คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1929/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อำนาจสั่งจำหน่ายคดีในกรณีทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 นั้น กฎหมายให้อำนาจศาลไว้เพื่อใช้ตามสมควรแก่กรณี ไม่ใช่บังคับว่าจะต้องจำหน่ายคดีเสมอไป ถ้าศาลใช้ดุลพินิจไม่สั่งจำหน่ายคดีก็ต้องชี้ขาดตัดสินไปตามมาตรา 133 กรมโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ละเว้นไม่ปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งของโจทก์ ไม่ควบคุมดูแลและไม่ตรวจสอบติดตามว่าได้ใช้เงินจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นไปเกินกว่างบประมาณที่โจทก์จัดสรร และไม่รายงานให้จำเลยที่ 1 ทราบ ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ได้รายงานถึงจำนวนหนี้ให้โจทก์ทราบก่อนวันสิ้นปีงบประมาณทำให้โจทก์ไม่สามารถขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม เป็นเหตุให้โจทก์ต้องชำระเงินให้กับห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. เป็นคำฟ้องให้รับผิดในลักษณะละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี มิใช่เป็นการฟ้องใช้สิทธิไล่เบี้ยซึ่งมีอายุความ 10 ปี จำเลยที่ 1 จัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. นำไปใช้ในหน่วยงานในสังกัดของกรมโจทก์หลังจากหมดงบประมาณแล้ว แต่โจทก์ก็รับแจ้งให้จัดสรรงบประมาณเพื่อนำไปชำระหนี้ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดว. ซึ่งโจทก์ก็รับรู้และยอมรับการปฏิบัติดังกล่าวเรื่อยมากรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ทำไปตามอำนาจหน้าที่ในฐานะผู้บริหารหน่วยงานไม่ใช่ทำไปโดยขัดกับความประสงค์อันแท้จริงของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 396 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษเป็นส่วนราชการของโจทก์ มีจำเลยที่ 1 ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการตำรวจในจังหวัดศรีสะเกษและมีหน้าที่ในการบริหารงบประมาณรายจ่ายที่โจทก์จัดสรรมาให้ จัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นแทนโจทก์เท่าที่กำหนดไว้ตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณพ.ศ. 2502 จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งรองสารวัตรประจำกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ ทำหน้าที่พลาธิการ มีหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินการจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ รวมทั้งน้ำมันหล่อลื่นและน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในราชการของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ โดยเสนออนุมัติการดำเนินการจากจำเลยที่ 1และมีหน้าที่ควบคุมให้จำเลยที่ 3 จัดทำบันทึกการเบิกจ่ายน้ำมันหล่อลื่น น้ำมันเชื้อเพลิงไว้เพื่อตรวจสอบและเมื่อใกล้สิ้นปีงบประมาณจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องรายงานเรื่องดังกล่าวต่อจำเลยที่ 1 เพื่อจำเลยที่ 1 จะได้รายงานให้โจทก์ทราบว่ากองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษได้ก่อหนี้ผูกพันไว้กับบุคคลอื่นอย่างไรบ้าง จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งพลขับของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำหน้าที่ควบคุมการเบิกจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น รวบรวมสถิติการเบิกจ่ายน้ำมันดังกล่าว แล้วรายงานให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบ เมื่อระหว่างปีงบประมาณ 2521 โจทก์ได้จัดสรรงบประมาณหมวดค่าวัสดุประเภทน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นมาให้กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ เป็นเงิน 2,300,061 บาท จำเลยที่ 1 ดำเนินการจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นจากห้างหุ้นส่วนจำกัดวีสมหมายผู้ค้าน้ำมันในจังหวัดศรีสะเกษจนครบถ้วนตามจำนวนเงินงบประมาณแล้วและในระหว่างปีงบประมาณดังกล่าวจำเลยที่ 1ได้สั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นชนิดต่าง ๆโดยสั่งซื้อด้วยตนเองและยอมให้ผู้อื่นสั่งซื้อในนามของโจทก์จากห้างหุ้นส่วนจำกัดวีสมหมายเพิ่มอีก 298 ครั้ง รวมเป็นเงินค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นทั้งสิ้น 1,098,993.83 บาทอันเป็นการก่อหนี้ผูกพันโจทก์โดยไม่ได้รับอนุมัติจากโจทก์และเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ ขัดกับความประสงค์อันแท้จริงของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 1 ควรจะได้รู้สึกเช่นนั้นทั้งโจทก์ไม่ได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ต้องชำระค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นพร้อมทั้งดอกเบี้ย ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,226,474.14 บาท แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดวีสมหมายตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 585/2528 ของศาลชั้นต้นจำเลยที่ 1 ต้องชดใช้เงินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2522 มาตรา 26 และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 396 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ละเว้นไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ระเบียบและคำสั่งของโจทก์ โดยเฉพาะเมื่อใกล้จะสิ้นปีงบประมาณ 2526 จำเลยที่ 2 ไม่รายงานให้จำเลยที่ 1 ทราบว่ากองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษก่อหนี้ผูกพันกับห้างหุ้นส่วนจำกัดวีสมหมาย โดยสั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นเกินกว่างบประมาณรายจ่ายที่โจทก์จัดสรรมาให้เป็นเงิน 1,098,993.83 บาท ทำให้จำเลยที่ 1ไม่ได้รายงานถึงหนี้ดังกล่าวให้โจทก์ทราบก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2526โจทก์จึงไม่อาจดำเนินการขออนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมเพื่อนำมาชำระหนี้ได้ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องใช้เงินให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดวีสมหมายตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1ใช้เงิน 1,226,474.14 บาท ให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระแล้ว แต่จำเลยทั้งสามไม่ยอมชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 มกราคม 2530จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า วิธีปฏิบัติในการจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นเพื่อใช้เติมรถยนต์ของทางราชการในสังกัดกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษนั้นจะมีการจัดซื้อแทบทุกวันติดต่อกันไป จึงต้องจัดซื้อโดยวิธีการซื้อเชื่อเมื่อได้รับเงินจัดสรรมาแล้วก็จะดำเนินการเบิกจ่ายใช้หนี้ให้แก่ผู้ขาย หากได้มาไม่พอจะชำระบางส่วนและติดค้างชำระส่วนที่เหลือ พร้อมกับขอซื้อเชื่อเพื่อใช้ปฏิบัติหน้าที่ราชการจนกว่าจะได้รับจัดสรรเงินงวดต่อไปจึงเป็นหนี้ผูกพันตลอดมาจนถึงปลายปีงบประมาณ การที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติเช่นนี้เป็นการบริหารงานจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงตามปกติหาใช่เป็นการก่อหนี้ผูกพันโจทก์ไม่ จำเลยที่ 1 จึงกระทำได้โดยมิต้องขออนุมัติจากโจทก์เพราะจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ในการบริหารงานของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ จำเลยที่ 1กระทำการดังกล่าวก็เพื่อป้องกันมิให้การปฏิบัติหน้าที่โดยใช้รถยนต์หยุดชะงักอันจะเกิดความเสียหาย ซึ่งเป็นความประสงค์ของโจทก์จึงไม่จำต้องให้สัตยาบัน การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดวีสมหมายฟ้องโจทก์และจำเลยที่ 1 ให้ร่วมกันชำระหนี้ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อและศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมนั้นหาใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 ไม่ ทั้งนี้เพราะในปีงบประมาณ 2526กองบัญชาการตำรวจภูธร 2 จัดสรรเงินงบประมาณมาให้กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษไม่เพียงพอต่อความจำเป็นในการใช้จ่ายบริหารงาน จึงต้องเป็นหนี้ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว และในวันสิ้นปีงบประมาณ 2526 ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษก็ได้รายงานถึงโจทก์อ้างเหตุความจำเป็นที่ต้องเป็นหนี้ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและขอให้โจทก์จัดสรรเงินมาใช้หนี้การปฏิบัติเช่นนี้เป็นไปตามระเบียบที่เคยปฏิบัติมา โจทก์เคยอนุมัติในหลักการพร้อมกับส่งเรื่องให้กองบัญชาการตำรวจภูธร 2ตรวจสอบข้อเท็จจริงและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากงบประมาณของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษไม่พอจ่ายก็ให้พิจารณาสนับสนุนตามความจำเป็นจากงบประมาณที่โจทก์จะจัดสรรให้ต่อไปโดยโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างว่าจะต้องถึงขั้นดำเนินการตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณเพื่อขออนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะต้องรับผิดกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ถึงการละเมิดและตัวผู้รับผิดคดีโจทก์จึงขาดอายุความ แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 1กระทำผิดระเบียบแบบแผนแต่โจทก์ก็ได้รับประโยชน์เพราะได้มีการนำน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นมาใช้เพื่อประโยชน์ของโจทก์เอง จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่พลาธิการกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษโดยเป็นเพียงพลขับมีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยของยานพาหนะในเขตท้องที่กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ มิได้มีหน้าที่ควบคุมดูแลการเบิกจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงิน 1,226,474.14 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่19 มกราคม 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายโดยเป็นกรมในรัฐบาล จำเลยทั้งสามเป็นข้าราชการในสังกัดโจทก์ ในปีงบประมาณ 2526 จำเลยที่ 1ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ มีหน้าที่บริหารงานในหน้าที่กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษซึ่งรวมทั้งงานบริหารงานประมาณรายจ่ายที่โจทก์จัดสรรมาให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งรองสารวัตรประจำกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ ทำหน้าที่พลาธิการส่วนจำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งพลขับของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ อยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และที่ 2ทำหน้าที่ตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย ในปีงบประมาณ 2526หลังจากจำเลยที่ 1 จัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นจากห้างหุ้นส่วนจำกัดวีสมหมายจนครบตามจำนวนงบประมาณที่โจทก์จัดสรรมาให้แล้ว จำเลยที่ 1 ยังได้จัดซื้อน้ำมันดังกล่าวจากห้างหุ้นส่วนจำกัดวีสมหมายไปใช้ในราชการของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษเพิ่มอีก 298 ครั้ง เป็นจำนวนเงิน1,098,993.83 บาท ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดวีสมหมายได้ฟ้องโจทก์และจำเลยที่ 1 ให้ร่วมกันรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 1,226,474.14 บาทปรากฏตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 585/2528 ของศาลชั้นต้นโจทก์ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดวีสมหมายไปแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 หรือไม่โดยโจทก์ฎีกาในข้อนี้ว่า จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2535 ศาลมีคำสั่งว่า รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 สำเนาให้โจทก์แก้และให้จำเลยที่ 1 นำส่งภายใน 7 วันถ้าไม่มีผู้รับให้ปิด จำเลยที่ 1 ไม่นำส่งตามคำสั่งของศาลปรากฏตามรายงานของเจ้าหน้าที่ศาลลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2535จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1ต้องมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ทิ้งฟ้องอุทธรณ์และให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความโดยไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เห็นว่าอำนาจสั่งจำหน่ายคดีในกรณีทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 นั้น กฎหมายให้อำนาจศาลไว้เพื่อใช้ตามควรแก่กรณี ไม่ใช่เป็นบทบัญญัติบังคับว่าจะต้องจำหน่ายคดีเสมอไป ถ้าศาลใช้ดุลพินิจไม่สั่งจำหน่ายคดีก็ต้องวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 133 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยคดีไปโดยมิได้สั่งจำหน่ายฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 นั้น เป็นการใช้ดุลพินิจตามความแก่กรณีแล้วและมีอำนาจวินิจฉัยฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ได้ตามกฎหมายฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปนี้ว่า ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความแล้วหรือไม่ โจทก์ฎีกาในข้อนี้ว่า ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2ยังไม่ขาดอายุความ เนื่องจากตามคำฟ้องโจทก์ใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งมีอายุความ 10 ปี เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องพอสรุปได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้ละเว้นไม่ปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งของโจทก์โดยละเว้นไม่ควบคุมดูแลและไม่ตรวจสอบติดตามว่าในปีงบประมาณ 2526 กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษใช้เงินจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นไปเกินกว่างบประมาณที่โจทก์จัดสรรมาให้เป็นจำนวน 