจดทะเบียนเลขที่ 145781 ตามเอกสารหมาย จ.5 ด้วย ดังนั้น รูปลักษณะภาชนะบรรจุยาขัดล้างรถยนต์และข้อความบรรยายรวมทั้งการวางรูปของเครื่องหมายการค้าและคำบรรยายที่ภาชนะของโจทก์และจำเลยที่ 1ตามคำขอจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.4 กับ จ.5 และ จ.7 โจทก์และจำเลยที่ 1จึงไม่อาจถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียว จากรูปเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.4 กับ จ.5 และ จ.7ซึ่งตรงกับวัตถุพยานหมาย จ.6 และ จ.10 ตามลำดับ ฟังไม่ได้ว่ามีการเลียนเครื่องหมายการค้า ไม่อาจถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 1 เหมือนหรือคล้ายกัน เช่นนี้ การที่จำเลยที่ 1 ผลิตสินค้ามีรูปลักษณะของภาชนะและคำบรรยายเกี่ยวกับสินค้าอย่างเดียวกับสินค้าของโจทก์ โจทก์จึงอ้างไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1ใช้สิทธิไม่สุจริต ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าเมื่อเห็นสินค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 1 ภายใต้เครื่องหมายการค้าและรูปรอยดังกล่าวจะเป็นเหตุให้สาธารณชนหลงผิดนั้น เห็นว่า โจทก์และจำเลยที่ 1ต่างได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า”CARGLO” หรือ “คาร์โกล้” และ “DINCO” หรือ “ดิงโก้” ตามลำดับซึ่งแตกต่างกันทั้งตัวอักษรที่เขียนและสำเนียงเรียกขาน แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 1 ใช้กับสินค้าจำพวกยาขัดล้างรถยนต์ แต่บุคคลบางประเภทเท่านั้นที่ใช้กับสินค้าดังกล่าวไม่ใช่สินค้าที่ประชาชนทั่วไปใช้สอย จึงเป็นไปได้ยากที่ผู้ใช้จะหลงผิดเข้าใจว่ายาขัดล้างรถยนต์ภายใต้เครื่องหมายการค้า”DINCO” หรือ “ดิงโก้” ของจำเลยที่ 1 เป็นยาขัดล้างรถยนต์ภายใต้เครื่องหมายการค้า “CARGLO” หรือ “คาร์โกล้” ของโจทก์ดังนี้ คดีจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้เอาชื่อรูปรอยประดิษฐ์ในทางการค้าของโจทก์มาใช้ และถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1จึงไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้หลงผิดว่าสินค้าของจำเลยทั้งสองเป็นสินค้าของโจทก์ได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share