คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1909/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นส่วนราชการที่จำเลยที่ 1 สังกัดอยู่ฟ้องให้จำเลยชดใช้ทุน จึงไม่ใช่กรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(11) แต่กรณีนี้มิได้มีบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไปคือ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30(164 เดิม)เมื่อนับจากวันที่จำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการถึงวันฟ้องไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่ง โจทก์ฟ้องในฐานะทายาทโดยธรรมของพันเอก บ. ผู้ค้ำประกันการรับทุนของจำเลยที่ 1 ที่เสียชีวิตเมื่อปี 2529 นั้น แม้ขณะจัดการศพจะมีการลงประกาศพระราชทานเพลิงศพใน หนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่มีจำหน่ายแพร่หลายทั่วประเทศติดต่อกัน ถึง 2 วัน แต่การที่โจทก์เป็นนิติบุคคล และจำเลยทั้งสี่ มิได้นำสืบว่า ได้เชิญผู้แทนของโจทก์ไปในงานศพและโจทก์ได้ทราบ ประกาศดังกล่าวเมื่อใดโดยวิธีใด ข้อนำสืบของจำเลยทั้งสี่ จึงเป็นเพียงการคาดคะเนเอาเองอย่างเลื่อนลอย เมื่อโจทก์ นำสืบรับฟังได้ว่าโจทก์ทราบถึงการตายของพันเอก บ. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2536 และนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2537 ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่ขาด อายุความเช่นเดียวกัน ลักษณะของทุนเป็นเงินทุนของรัฐบาลต่อรัฐบาล การที่จำเลยที่ 1 รับราชการสังกัดโจทก์ได้รับอนุมัติให้ลาราชการไปศึกษาต่อด้วยทุนดังกล่าว โดยสัญญาว่าจะกลับมารับราชการ ในสังกัดโจทก์เป็นการชดใช้ทุน โจทก์จึงมีฐานะเป็นเจ้าของทุน เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่กลับมารับราชการชดใช้ทุนให้ครบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชดใช้ทุนได้ ส่วนที่ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เมื่อได้ความว่าพันเอก บ. ค้ำประกันเฉพาะที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาครั้งแรก 1 ปี 6 เดือน เท่านั้น การที่ต่อมาเมื่อครบกำหนดดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติให้อยู่ศึกษาต่อไปอีกโดยโจทก์ ไม่ได้แจ้งให้พันเอก บ. ทราบหรือรู้เห็นยินยอม พันเอกบ. จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์สำหรับเวลาที่เกินกว่า 1 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดด้วย อำนาจฟ้องเป็น ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกา เห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 ตามสัญญาระบุว่าหากผิดสัญญาจำเลยที่ 1 จะจ่ายเบี้ยปรับ หนึ่งเท่าของเงินที่จะต้องชดใช้ หากไม่ชำระยอมให้คิด ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทั้งเบี้ยปรับและดอกเบี้ยเป็น ค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ที่ศาลอุทธรณ์ ใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงเหลือเพียงครึ่งส่วนและดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี ก็โดยคำนึงถึงทางได้เสียของโจทก์ผู้เป็น เจ้าหนี้ เพราะจำเลยที่ 1 ได้รับราชการชดใช้ทุนบางส่วน ชดใช้เงินเดือนและเงินเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยแล้ว จึงเหมาะสม แก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว เมื่อดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เป็นเบี้ยปรับ เงินจำนวนดังกล่าวจึงมิใช่ดอกเบี้ยค้างส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(มาตรา 166 เดิม)และกรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยไม่เกิน 5 ปี จึงไม่ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศหมายถึงอัตราแลกเปลี่ยนกันได้โดยเสรีในเวลาที่ได้ใช้เงินจริง ซึ่งตามปกติจะคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยผลเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ซึ่งขายเงินตราต่างประเทศในกรุงเทพมหานครเป็นเกณฑ์ แต่เพื่อความสะดวกในการบังคับคดีจึงให้คิดอัตราในวันที่มีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ถ้าไม่มีอัตราในวันดังกล่าวก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราการขายนั้นก่อนวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนเงินเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขณะรับราชการตำแหน่งอาจารย์โทแผนกวิชาวิจัยการศึกษา คณะครุศาสตร์ สังกัดโจทก์ ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาชั้นปริญญาเอก