แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เครื่องหมายการค้าของจำเลยมีตัวเล็ก ๆ ว่า FULYIN อยู่บนอักษร CUPID ซึ่งเป็นอักษรตัวใหญ่เห็นชัดเจนมีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้า CUPID ของโจทก์ จนอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์แม้จำเลยจะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นก่อนโจทก์แต่ก็ปรากฏว่าโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้า CUPID มาก่อนจำเลยทั้งในขณะที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนก็ยังไม่มีสินค้าที่มีเครื่องหมายตามที่ขอจดทะเบียนนั้นออกจำหน่ายโจทก์จึงมีสิทธิดีกว่าจำเลยจำเลยไม่มีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า CUPID
ย่อยาว
จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 48 อักษรโรมัน คำว่า FULYIN CUPID เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2520 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 48 เช่นกัน เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2520 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าแจ้งให้โจทก์ทราบว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือเกือบเหมือนเครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงจดทะเบียนให้โจทก์ไม่ได้จนกว่าจะได้ทำความตกลงหรือนำคดีมาสู่ศาล โจทก์จำเลยตกลงกันไม่ได้ โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องศาล ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า CUPID ดีกว่าจำเลยให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเสีย ถ้าไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า คำว่าคิวพิด แปลว่ากามเทพ เป็นคำสามัญที่รู้กันอยู่ทั่วไป สาธารณชนรวมทั้งจำเลยชอบที่ใช้คำนี้ ขณะจำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ฟูหยิน คิวพิด สินค้าคิวพิดที่โจทก์อ้างไม่มีการวางขายในท้องตลาด จำเลยไม่ได้ลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น เห็นว่าการที่โจทก์จ้างผู้อื่นให้ผลิตเครื่องสำอางภายใต้เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า CUPID ให้โจทก์ โดยผู้ผลิตเป็นผู้ออกแบบรูปกามเทพ และคำว่า CUPID เป็นเครื่องหมายการค้าตามรูปแบบเอกสารหมาย จ.1 จ.2 จ.33 จ.34 และ จ.35 สำหรับใช้กับสินค้าเครื่องสำอางที่โจทก์จ้างให้ผลิต แสดงว่าโจทก์เลือกเอาเครื่องหมายและตัวอักษรดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าโจทก์ และแสดงว่าสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นสินค้าของโจทก์ ฉะนั้นคำว่า CUPID อ่านว่าคิวพิด ในลักษณะนี้จึงไม่ใช่คำสามัญ ตามคำโจทก์และนายสมชายดังกล่าวข้างต้นประกอบคำนางสาวธิดา ทิมดี นางสาวทัศนีย์ มีเทียน พยานโจทก์ ฟังได้ว่ามีการผลิตเครื่องสำอางโดยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว และโจทก์จำหน่ายเครื่องสำอางนั้นมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2514 โดยมีการโฆษณาการจำหน่ายทางหนังสือพิมพ์รายวันเมื่อวันที่ 15 วันที่ 16 มีนาคม 2520 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 จ.4 อันเป็นเวลาก่อนที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า FULYIN CUPID ซึ่งได้ความว่า จำเลยยื่นคำขอเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2520 แต่ยังไม่มีสินค้าจำพวกเครื่องสำอางที่มีเครื่องหมายการค้าตามที่จำเลยขอจดทะเบียนออกจำหน่าย ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่เขียนอักษรตัวเล็ก ๆ ว่า FULYIN อยู่บนอักษร CUPID ซึ่งเป็นอักษรตัวใหญ่เห็นชัดเจนเป็นเครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้า CUPID ของโจทก์อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ นับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน และโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้า CUPID มาก่อนจำเลย ย่อมมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านี้ดีกว่าจำเลย จำเลยไม่มีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า CUPID”
พิพากษายืน