คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1922/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สามีผู้ตายได้จดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรม ผู้ตายให้ความยินยอมและลงชื่อท้ายบันทึกทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมว่าเป็นคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม สามีผู้ตายแต่ผู้เดียวจึงเป็นผู้จดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรม แม้บันทึกดังกล่าวจะมีข้อความว่าผู้ตายได้รับเป็นมารดาผู้ร้องด้วย ก็ไม่เป็นการรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย เมื่อผู้ตายมิได้จดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรม ดังนี้ ผู้ร้องจึงไม่ใช่บุตรบุญธรรมของผู้ตาย.

ย่อยาว

ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านและผู้ตายเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันแต่บิดามารดาได้ถึงแก่กรรมแล้ว ผู้คัดค้านและภริยาได้ยกผู้ร้อง ซึ่งเป็นบุตรของตนให้เป็นบุตรบุญธรรมของสามีผู้ตายแต่เพียงผู้เดียว ผู้คัดค้านจึงเป็นทายาทซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายทั้งหมด ส่วนผู้ร้องไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของสามีผู้ตายและผู้ตายและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสองแทน
ผู้ร้อง ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องเป็นบุตรบุญะรรมโดยชอบด้วยกฎหมายของสามีผู้ตาย และผู้ตายเจ้ามรดก ผู้ร้องจึงเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกทั้งสองคนแต่เพียงผู้เดียว ผู้คัดค้านไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกรายนี้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าผู้ร้องไม่เป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายจึงถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แต่งตั้งให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทน คงให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกส่วนของสามีผู้ตาย
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในระหว่างการไต่สวน คู่ความท้ากันขอให้ศาลวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า นางสมปอง พงษ์รูป ผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมของนางสำราญ จากฤทธิ์ หรือไม่ หากศาลวินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมของนางสำราญ ผู้คัดค้านขอถอนคำร้องคัดค้านและยอมให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางสำราญต่อไป แห่หากวินิจฉัยว่าผู้ร้องไม่ใช่บุตรบุญธรรมของนางสำราญ ผู้ร้องยอมถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดกและยอมให้ศาลตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนางสำราญโดยต่างไม่ติดใจจะนำพยานมาไต่สวนอีก…
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมเอกสารหมายร.ค.1 ซึ่งเป็นแบบพิมพ์ของทางราชการนั้น คงมีชื่อนายโป๊ะ จาดฤทธิ์แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นที่เป็นผู้รับบุตรบุญธรรม บันทึกต่อท้ายทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมดังกล่าวก็ยังระบุอีกว่า นายโป๊ะจาดฤทธิ์ ได้มายื่นคำร้องของรับนางสาวสมปอง ภาคีเนตร เป็นบุตรบุญธรรมต่อนายทะเบียน เอกสารทั้งสองฉบับไม่ปรากฏว่านางสำราญภรรยาของนายโป๊ะเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมด้วย ตามบันทึกต่อนายทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมคงระบุว่า นางสำราญคู่สมรสของนายโป๊ะได้มาให้ความยินยอมและนางสำราญก็ได้ลงชื่อในท้ายบันทึกเป็นคู่สมรสผู้รับบุตรบุญธรรม จึงรับฟังได้ว่านายโป๊ะแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้จดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรม นางสำราญไม่ได้จดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมแต่อย่างใด บันทึกต่อท้ายทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมเป็นเพียงหลักฐานที่นายทะเบียนได้ทำขึ้นเพื่อแสดงว่า นางสำราญซึ่งเป็นภรรยาของนายโป๊ะ ได้ยินยอมให้นายโป๊ะจดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นเท่านั้น แม้บันทึกดังกล่าวได้มีข้อความว่า นางสำราญได้รับเป็นมารดาของผู้ร้องด้วย ก็ไม่มีผลเป็นการรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย เพราะการรับบุตรบุญธรรมจะมีผลตามกฎหมายเมื่อมีการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1585ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น เมื่อนางสำราญไม่ได้จดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรม ผู้ร้องจึงไม่ใช่บุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสำราญและไม่ใช่ทายาทของนางสำราญ ผู้ร้องต้องถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางสำราญตามคำท้า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share