สาขาวิชาประชากรศึกษา ณมหาวิทยาลัยชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนเอไอดีตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2516 เป็นต้นไป จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาไว้แก่โจทก์ว่าเมื่อเสร็จการศึกษาจะกลับมารับราชการในสังกัดโจทก์ หรือในกระทรวง ทบวง กรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควรเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองเท่าของเวลาที่ได้รับทุนหากผิดสัญญายอมชดใช้คืนทุน เงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่มและหรือเงินอื่นใดที่ได้รับจากทางราชการ พร้อมเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของเงินจะต้องชดใช้คืน โดยมีพันเอกบรรจงเป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 กลับมารับราชการในสังกัดโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2521 จนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2526ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ลาราชการเพื่อไปศึกษาชั้นปริญญาเอกสาขาประชากรศึกษาและการศึกษาผู้ใหญ่ ณ มหาวิทยาลัยชิคาโกประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนส่วนตัวอีกโดยได้ทำสัญญาให้ไว้แก่โจทก์อีกฉบับหนึ่งมีเงื่อนไขทำนองเดียวกับสัญญาฉบับแรกต่อมาวันที่ 11 มกราคม 2530 จำเลยที่ 1 ได้ลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2528 เป็นการผิดสัญญา ซึ่งพันเอกบรรจง ผู้ค้ำประกันจะต้องร่วมรับผิดด้วย แต่พันเอกบรรจงถึงแก่ความตายไปก่อนและโจทก์เพิ่งรู้ถึงความตายดังกล่าวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2536 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะทายาทจึงต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 69,986.94 ดอลลาร์สหรัฐ กับ 58,647.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 35,890.74 ดอลลาร์สหรัฐกับ 30,075.80 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกเอาเงินทุนที่โจทก์ออกแทนจำเลยที่ 1 หรือเงินที่โจทก์ออกทดรองให้แก่สถานศึกษาแทนจำเลยที่ 1 ภายในกำหนดอายุความ2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2528 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินทุนเอไอดี เพราะโจทก์ไม่ใช่เจ้าของเงินทุนดังกล่าว จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับเงิน 33,700 ดอลลาร์สหรัฐทั้งโจทก์ไม่ได้จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่มหาวิทยาลัยชิคาโกจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิด จำนวนเงินทุนไม่ถูกต้อง โจทก์คิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดเป็นเวลา 6 ปี 4 เดือน ขัดต่อกฎหมายขณะรับทุนอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 20 บาทและการให้ทุนดังกล่าวกระทำในประเทศไทยจึงต้องคิดตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ ประเทศไทย และในเวลาที่ให้ทุนโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้ชำระเป็นเงินตราต่างประเทศ ในระหว่างศึกษาด้วยทุนส่วนตัวถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติราชการของโจทก์เมื่อรวมกับเวลาที่จำเลยที่ 1 กลับมารับราชการแล้วย่อมเกินกว่าเวลาที่จะต้องรับราชการชดใช้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดเมื่อจำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการและโจทก์อนุมัติแล้วแสดงว่าโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใดจากจำเลยอีก ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การว่า เงินทุนเอไออี ไม่ใช่เงินของโจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่มีหน้าที่ต้องใช้แก่โจทก์เบี้ยปรับสูงเกินส่วนและเกินความเป็นจริงมากทั้งโจทก์มิได้รับความเสียหายจึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับและดอกเบี้ยเพราะเป็นการเรียกค่าเสียหายซ้ำซ้อน และไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยค้างชำระเกิน 5 ปี เพราะขาดอายุความ พันเอกบรรจง จารุวรรณถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2529 โจทก์ได้รู้และควรรู้ได้รู้ถึงความตายของพันเอกบรรจง ตั้งแต่ปี 2529โจทก์ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ได้รับมรดกรวมกันเป็นเงินประมาณ 150,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 17,945.37ดอลลาร์สหรัฐ และ 15,037.90 บาท โดยเงินดอลลาร์สหรัฐให้คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานคร ในวันที่ศาลพิพากษา ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวไม่มีให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันพิพากษาพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี ในต้นเงินแต่ละจำนวนนับตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2530จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องคิดให้ไม่เกิน 5 ปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ในฐานะทายาทผู้รับมรดกของพันเอกบรรจง จารุวรรณ ผู้ค้ำประกันชำระแทน
