คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1908/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ขณะที่โจทก์เขียนหนังสือพิพาททั้งสองเล่มนั้น โจทก์มีหน้าที่โดยตรงในการประเมินผลการฝึกอบรมของหน่วยงานราชการ ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องจัดทำเอกสารหรือเขียนตำราทางวิชาการเพื่อใช้ในการฝึกอบรม การที่โจทก์เขียนหนังสือดังกล่าวขึ้นจึงไม่ถือว่าเป็นงานที่โจทก์ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ในกรอบงานของโจทก์ และหน่วยงานราชการที่โจทก์สังกัดก็มิได้มีคำสั่งให้โจทก์เขียนหนังสือดังกล่าวหรือมีการจ่ายค่าตอบแทนให้ อีกทั้งโจทก์เขียนหนังสือดังกล่าวนอกเวลาราชการ จึงถือว่าโจทก์เป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ขึ้นเอง
ในการเขียนหนังสือของโจทก์ โจทก์ได้กำหนดเค้าโครงการเขียน และได้คิดกำหนดสารบัญรวมทั้งได้เขียนอธิบายเนื้อหาสาระและรายละเอียดต่าง ๆ แต่ละประเด็นโดยใช้ถ้อยคำและคำอธิบายของโจทก์ใหม่ทั้งหมดตามความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ของโจทก์โดยตรง จึงเป็นงานนิพนธ์ที่โจทก์ทำขึ้นโดยไม่ได้ลอกเลียนงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โจทก์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมหนังสือพิพาททั้งสองเล่มนั้น หาใช่หน่วยราชการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯมาตรา 14 ไม่
แนวความคิด ทฤษฎี และตัวข้อมูลความรู้ไม่ใช่สิ่งที่กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 6 วรรคสอง บุคคลสามารถที่จะนำแนวความคิดทฤษฎี และตัวข้อมูลความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ตราบเท่าที่การใช้ประโยชน์ของบุคคลนั้นไม่เป็นการทำซ้ำ ดัดแปลงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นกล่าวคือหากนำแนวความคิด ทฤษฎี และตัวข้อมูลความรู้ของบุคคลอื่นไปสร้างสรรค์งานวรรณกรรมของตน ก็จะต้องสร้างสรรค์งานนั้นขึ้นมาโดยมีเนื้อหารายละเอียดและลักษณะการแสดงออกซึ่งความคิดของตนเองมิใช่เพียงแต่คัดลอกหรือเลียนแบบงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นในส่วนอันเป็นสาระสำคัญซึ่งถือว่าเป็นการทำซ้ำ หรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 15(1) หากกระทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 27(1)แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน เมื่อปรากฏว่าหนังสือของจำเลยมีข้อความที่เหมือนและคล้ายกับข้อความที่ปรากฏอยู่ในหนังสือของโจทก์ทั้งสองเล่มในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของงานประมาณ 30 หน้า จากจำนวนประมาณ 150 หน้า โดยข้อความบางตอนมีลักษณะเกือบเหมือนกันคำต่อคำ บางตอนมีลักษณะดัดแปลงให้ต่างกันเล็กน้อยและบางตอนก็เพียงแต่ปรับเปลี่ยนหัวข้อเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งยากที่จะเกิดขึ้นได้โดยบังเอิญ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำซ้ำ และดัดแปลงงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อจำเลยกระทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์
จำเลยเป็นผู้ทำซ้ำและดัดแปลงงานวรรณกรรมอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และได้เผยแพร่งานดังกล่าวทั้งภายในและภายนอกหน่วยงานราชการที่จำเลยสังกัด แม้ตั้งราคาจำหน่ายใกล้เคียงกับต้นทุน ไม่ได้หากำไรเท่าธุรกิจเอกชนก็เป็นการกระทำเพื่อหากำไร โดยรู้อยู่แล้วว่างานนั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์
