คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 193/2495

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานสมคบกันฆ่าคนตายโดยเจตนาตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 249, 63 แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาลงโทษจำเลยฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาตามมาตรา 251 ก็ยังเป็นการยืนยันว่า จำเลยได้กระทำผิดในคดีที่โจทก์ฟ้องนี้ ฉะนั้นเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยบางคนไม่มีความผิด คดีเฉพาะตัวจำเลยที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าไม่มีความผิดนั้น ได้ชื่อว่าศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โจทก์จึงมีสิทธิฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ศาลอุทธรณ์ปล่อยไปนั้น ฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาตามมาตรา 249 ได้ ไม่ต้องห้ามตามป.ม.วิ.อาญามาตรา 219
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 4/2495)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสมคบกันฆ่านายสนิทตายโดยเจตนา ขอให้ลงโทษตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๒๔๙, ๖๓
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยกระทำผิดจริง แต่เป็นเพียงความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๒๕๑ จึงพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามมาตรา ๒๕๑
โจทก์, จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า นายโถจำเลยผู้เดียวฆ่านายสนิทตาย จึงพิพากษาแก้ว่านายโถจำเลยผิดตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๒๔๙ เฉพาะตัวนายเคลีย นายแฉล้มให้ยกฟ้อง
โจทก์และนายโถ จำเลยฏีกา
แต่ภายหลังนายโถหลบหนีเรือนจำไป จึงจำหน่ายคดีส่วนตัวนายโถเสีย
ศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้ว คดีนี้มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิฎีกาขอให้ลงโทษนายแฉล้มนายเคลียจำเลยฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาตามฟ้องของโจทก์หรือไม่ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นจะได้พิพากษาลงโทษนายแฉล้มนายเคลียเพียงฐานสมคบกับนายโถฆ่านายสนิทตายโดยไม่เจตนา ก็ดี ก็ยังเป็นการยืนยันว่า จำเลยทั้ง ๒ คนนี้ได้กระทำความผิดในคดีนี้ที่โจทก์ฟ้อง และลงโทษมา แต่ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดว่า จำเลยทั้ง ๒ คนไม่มีความผิด คดีเฉพาะตัวจำเลยทั้ง ๒ คนนี้ ได้ชื่อว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นโจทก์จึงมีสิทธิฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องของโจทก์ได้
ส่วนข้อเท็จจริงฟังว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง จึงพิพากษาแก้ศาลอุทธรณ์ว่า นายแฉล้มนายเคลีย
จำเลยผิดตาม ก.ม.ลักษณะอาญา ม.๒๔๙ ฯ
(นนทปัญญา – ธรรมบัณฑิต – นิติธรรม)
ศาลจังหวัดสิงหบุรี – นายจรัส สาระนาค
ศาลอุทธรณ์ – หลวงสุธรรมานุวัฒน์

Share