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน26,918.05 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ให้คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานคร ในวันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวไม่มีก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่าก่อนวันอ่านคำพิพากษากับ 22,556.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2530จนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น แต่ให้คิดดอกเบี้ยก่อนวันฟ้องไม่เกิน 5 ปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะทายาทของพันเอกบรรจง จารุวรรณชำระแทน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ประการต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ทุนเอไอดีและค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน กรณีจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ ตามเอกสารหมาย จ.2 มิได้ฟ้องในฐานะเจ้าของสถานศึกษาฟ้องเรียกเอาค่าธรรมเนียมการเรียนและค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่โจทก์ได้ออกทดรองไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(11)เพราะเจ้าของสถานศึกษาตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงเจ้าของสถานศึกษาที่จำเลยที่ 1 ไปเข้ารับการศึกษามิใช่หมายถึงโจทก์และกรณีเช่นนี้มิได้มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 (มาตรา 164 เดิม) จำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2528 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2537 ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1จึงไม่ขาดอายุความสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งโจทก์ฟ้องในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของพันเอกบรรจง จารุวรรณผู้ค้ำประกันนั้น โจทก์มีนางรุจีรัตน์ เอื้อนิรันดร์เจ้าหน้าที่งานวินัยและนิติการของโจทก์เป็นพยานเบิกความว่าโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 25 มิถุนายน 2536 ทวงถามพันเอกบรรจงให้ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ได้ทำบันทึกลงวันที่1 กรกฎาคม 2536 หน้าซองหนังสือดังกล่าวว่า พันเอกบรรจงถึงแก่ความตายเมื่อปี 2529 ขอส่งเอกสารคืนพร้อมลงลายมือชื่อจำเลยที่ 2 ตามซองและหนังสือทวงถามเอกสารหมาย จ.14 โจทก์ได้รับเอกสารดังกล่าวคืนเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2536 จึงเพิ่งทราบถึงความตายของพันเอกบรรจงในวันดังกล่าวจำเลยทั้งสี่ไม่ได้นำสืบหักล้างพยานหลักฐานดังกล่าวของโจทก์แต่อย่างใด ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่าได้ลงประกาศการพระราชทานเพลิงศพพันเอกบรรจงในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ อันเป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่จำหน่ายแพร่หลายทั่วประเทศเป็นเวลาติดต่อกันถึง 2 วัน ทั้งได้ออกบัตรเชิญและทำหนังสือแจกงานศพตามหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ บัตรเชิญและหนังสือแจกงานศพเอกสารหมาย ล.6 ถึง ล.9โจทก์จึงรู้หรือควรจะได้รู้ถึงความตายของพันเอกบรรจงตั้งแต่วันที่ 26 หรือ 27 กรกฎาคม 2529 อันเป็นวันที่ประกาศในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐนั้นเห็นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล จำเลยทั้งสี่มิได้นำสืบว่า ได้เชิญผู้แทนของโจทก์ไปในงานศพและโจทก์ได้ทราบประกาศในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวเมื่อใดโดยวิธีใดที่จำเลยทั้งสี่อ้างว่าโจทก์รู้หรือควรจะได้รู้ถึงการตายของพันเอกบรรจงจากประกาศหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจึงเป็นเพียงการคาดคะเนเอาเองอย่างเลื่อนลอย เพราะปราศจากพยานหลักฐานอื่นใดสนับสนุนพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า