แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทำสัญญาจะโอนสิทธิการเช่าตึกแถวให้จำเลยเมื่อจำเลยชำระเงินค่าสิทธิการเช่างวดสุดท้ายแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระเงินงวดสุดท้ายโจทก์จึงบอกเลิกสัญญาซึ่งก็ต้องให้จำเลยกลับคืนสู่ฐานะเดิมและต้องคืนเงินที่รับไว้แล้วให้แก่จำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิริบเงินจำนวนดังกล่าว จำเลยมีสิทธิฟ้องแย้งเรียกเงินจำนวนดังกล่าวได้
ค่าเสียหายที่โจทก์ขอให้นำมาหักจากเงินที่ต้องคืนให้แก่จำเลยเป็นค่าเสียหายที่โจทก์มิได้ฟ้องเรียกจากจำเลยในคดีนี้ และมิได้ให้การแก้ฟ้องแย้งในเรื่องค่าเสียหายดังกล่าวและขอหักไว้ จึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาย่อมไม่รับวินิจฉัย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เช่าตึกแถวพิพาทจากนายเจริญ ลี้สำราญและทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าตึกแถวให้จำเลยในราคา 220,000บาท โดยแบ่งชำระเป็น 3 งวด งวดที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท งวดที่2 เป็นเงิน 100,000 บาท งวดที่ 3 เป็นเงิน 70,000 บาท จำเลยชำระเงินให้โจทก์ 2 งวดและเข้าอยู่ในตึกแถวพิพาทแล้ว แต่ไม่ชำระเงินงวดที่ 3 โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาให้จำเลยและบริวารออกจากตึกแถวพิพาท จำเลยไม่ยอมออกและไม่ชำระเงินงวดที่ 3ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกจากตึกแถวพิพาท และให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกไปจากตึกแถวพิพาท
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกนายเจริญ ลี้สำราญ เข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจำเลยชำระหนี้เป็นเช็คให้โจทก์แล้วแต่โจทก์ไม่ยอมรับ จำเลยไม่ผิดสัญญาโจทก์ไม่มีสิทธิริบเงินที่จำเลยชำระไปแล้วต้องคืนเงินดังกล่าวแก่จำเลยโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเพียงเดือนละ 60 บาท ขอให้โจทก์คืนเงิน 150,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์และโจทก์ร่วมให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของที่ดินและตึกแถวพิพาท โจทก์โอนสิทธิการเช่าให้แก่จำเลยโดยโจทก์ร่วมยินยอม จำเลยไม่ชำระเงินภายในกำหนดเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่จำเลยชำระแล้วได้ จำเลยไม่มีสิทธิฟ้องแย้งเรียกเงินคืนขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากตึกแถวพิพาทให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากตึกแถวพิพาท ให้โจทก์ใช้เงิน150,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียม โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาทแทนโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อฟังว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์ได้บอกเลิกสัญญากับจำเลยโดยชอบแล้วถึงแม้ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 จะบัญญัติไว้ว่าต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งคืนสู่ฐานะเดิมก็จริงแต่จำเลยไม่มีสิทธิฟ้องแย้งเรียกเงินจำนวน 150,000 บาทคืนพร้อมดอกเบี้ยจากโจทก์ได้ เพราะตึกแถวพิพาทตอนให้จำเลยเข้าอยู่อาศัยยังอยู่ในสภาพดีมาก แต่ขณะนี้มีสภาพเก่ามากเพราะจำเลยและบริวารไม่ดูแลรักษาอย่างวิญญูชนทั่วไปและทางราชการได้มีพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินซึ่งอยู่ใกล้ตึกแถวพิพาทนี้อันทำให้ราคาตึกแถวพิพาทลดลง หากจะโอนสิทธิการเช่าต่อให้บุคคลอื่นก็จะไม่ได้ในราคา 220,000 บาทโจทก์เสียหายมาก ขณะโจทก์เข้าครอบครองตึกแถวพิพาทพบว่ามีการทำลายบันไดภายใน ท่อประปา ตู้กระจก และจำเลยได้ค้างค่าน้ำประปาค่ากระแสไฟฟ้า รวมแล้วประมาณ 30,000 บาทเศษ ซึ่งโจทก์ได้ฟ้องจำเลย จำเลยยอมใช้ให้ และที่ฎีกาว่าโจทก์ต้องเสียเงินเป็นค่าโอนสิทธิการเช่าและต่อเวลาเช่าให้โจทก์ร่วมเป็นเงิน 35,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งโจทก์ได้เอาจากเงินจำนวน 150,000 บาท ที่รับจากจำเลยชำระให้โจทก์ร่วม โจทก์ต้องมีสิทธิหักเงิน 35,000 บาทและค่าเสียหายตามคำพิพากษาออกจากเงินจำนวน 150,000 ด้วย ซึ่งมีจำนวนพอ ๆ กัน โจทก์จึงมีสิทธิริบเงินจำนวน 150,000 บาทได้ขอพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิรับเงินจำนวน 150,000 บาทของจำเลยได้นั้น เห็นว่าเมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญา ก็ต้องให้จำเลยกลับคืนสู่ฐานะเดิมโจทก์ต้องคืนเงินจำนวน 150,000 บาทให้แก่จำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิริบเงินจำนวนดังกล่าว จำเลยจึงมีสิทธิฟ้องแย้งเรียกเงินจำนวนดังกล่าวได้ ส่วนความเสียหายที่โจทก์กล่าวมาในฎีกาและขอให้ศาลนำค่าเสียหายตามที่อ้างมาหักจากเงินจำนวนดังกล่าวนั้น เห็นว่าเป็นค่าเสียหายที่โจทก์มิได้ฟ้องเรียกจากจำเลยในคดีนี้และโจทก์มิได้ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยในเรื่องค่าเสียหายดังกล่าวและขอหักไว้ ค่าเสียหายที่โจทก์อ้างว่าถ้าจะให้เช่าตึกแถวพิพาทจะได้ค่าเช่าเดือนละไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท ศาลก็พิพากษาให้จำเลยชดใช้ให้จนกว่าจำเลยจะส่งมอบตึกแถวให้แล้ว ความเสียหายตามที่โจทก์อ้างมาในฎีกาจึงเป็นคนละเรื่องกันมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน.