คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1912/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทำไม้โดยตัดฟันไม้ยาง กับจำเลยมีไม้ยางอันเป็นไม้หวงห้าม ยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต และคำขอท้ายฟ้องโจทก์ ได้ระบุอ้าง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 ซึ่งเป็นบทมาตราความผิดและมาตรา 31 ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษ กับอ้างพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2484 มาตรา 69 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 12 ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษผู้ที่ฝ่าฝืนมีไม้ยาง ยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต เพียงแต่โจทก์มิได้อ้าง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3 ที่ให้ยกเลิกความในมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2489 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2503 แล้วบัญญัติความใหม่ขึ้นแทนเท่านั้น ตามความที่บัญญัติขึ้นใหม่ยังคงเรียกว่ามาตรา 31 และ มาตรา 69 อยู่นั่นเอง การที่จำเลยกระทำความผิดหลังจากใช้กฎหมายซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมใหม่แล้ว แต่โจทก์มิได้ระบุอ้างพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงมิทำให้ฟ้องโจทก์ขาดความสมบูรณ์ เมื่อศาลฟังว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืนเป็นความผิดตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งมีบทกำหนดโทษไว้ในมาตรา 31 และ พระราชบัญญัติป่าไม้ มาตรา 69 แล้ว ศาลก็ลงโทษจำเลยตามกำหนดโทษในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522ได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยต่ำกว่า อัตราโทษขั้นต่ำ ตามที่กฎหมายกำหนดที่โจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยเพิ่มขึ้น เพิ่งยกขึ้นในชั้นฎีกา ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเพิ่มขึ้นไม่ได้
โจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษจำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยตามศาลชั้นต้น กับลงโทษปรับจำเลยแล้วรอการลงโทษจำคุกได้ และหากปรากฏว่า ศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับจำเลยน้อยกว่า ที่กฎหมายกำหนด ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษปรับจำเลยตามกฎหมายกำหนดตามที่โจทก์ฎีกาได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำไม้โดยตัดฟันไม้ยางในบริเวณป่าสงวน และมีไม้ยางอันเป็นไม้หวงห้ามที่ยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๑๔, ๓๑ , ๓๕ ฯลฯ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๖๙, ๗๔, ๗๔ ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๒, ๑๗, ๑๘ ฯลฯ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์อ้าง ลงโทษฐานทำไม้หวงห้ามจำคุก ๑ ปี ลงโทษฐานมีไม้แปรรูปจำคุก ๑ ปี รวม ๒ ปี รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๑ ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์อ้าง ลงโทษจำคุกกระทงละ ๑ ปี และปรับกระทงละ ๒,๐๐๐ บาท รวมจำคุก ๒ ปี ปรับ ๔,๐๐๐ บาท รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงให้จำคุก ๑ ปี ปรับ ๒,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ๒ ปี
โจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยต่ำกว่า ที่กฎหมายกำหนด แม้โจทก์จะมิได้ระบุอ้างกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมโทษใหม่ไว้ในฟ้อง ศาลก็ชอบที่จะต้องลงโทษตามกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทำไม้โดยตัดฟันไม้ยาง กับจำเลยมีไม้ยางอันเป็นไม้หวงห้ามยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และคำขอท้ายฟ้องโจทก์ได้ระบุอ้าง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๑๔ ซึ่งเป็นบทมาตราความผิดและมาตรา ๓๑ ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษ กับอ้างพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๖๙ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๒ ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษผู้ที่ฝ่าฝืนมีไม้ยาง ยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่โจทก์มิได้อ้าง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓ที่ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๙ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. ๒๔๘๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๕๐๓ แล้วบัญญัติความใหม่ขึ้นแทนเท่านั้น ตามความที่บัญญัติขึ้นใหม่ยังคงเรียกว่ามาตรา ๓๑ และ มาตรา ๖๙ อยู่นั่นเอง การที่จำเลยกระทำความผิดหลังจากใช้กฎหมายซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมใหม่แล้ว แต่โจทก์มิได้ระบุอ้างพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงมิทำให้ฟ้องโจทก์ขาดความสมบูรณ์ เมื่อศาลฟังว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืนเป็นความผิดตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งมีบทกำหนดโทษไว้ในมาตรา ๓๑ และ พระราชบัญญัติป่าไม้ มาตรา ๖๙ แล้ว ศาลก็ลงโทษจำเลยตามกำหนดโทษในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๒ได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยตาม พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ และ พระราชบัญญัติป่าไม้เป็นสองกระทง จำคุกกระทงละ ๑ ปี ลดโทษแล้วรวมจำคุก ๑ ปี โจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยเพิ่มขึ้น ตาม มาตรา ๓ แห่ง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๒ แต่อย่างใด โจทก์เพิ่งยกขึ้นในชั้นฎีกา ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเพิ่มขึ้นไม่ได้ ส่วนที่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยสองกระทงตามศาลชั้นต้น กับลงโทษปรับจำเลยกระทงละ ๒,๐๐๐ บาท แล้วรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย อันไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๐๖๒/๒๕๒๐ นั้น ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับจำเลยน้อยกว่า ที่กฎหมายกำหนด จึงมิชอบ ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษปรับจำเลยตามกฎหมายกำหนดตามฎีกาของโจทก์ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๑๔, ๓๑ , ๓๕ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓ จำคุก ๑ ปี ปรับ ๒๐,๐๐๐ บาท พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๖๙, ๗๔, ๗๔ ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๒, ๑๘ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓ จำคุก ๑ ปี ปรับ ๑๐,๐๐๐ บาท รวมจำคุก ๒ ปี ปรับ ๓๐,๐๐๐ บาท รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๑ ปี ปรับ ๑๕,๐๐๐ บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ ๒ ปี

Share