โจทก์ทราบถึงการตายของพันเอกบรรจงเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2536 ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ขาดอายุความ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหรือไม่ โจทก์ได้จ่ายเงินทุนตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ และโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ สมควรวินิจฉัยรวมกัน ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าเมื่อปี 2516จำเลยที่ 1 ซึ่งขณะนั้นรับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย สังกัดโจทก์ได้รับอนุญาตให้ลาไปศึกษาชั้นปริญญาเอกณ มหาวิทยาลัยชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา 2 ครั้ง ครั้งแรกด้วยทุนเอไอดี (ทุนประเภทหนึ่ง ข.) ได้ทำสัญญาไว้แก่โจทก์ตามสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาและฝึกอบรม ณ ต่างประเทศเอกสารหมาย จ.2 โดยมีพันเอกบรรจง จารุวรรณเป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 ครั้งที่ 2 ไปด้วยทุนส่วนตัวได้ทำสัญญาไว้แก่โจทก์ ตามสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาและฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ เอกสารหมาย จ.9 ในปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหรือไม่ โจทก์มีนางรุจีรัตน์ เอื้อนิรันดร์เป็นพยานเบิกความว่า ในการลาไปศึกษาต่อครั้งที่ 1 จำเลยที่ 1ไปด้วยทุนเอไอดี และได้รับเงินเดือนเต็ม เป็นเวลา 4 ปี11 เดือน 15 วัน ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องกลับมารับราชการใช้ทุนเป็นเวลา 9 ปี 11 เดือน แต่จำเลยที่ 1 กลับมารับราชการใช้ทุนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2521 ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2526 เป็นเวลาเพียง 4 ปี 7 เดือน 20 วันเหลือเวลาที่จะต้องรับราชการใช้ทุนอีก 5 ปี 3 เดือน 10 วัน จำเลยที่ 1 ก็ลาไปศึกษาต่อณ ต่างประเทศด้วยทุนส่วนตัว แล้วลาออกจากราชการไปโดยมิได้กลับมารับราชการใช้ทุนดังกล่าว จำเลยที่ 1 มิได้นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์อย่างใดเห็นว่าตามความในข้อ 3 แห่งสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรมณ ต่างประเทศ เอกสารหมาย จ.2 ระบุว่า จำเลยที่ 1 จะกลับมารับราชการต่อในสังกัดโจทก์หรือในกระทรวง ทบวง กรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควรเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองเท่าของเวลาที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่มสุดแต่เวลาใดจะมากกว่ากัน เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่กลับมารับราชการให้ครบกำหนดเวลาตามที่ได้สัญญาไว้ จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดสัญญาส่วนปัญหาที่ว่าโจทก์ได้จ่ายเงินทุนให้จำเลยที่ 1 ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนางรุจีรัตน์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่งานวินัยและนิติการของโจทก์และนายถวัลย์ พลพืชน์ ผู้อำนวยการกองร่วมมือระหว่างประเทศ2 กรมวิเทศสหการเป็นพยานเบิกความฟังประกอบกันว่าจำเลยที่ 1ได้รับทุนเอไอดี 33,700 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน 28,240 บาท ตามหนังสือกรมวิเทศสหการเอกสารหมายจ.15 และรายละเอียดการจ่ายเงินทุนตามเอกสารที่แนบ จำเลยที่ 1อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่าได้รับเงินทุนเอไอดีไปเพียง16,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตามเอกสารการรับทุนหมาย ล.2 เห็นว่ารายละเอียดการรับทุนที่ส่งมาตามหนังสือกรมวิเทศสหการ ฉบับลงวันที่ 23 สิงหาคม 2537 ซึ่งศาลชั้นต้นสั่งรวมสำนวนไว้(สารบัญอันดับ 30) ระบุว่าได้จ่ายเงินทุนให้จำเลยที่ 1รวม 5 ครั้ง เอกสารการรับทุนหมาย ล.2 ที่จำเลยที่ 1 ส่งอ้างเป็นเพียงเอกสารการรับทุนเบื้องต้น และยังมีเอกสารการรับทุนเพิ่มเติมอีก 4 ฉบับซึ่งเมื่อนำจำนวนเงินในเอกสารดังกล่าวมารวมกันแล้วเป็นเงิน 33,700 ดอลลาร์สหรัฐ ตรงตามทางนำสืบของโจทก์ จำเลยทั้งสี่มิได้นำสืบว่าเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสี่มีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับทุนเอไอดีและเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินไปตามฟ้อง สำหรับปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์นั้น