1,098,993.83 บาท โดยไม่รายงานให้จำเลยที่ 1 ทราบและทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ได้รายงานถึงหนี้จำนวนดังกล่าวให้โจทก์ทราบก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2526 ทำให้โจทก์ไม่สามารถขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดวีสมหมาย จำเลยที่ 2ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนโจทก์ซึ่งเป็นการฟ้องให้รับผิดในลักษณะละเมิด ต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ทางพิจารณาแม้จะไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อไรก็ตามแต่ได้ความตามหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเอกสารหมาย ป.จ.1ว่าโจทก์โดยพลตำรวจเอกณรงค์ มหานนท์ ได้มอบอำนาจให้นายจำลอง ราษฎร์ประเสริฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2530ซึ่งถือได้ว่าเป็นวันที่โจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่ในวันที่ดังกล่าวแล้วแต่โจทก์เพิ่งมาฟ้องคดีนี้ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2531 ซึ่งเกินกว่าหนึ่งปีไปแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความและกรณีเช่นนี้หาใช่เป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งมีอายุความ 10 ปี ดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาไม่ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 396 หรือไม่ โจทก์ฎีกาในข้อนี้ว่าเงินงบประมาณเมื่อได้รับมาแล้วจำเลยที่ 1 จะตั้งกรรมการพิจารณาว่าจะจัดสรรเงินนั้นไปจ่ายในส่วนใดบ้างแล้วเสนอไปยังกองบังคับการตามขั้นตอนจนถึงโจทก์ เมื่อใช้จ่ายเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติหมดแล้วจะไปก่อหนี้ผูกพันภายในปีงบประมาณไม่ได้หากงบประมาณไม่พอต้องทำเรื่องของบประมาณเพิ่มเติมเสนอผู้บังคับบัญชาไปตามลำดับชั้น การที่จำเลยที่ 1 ก่อหนี้ผูกพันค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าน้ำมันหล่อลื่นในปีงบประมาณ 2526จำนวน 1,098,993.83 บาท โดยไม่ได้ของบประมาณเพิ่มเติมจากโจทก์ก่อน เป็นการเข้าจัดการอันเป็นการขัดกับความประสงค์ตามที่จะพึงสันนิษฐานได้ จำเลยที่ 1 ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การที่ได้จัดการนั้นเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 396 บัญญัติว่า”ถ้าการที่เข้าจัดการงานนั้นเป็นการขัดกับความประสงค์อันแท้จริงของตัวการก็ดีหรือขัดกับความประสงค์ตามที่พึงสันนิษฐานได้ก็ดีและผู้จัดการก็ควรจะได้รู้สึกเช่นนั้นแล้วด้วยไซร้ ท่านว่าผู้จัดการจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตัวการเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่ที่ได้เข้าจัดการนั้นแม้ทั้งผู้จัดการจะมิได้มีความผิดประการอื่น” หมายความว่า ผู้จัดการได้เข้าจัดการงานอันเป็นการขัดกับความประสงค์อันแท้จริงของตัวการหรือขัดกับความประสงค์ตามที่ถึงสันนิษฐานได้ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าตัวการไม่ประสงค์เช่นนั้น หรือน่าจะรู้ว่าตัวการไม่ประสงค์เช่นนั้น แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นที่จำเลยที่ 1จัดซื้อจากห้างหุ้นส่วนจำกัดวีสมหมายนั้น จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษได้สั่งซื้อไปใช้ในราชการของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของโจทก์และทางจังหวัดศรีสะเกษก็เคยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์จัดสรรงบประมาณเพื่อนำไปชำระหนี้ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดวีสมหมาย แต่โจทก์ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษก็เคยเป็นหนี้ห้างหุ้นส่วนจำกัดวีสมหมายหลายครั้ง เมื่อทางจังหวัดศรีสะเกษรายงานเรื่องไปให้โจทก์ทราบ โจทก์ก็จัดสรรงบประมาณไปชำระหนี้ทุกครั้ง ดังนี้ แม้ว่าจำเลยที่ 1 จะจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นจากห้างหุ้นส่วนจำกัดวีสมหมายหลังจากหมดงบประมาณที่โจทก์จัดสรรมาให้ในปีงบประมาณ 2526 แล้วก็ตามแต่ก็เป็นการจัดซื้อมาเพื่อใช้ในราชการของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษตามที่เคยปฏิบัติมาและโจทก์เองก็รับรู้และยอมรับข้อปฏิบัติดังกล่าว กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1ทำไปตามอำนาจหน้าที่ในฐานะผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษซึ่งมีหน้าที่บริหารงานของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษแทนโจทก์ หาใช่ทำไปโดยขัดกับความประสงค์อันแท้จริงของโจทก์ดังที่โจทก์กล่าวอ้างไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share