คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1917/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 ไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสอง โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 จะรับจำนองไว้โดยสุจริตหรือไม่ เมื่อการจำนองไม่มีผลตามกฎหมายเสียแล้ว โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมจำนองนั้นได้ การที่โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้อง จึงมีความหมายรวมอยู่ในตัวว่าโจทก์ทั้งสองขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง เพื่อให้จำเลยทั้งสองสิ้นสิทธิในที่ดินพิพาทจะเข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไปไม่ได้ การที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง จึงเป็นการปรับกฎหมายให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่เข้าใจได้จากรายละเอียดของคำฟ้อง ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
โจทก์ทั้งสองฎีกาขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทโดยข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 แล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง คดีในชั้นฎีกาไม่มีประเด็นโต้เถียงเรื่องความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จึงไม่มีทุนทรัพย์ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 (2) (ก) ท้าย ป.วิ.พ.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เดิมที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทะเบียนเล่ม 15 หน้า 12 สารบบหน้า 60 ตำบลนาพันสาม อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เป็นของนางหริ่ง ขณะนางหริ่งมีชีวิตอยู่ได้ขายที่ดินพิพาทโดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่ส่งมอบการครอบครองให้แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองเข้าครอบครองทำประโยชน์ปลูกบ้านในที่ดินพิพาทร่วมกันทั้งแปลง โดยเจตนาเป็นเจ้าของไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านมานานประมาณ 30 ปีเศษแล้ว หลังจากนางหริ่งถึงแก่ความตายจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทร้องขอรับโอนมรดกที่ดินพิพาทเจ้าพนักงานที่ดินทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2541 ต่อมาจำเลยทั้งสองสมคบกันโดยจำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองค้ำประกันหนี้ของนายสินสามีของจำเลยที่ 1 แก่จำเลยที่ 2 ในวงเงิน 230,000 บาท และจำเลยที่ 1 โต้แย้งคัดค้านการขอสอบเขตที่ดินพิพาทอันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสอง ขอให้พิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3.) เล่ม 15 หน้า 12 สารบบหน้า 60 ตำบลนาพันสาม อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี และห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้อง
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทเป็นของนางหริ่งมารดาจำเลยที่ 1 นางหริ่งไม่เคยขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองเข้ามาทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของนางหริ่ง เมื่อนางหริ่งถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทรับโอนที่ดินพิพาททางมรดก โจทก์ทั้งสองเคยติดต่อขอซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธ โจทก์ทั้งสองทุจริต ทำการรังวัดที่ดินพิพาทเพื่อออกโฉนดที่ดิน เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบจึงคัดค้าน จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองค้ำประกันหนี้ของนายสิน เป็นการกระทำโดยสุจริตและจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 1 เคยบอกกล่าวให้โจทก์ทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท แต่โจทก์ทั้งสองเพิกเฉย ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ห้ามมิให้โจทก์ทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง กับให้โจทก์ทั้งสองและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท
จำเลยที่ 2 ให้การว่า นายสินสามีจำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินจำเลยที่ 2 จำนวน 115,000 บาท จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทค้ำประกันหนี้ดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 โดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า นางหริ่งขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง และโจทก์ทั้งสองได้เข้าครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทแล้ว ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทะเบียนเล่ม 15 หน้า 12 สารบบหน้า 60 ตำบลนาพันสาม อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เป็นของโจทก์ทั้งสอง ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองเข้าไปเกี่ยวข้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง หากพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ 2 รับจำนองที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต ศาลก็ไม่อาจพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมจำนองได้ เพราะเกินกว่าคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ก่อนยื่นฎีกาโจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตาย นายอรุณบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันฟังเป็นยุติว่า ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทะเบียนเล่ม 15 หน้า 12 สารบบหน้า 60 ตำบลนาพันสาม อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เอกสารหมาย จ.1 เดิมเป็นของนางหริ่ง นางหริ่งได้ขายที่ดินพิพาทโดยสละการครอบครองให้โจทก์ทั้งสองเข้าครอบครองที่ดินพิพาทมานานประมาณ 30 ปีเศษแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท นางหริ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2533 ต่อมาวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของนางหริ่งได้จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของตน แล้วนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันไว้แก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ 14 มิถุนายน 2542 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้คงมีว่า การพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นการพิพากษาเกินกว่าคำขอ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ใช่เจ้าของนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 705 การจำนองไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสองผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 จะรับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตหรือไม่ เมื่อการจำนองที่ดินพิพาทไม่มีผลตามกฎหมายเสียแล้ว โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมจำนองนั้นเสียได้ การที่โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้อง จึงมีความหมายรวมอยู่ในตัวว่าโจทก์ทั้งสองขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง เพื่อให้จำเลยทั้งสองสิ้นสิทธิในที่ดินพิพาทจะเข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไปไม่ได้ การพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง จึงเป็นการปรับกฎหมายให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่เข้าใจได้จากรายละเอียดของคำฟ้อง หาเป็นการพิพากษาเกินกว่าคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์ทั้งสองฎีกาขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทโดยข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 แล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง คดีในชั้นฎีกาไม่มีประเด็นโต้เถียงเรื่องความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จึงไม่มีทุนทรัพย์ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 (2) (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โจทก์ทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาอย่างคดีมีทุนทรัพย์จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินมาแก่โจทก์ทั้งสอง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองเสียด้วย คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share