ได้ความว่าทุนเอไอดีเป็นทุนที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกามอบให้แก่รัฐบาลไทยตามโครงการช่วยเหลือทางราชการผ่านกรมวิเทศสหการเงินทุนดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเงินทุนระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลและถูกควบคุมดำเนินการโดยทางราชการตามระเบียบแบบแผนที่วางไว้มิใช่เป็นเงินทุนที่จำเลยที่ 1 ได้รับเป็นส่วนตัวหรือติดต่อกันเองโดยมิได้ผ่านหน่วยราชการ การที่จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการในสังกัดโจทก์ ได้รับอนุมัติให้ลาราชการไปศึกษาต่อด้วยทุนดังกล่าวโดยสัญญาว่าจะกลับมารับราชการในสังกัดโจทก์เป็นการชดใช้ทุน โจทก์จึงมีฐานะเป็นเจ้าของเงินทุนดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาโดยไม่กลับมารับราชการชดใช้ทุนตามที่ได้ตกลงไว้โจทก์ในฐานะเจ้าของทุนย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1ชดใช้ทุนแก่โจทก์ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นั้น ได้ความตามคำฟ้องและทางนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาชั้นปริญญาเอกด้วยทุนเอไอดี (ทุนประเภทหนึ่ง ข.) เป็นเวลา1 ปี 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2516 ตามสำเนาคำสั่งเอกสารหมาย จ.1 และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาไว้ตามเอกสารหมายจ.2 โดยมีพันเอกบรรจง จารุวรรณ เป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 เมื่อครบกำหนดตามระยะเวลาดังกล่าวแล้ว (คือวันที่ 16 มิถุนายน 2518) จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติให้อยู่ศึกษาต่ออีกตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2518 ถึงวันที่16 ธันวาคม 2531 โดยไม่ปรากฏว่าการที่โจทก์อนุมัติให้จำเลยที่ 1 ลาศึกษาต่อนี้โจทก์ได้แจ้งให้พันเอกบรรจงทราบและพันเอกบรรจงได้รู้เห็นยินยอมหรือไม่ ดังนั้น คำฟ้องของโจทก์จึงขาดสาระสำคัญที่ทำให้พันเอกบรรจงต้องรับผิดตามระยะเวลาที่โจทก์ได้อนุมัติให้จำเลยที่ 1 ลาศึกษาต่อนอกจากนี้การที่โจทก์อนุมัติให้จำเลยที่ 1 ลาศึกษาต่อไปอีกเกินกว่า 1 ปี 6 เดือน โดยไม่ปรากฏว่าได้แจ้งให้พันเอกบรรจงทราบและพันเอกบรรจงได้ยินยอมในการอนุมัติให้ศึกษาต่อพันเอกบรรจงจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์สำหรับกำหนดระยะเวลาที่เกินกว่า 1 ปี 6 เดือน ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ได้มาทำงานชดใช้ทุนให้แก่โจทก์เป็นเวลาถึง 4 ปี7 เดือน 20 วัน ซึ่งเกินกว่าระยะเวลาสองเท่าของการอนุมัติครั้งแรกคือ 1 ปี 6 เดือน จึงครบกำหนดตามระยะเวลาที่พันเอกบรรจงได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้แล้ว พันเอกบรรจงย่อมสิ้นความผูกพันตามสัญญาค้ำประกันไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อพันเอกบรรจงถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของพันเอกบรรจงย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกันโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ประการสุดท้ายมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับพร้อมดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสี่ และมีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้ด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐหรือไม่ เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ดังวินิจฉัยมาแล้ว ก็คงมีปัญหาเฉพาะจำเลยที่ 1 เท่านั้น เห็นว่าตามสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 4 ระบุว่า หากผิดสัญญาจำเลยที่ 1 จะจ่ายเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของเงินที่จะต้องชดใช้ และข้อ 5 ระบุว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินดังกล่าวยอมให้คิดดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 15 ต่อปี เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกเบี้ยปรับพร้อมดอกเบี้ยได้ ส่วนการเรียกให้ชำระหนี้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐนั้น โจทก์มิได้เจาะจงว่าจำเลยทั้งสี่จะต้องชำระหนี้ด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐ เพียงแต่ระบุจำนวนหนี้ตามข้อเท็จจริงเท่านั้น คำขอบังคับของโจทก์จึงมีลักษณะเป็นการแสดงหนี้เงินเป็นเงินตราต่างประเทศตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า”ถ้าหนี้เงินได้แสดงไว้เป็นเงินตราต่างประเทศท่านว่าจะส่งใช้เป็นเงินไทยก็ได้” เช่นนี้จำเลยทั้งสี่ก็มีสิทธิที่จะเลือกชำระหนี้เป็นเงินไทยได้ ตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิที่จะแสดงจำนวนหนี้ไว้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐอันเป็นเงินตราต่างประเทศได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่าสมควรลดเบี้ยปรับให้จำเลยที่ 1 หรือไม่เพียงใด เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนซึ่งในการพิจารณาว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนหรือไม่ ต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายสำหรับคดีนี้โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้กำหนดเบี้ยปรับไว้ในขณะทำสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศตามเอกสารหมาย จ.2 ว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา จำเลยที่ 1จะชดใช้เงินทุน เงินเดือน และเงินเพิ่มตลอดจนเงินอื่นใดที่จำเลยที่ 1 ได้รับคืนโจทก์ พร้อมเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของเงินที่จะต้องชดใช้คืน จำเลยที่ 1 ได้กลับมารับราชการใช้ทุนบางส่วนเป็นเวลา 4 ปี 7 เดือน 20 วัน และได้ชดใช้เงินเดือนกับเงินเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว คงค้างเฉพาะเงินทุนเอไอดีและค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินเบี้ยปรับที่กำหนดไว้จำนวนหนึ่งเท่าของเงินดังกล่าวจึงเป็นจำนวนสูงเกินส่วนการที่ศาลอุทธรณ์ลดเบี้ยปรับลงเหลือเพียงครึ่งส่วน เป็นการใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงโดยคำนึงถึงทางได้เสียของโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ทุกอย่างเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้วฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปมีว่าโจทก์ควรได้รับดอกเบี้ยอัตราเท่าใด เห็นว่า ดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในข้อ 5 แห่งสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรมณ ต่างประเทศ เอกสารหมาย จ.2 เป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าวิธีหนึ่งอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากกำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้รับราชการชดใช้ทุนบางส่วนทั้งได้ชดใช้เงินเดือนและเงินเพิ่มที่ได้รับในระหว่างลาไปศึกษาต่อพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีให้โจทก์นั้นเป็นการลดเบี้ยปรับลงตามส่วนโดยคำนึงถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายที่ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเกินกว่า 5 ปี หรือไม่นั้น เห็นว่าดอกเบี้ยตามความในข้อ 5 แห่งสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ เอกสารหมาย จ.2 เป็นค่าเสียหายที่กำหนดกันไว้ล่วงหน้าดังวินิจฉัยมาแล้ว เงินจำนวนดังกล่าวจึงมิใช่ดอกเบี้ยค้างส่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33 (มาตรา 166 เดิม) และกรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปีที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยไม่เกิน5 ปี ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
อนึ่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 บัญญัติว่า”ถ้าหนี้เงินได้แสดงไว้เป็นเงินตราต่างประเทศ ท่านว่าจะส่งใช้เป็นเงินไทยก็ได้ การเปลี่ยนเงินนี้ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงิน” อัตราแลกเปลี่ยนที่หมายถึงอัตราแลกเปลี่ยนกันได้โดยเสรีในเวลาที่ได้ใช้เงินจริง ซึ่งตามปกติจะคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ซึ่งขายเงินตราต่างประเทศในกรุงเทพมหานครเป็นเกณฑ์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่เพื่อความสะดวกในการบังคับคดีจึงให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารพาณิชย์ในวันที่มีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ถ้าไม่มีอัตราในวันดังกล่าวก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราการขายเช่นว่านั้นก่อนวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนเงินนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 22,556.85 บาทและจำนวน 26,918.05 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2530จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับเงินดอลลาร์สหรัฐให้คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันที่ศาลฎีกาพิพากษา ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวไม่มีก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันที่ศาลฎีกาพิพากษาแต่ทั้งนี้อัตราแลกเปลี่ยนต้องไม่เกินกว่าอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share