แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสามีภริยากันเป็นเจ้าของบ้านที่เกิดเหตุซึ่งจำเลยขึงสายทองแดงเปลือยปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้รอบบ้าน แล้วไม่ดูแลให้สายไฟฟ้าดังกล่าวอยู่ในสภาพเรียบร้อยเป็นเหตุให้สายไฟฟ้าตกลงมาพาดรั้ว ผู้ตายไปยืนปัสสาวะริมรั้วจึงถูกกระแสไฟฟ้าดูดถึงแก่ความตายดังนี้ จำเลยได้ชื่อว่าเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ จะต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่ไฟฟ้านั้น ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นแต่เพียงผู้ดูแลบ้านเท่านั้น แม้จะเป็นผู้ว่าจ้างให้ช่างไฟฟ้ามาเดินสายไฟดังกล่าวก็ไม่ใช่ผู้ครอบครองไฟฟ้านั้น จึงไม่ต้องรับผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นมารดานายสมศักดิ์ มาประชุม จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองบ้านเลขที่ 165/17 ในเมืองสมุทรสาคร ได้ร่วมกันจัดให้มีการเดินสายลวดเปลือยรอบบ้านดังกล่าวแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไปในลวดโดยเจตนาให้เป็นอันตรายแก่ผู้ไปสัมผัส แต่จำเลยทั้งสามไม่ตรวจตราดูแลรักษาซ่อมแซม ทำให้ไฟฟ้าดูดนายสมศักดิ์บุตรโจทก์ซึ่งเข้าไปปัสสาวะที่ถนนสาธารณะริมรั้วดังกล่าวถึงแก่ความตาย ขอให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยให้การปฏิเสธความรับผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์40,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสามีภริยากันเป็นเจ้าของบ้านที่เกิดเหตุ มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ดูแล มีรั้วบ้านข้างหน้าด้านล่างก่อด้วยปูนซิเมนต์ ข้างบนเป็นเหล็ก บนรั้วเหล็กจำเลยได้ขึงลวดทองแดงเปลือยปล่อยไฟฟ้าเข้าเพื่อกันขโมย แต่จำเลยไม่ดูแลให้สายไฟฟ้าดังกล่าวอยู่ในสภาพเรียบร้อยเป็นเหตุให้สายไฟฟ้าตกลงมาพาดรั้ว ผู้ตายไปยืนปัสสาวะที่ริมรั้วเป็นเหตุให้ถูกกระแสไฟฟ้าดูดถึงแก่ความตาย ศาลฎีกาเห็นว่าไฟฟ้าเป็นทรัพย์ซึ่งเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ ผู้มีไว้ในความครอบครองจะต้องรับผิดชอบเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่ไฟฟ้านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง เมื่อปรากฏว่าเหตุเกิดเพราะความบกพร่องของจำเลยจำเลยก็ต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่จำเลยที่ 3 เป็นแต่เพียงผู้ดูแลบ้านเท่านั้น แม้จำเลยที่ 3 จะเป็นผู้ว่าจ้างให้ช่างไฟฟ้ามาเดินสายไฟดังกล่าวจำเลยที่ 3 ก็ไม่ใช่ผู้ครอบครองไฟฟ้านั้น จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วยผู้ครอบครองไฟฟ้าซึ่งต้องรับผิดก็คือจำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 3