คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19229/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จังหวัดนครพนม เขตเลือกตั้งที่ 4 จนถึงวันที่คณะกรรมการเลือกตั้งมีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครพนม เขตเลือกตั้งที่ 4 ใหม่ ซึ่งมีผลทำให้สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยสิ้นสุดลงนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ยังมีผลบังคับใช้ แม้ต่อมาคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้ทำการยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 แต่ความรับผิดของจำเลยได้เกิดขึ้นก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะถูกยกเลิก โจทก์สามารถอ้างลักษณะของการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนของจำเลยหรือตัวแทน (หัวคะแนน) ตามที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 อันเป็นมูลเหตุให้จำเลยต้องรับผิดคืนเงินต่างๆ แก่โจทก์ เพราะเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยเข้ารับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและมิได้สิ้นผลบังคับไปพร้อมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเลือกตั้ง ได้วินิจฉัยว่า ควรเชื่อได้ว่าตัวแทน (หัวคะแนน) ของจำเลยให้ทรัพย์สินเพื่อจะจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่จำเลย กรณีจึงเข้าหลักเกณฑ์ข้อห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจะจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ตนเองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 เมื่อคณะกรรมการเลือกตั้งมีคำสั่งให้เลือกตั้งใหม่และสมาชิกภาพของจำเลยสิ้นสุดลงเช่นนี้ ถือได้ว่า จำเลยต้องออกจากตำแหน่งเพราะเหตุที่ผู้นั้นได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 97 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 แม้คณะกรรมการเลือกตั้งจะวินิจฉัยต่อไปว่า แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้คัดค้าน (จำเลย) เป็นผู้ก่อหรือสนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำดังกล่าว คงมีผลเพียงว่าจำเลยไม่ถูกดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวเท่านั้น จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นที่ได้มาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งตาม พ.ร.ก.เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมธิการ พ.ศ.2535 ได้ระบุถึงเงินประจำตำแหน่งเงินเพิ่ม เบี้ยประชุม การเดินทางโดยเครื่องบินไว้แล้ว เมื่อจำเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและขณะเดียวกันก็ได้รับตำแหน่งเป็นกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณากฎหมายและปัญหาต่างๆ นอกจากเงินประจำตำแหน่งตามปกติแล้ว จำเลยยังได้รับเบี้ยประชุมกับค่าโดยสารเครื่องบินอีกด้วย ถือว่าเป็นผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยต้องรับผิดชดใช้คืนแก่โจทก์ทั้งสิ้น
สำหรับเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่ผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วยดำเนินงานของจำเลยนั้น จำเลยมีสิทธิขอให้ตั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ การแต่งตั้งดังกล่าวต้องเป็นไปตามประกาศสภาผู้แทนราษฎรเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการตั้งผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฉบับลงวันที่ 12 ตุลาคม 2537 และประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการตั้งผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฉบับลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2539 ตามประกาศทั้งสองฉบับระบุให้ผู้ช่วยดำเนินงานและผู้เชี่ยวชาญได้รับค่าตอบแทนจากโจทก์เป็นรายเดือนในอัตราและกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ดังนั้น การตั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วยดำเนินงานของจำเลยจึงเป็นบุคคลที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมีคำสั่งตั้งขึ้น โดยกระทรวงการคลังอนุมัติให้เบิกจ่ายค่าตอบแทนให้บุคคลดังกล่าวได้ การจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วยดำเนินงานของจำเลยเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับบุคคลดังกล่าว นอกจากนี้ในการรับเงินยังมีการหักภาษีเงินได้ไว้ก่อนแสดงว่าเงินค่าตอบแทนนี้เป็นเงินได้พึงประเมินของบุคคลนั้นที่ต้องนำมาคิดคำนวณการเสียภาษีประจำปีภาษีที่มีเงินได้ด้วย กรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ว่าเป็นประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ผู้นั้นได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว ตามมาตรา 97 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินส่วนนี้ให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงิน 2,147,850.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,022,210 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นได้พิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การ และคำรับของคู่ความแล้วเห็นว่า เพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,198,810 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2549 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ยุติว่า ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2548 กำหนดเลือกตั้งวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 ปรากฏว่าจำเลยได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จังหวัดนครพนม เขตเลือกตั้งที่ 4 ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีคำวินิจฉัยที่ 131/2549 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2549 ว่า จากการสืบสวนสอบสวนเชื่อได้ว่าตัวแทนของผู้ถูกคัดค้าน (หัวคะแนนของจำเลย) ได้ให้เสื้อคลุมสีน้ำเงิน มีชื่อสัญลักษณ์ของพรรคกับชื่อของจำเลยพร้อมให้เงินคนละ 200 บาท เพื่อจะจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ผู้คัดค้าน (จำเลย) อันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มีผลทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม เขตเลือกตั้งที่ 4 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกคัดค้านมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งมีผลทำให้สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยสิ้นสุดลงนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัยนี้ รายละเอียดตามสำเนาคำวินิจฉัย นับแต่จำเลยได้รับการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 ถึงเดือนมกราคม 2549 จำเลยได้รับเงินประจำตำแหน่งหลังหักภาษีเงินได้ 1,075,600 บาท เบี้ยประชุมกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการต่างๆ เป็นเงิน 101,500 บาท และค่าเดินทางโดยเครื่องบินเป็นเงิน 21,710 บาท นอกจากนี้โจทก์ได้แต่งตั้งนายณพจน์กร เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัวจำเลยกับแต่งตั้งนายวิทยา นายสมศักดิ์ นายไพฑูรย์ นายเสน่ห์ และนายสุรัช เป็นผู้ช่วยดำเนินงานของจำเลย นับแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 ถึงเดือนมกราคม 2549 โจทก์ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้นายณพจน์กรเป็นเงิน 215,300 บาท จ่ายค่าตอบแทนให้นายวิทยา นายสมศักดิ์ นายไพฑูรย์ นายเสน่ห์ และนายสุรัช คนละ 117,620 บาท รวม 588,100 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่โจทก์อาศัยเป็นสิทธิเรียกร้องไม่มีผลบังคับใช้ต่อไปแล้ว เห็นว่า นับแต่จำเลยได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จังหวัดนครพนม เขตเลือกตั้งที่ 4 จนถึงวันที่คณะกรรมการเลือกตั้งมีคำวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครพนม เขตเลือกตั้งที่ 4 ใหม่ ซึ่งมีผลทำให้สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยสิ้นสุดลงนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ยังมีผลบังคับใช้ แม้ต่อมาคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ทำการยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 แต่ความรับผิดของจำเลยได้เกิดขึ้นก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 จะถูกยกเลิก โจทก์จึงสามารถอ้างลักษณะของการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนของจำเลยหรือตัวแทน (หัวคะแนน) ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 อันเป็นเหตุให้จำเลยต้องรับผิดคืนเงินต่างๆ แก่โจทก์ เพราะเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยเข้ารับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรและมิได้สิ้นผลบังคับไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด จำเลยอ้างว่าจำเลยไม่ได้กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 นั้น เห็นว่า ตามคำวินิจฉัยสั่งการคณะกรรมการการเลือกตั้ง วินิจฉัยว่าควรเชื่อได้ว่าตัวแทน (หัวคะแนน) ของจำเลยให้ทรัพย์สินเพื่อจะจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่จำเลยกรณีจึงเข้าหลักเกณฑ์ข้อห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจะจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ตนเองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งให้เลือกตั้งใหม่และสมาชิกภาพของจำเลยสิ้นสุดลงเช่นนี้ กรณีถือได้ว่า จำเลยต้องออกจากตำแหน่งเพราะเหตุที่ผู้นั้นได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 97 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 แม้คณะกรรมการการเลือกตั้งจะวินิจฉัยต่อไปว่า แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกคัดค้าน (จำเลย) เป็นผู้ก่อหรือสนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจในกระทำการดังกล่าว คงมีผลเพียงว่าจำเลยไม่ถูกดำเนินคดีอาญา ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเท่านั้น จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นที่ได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งตามพระราชกฤษฎีกา เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการ พ.ศ.2535 ได้ระบุถึงเงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่ม เบี้ยประชุม การเดินทางโดยเครื่องบินไว้แล้ว เมื่อจำเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและในขณะเดียวกันก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณากฎหมายและปัญหาต่างๆ นอกจากเงินประจำตำแหน่งตามปกติแล้ว จำเลยยังได้รับเบี้ยประชุมกับค่าโดยสารเครื่องบินอีกด้วยถือว่า เป็นผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยต้องรับผิดชดใช้คืนแก่โจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,198,810 บาท อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ในประเด็นเดียวกันนี้โจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยให้จำเลยรับผิดคืนเงินรวมเป็นเงิน 941,341.75 บาท เป็นการไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่าจำเลยต้องรับผิดคืนเงินประจำตำแหน่งเบี้ยประชุมกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการต่างๆ และค่าเดินทางโดยเครื่องบินตามฟ้องโจทก์ และพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,198,810 บาท ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยรับผิดเป็นเงิน 941,341.75 บาท จึงเป็นการคิดคำนวณผิดพลาด ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการต่อไปว่าจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้เงินที่โจทก์จ่ายให้แก่ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ช่วยดำเนินงานของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะมีสิทธิขอให้ตั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่การตั้งบุคคลดังกล่าวต้องเป็นไปตามประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการตั้งผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฉบับลงวันที่ 12 ตุลาคม 2537 และประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการตั้งผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฉบับลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2539 ตามประกาศทั้งสองฉบับระบุให้ผู้ช่วยดำเนินงานและผู้เชี่ยวชาญได้รับค่าตอบแทนจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นรายเดือนในอัตราและกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วยดำเนินงานของจำเลยจึงเป็นบุคคลที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมีคำสั่งตั้งขึ้นโดยกระทรวงการคลังได้อนุมัติให้เบิกจ่ายค่าตอบแทนให้บุคคลดังกล่าวได้ ตามสำเนาหนังสือกรมบัญชีกลางลงวันที่ 14 มีนาคม 2548 การจ่ายเงินค่าตอบแทนให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วยดำเนินงานของจำเลยเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับบุคคลดังกล่าว นอกจากนี้ในการรับเงินยังมีการหักภาษีเงินได้ไว้ก่อน แสดงว่าเงินค่าตอบแทนนี้เป็นเงินได้พึงประเมินของบุคคลนั้นที่ต้องนำมาคิดคำนวณการเสียภาษีประจำปีภาษีที่มีเงินได้ด้วย กรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ว่า เป็นประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ผู้นั้นได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวตามมาตรา 97 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินส่วนนี้ให้โจทก์ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share