การที่หน่วยงานราชการที่จำเลยสังกัด จัดพิมพ์ตำราต่าง ๆ ตามระเบียบภายในของหน่วยงานดังกล่าวตามขั้นตอน จึงย่อมจะเป็นเหตุให้ไม่อาจทราบในเบื้องต้นได้ว่าหนังสือที่เขียนขึ้นละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์ และต่อมาได้หารือกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้วเห็นว่าหนังสือของจำเลยไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์และจำเลยจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานที่ตนสร้างสรรค์ขึ้นมา และจำเลยจะทำละเมิดลิขสิทธิ์ในหนังสือสองเล่มของโจทก์หรือไม่ ยังเป็นปัญหาที่มีเหตุผลของแต่ละฝ่ายที่หน่วยงานราชการที่จำเลยสังกัดก็ได้ใช้ความพยายามในการแสวงหาข้อยุติอย่างเต็มที่แล้ว ทั้งได้จัดจำหน่ายหนังสือของจำเลยโดยเปิดเผย จึงฟังไม่ได้ว่าหน่วยงานราชการที่จำเลยสังกัดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าหนังสือที่จำเลยเขียนขึ้นโดยการละเมิดลิขสิทธิ์ในวรรณกรรมของโจทก์ แล้วจำหน่ายหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน ซึ่งหนังสือดังกล่าวเพื่อการค้าอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯมาตรา 31(1) และ (2)
ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ในกรณีที่อ้างว่าเป็นการวิจัยและใช้เป็นเอกสารประกอบการสอนโดยไม่ได้แสวงหากำไร โดยมีการอ้างอิงที่มาของข้อความไว้แล้วนั้นประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการคือ (1) เป็นการกระทำต่าง ๆ ตามที่มาตรา 32วรรคสอง และมาตรา 33 บัญญัติไว้ (2) การกระทำนั้นต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และ (3) การกระทำนั้นต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควรเมื่อปรากฏว่าจำเลยได้กระทำการถึงขั้นจัดพิมพ์เพื่อจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไปโดยได้รับค่าตอบแทนงานเขียนดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อหากำไรแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เข้าข้อยกเว้นดังกล่าว ส่วนข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 33นั้น แม้จะปรากฏว่าจำเลยคัด ลอก หรือเลียนงานวรรณกรรมของโจทก์ประมาณ 30 หน้าจากทั้งหมดประมาณ 150 หน้า อันถือได้ว่าเป็นงานบางตอนก็ตาม แต่ปรากฏว่าล้วนเป็นส่วนของเนื้อหาสาระที่สำคัญ และมีปริมาณงานเป็นจำนวนมาก จึงถือได้ว่าเป็นการคัด ลอก หรือเลียนงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเกินสมควร ส่วนการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์นั้น หนังสือของจำเลยดังกล่าวเป็นหนังสือขนาด 8 หน้ายกซึ่งจำเลยสามารถที่จะแสดงการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำเชิงอรรถหรือกล่าวถึงเจ้าของลิขสิทธิ์เมื่อนำข้อความของงานนั้นมาเขียนไว้ในหนังสือของจำเลย การที่จำเลยเพียงแต่อ้างอิงชื่อโจทก์และบุคคลอื่นพร้อมงานเขียนไว้ในหัวข้อเอกสารอ้างอิงท้ายเล่ม ผู้อ่านย่อมไม่สามารถทราบได้ว่าข้อความส่วนใดของงานดังกล่าวเป็นงานเขียนของโจทก์ซึ่งจำเลยคัดลอกมา จึงยังไม่เพียงพอที่จะถือได้ว่าเป็นการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์ อันจะถือได้ว่าเข้าหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 33 ประการแรก ทั้งภายหลังเมื่อมีการฟ้องคดีนี้แล้ว จำเลยก็มิได้ดำเนินการให้ระงับการจำหน่ายหนังสือที่จำเลยทำขึ้น จึงเป็นการแบ่งตลาดของผู้บริโภคซึ่งจะซื้อหนังสือประเภทดังกล่าวออกไปส่วนหนึ่ง อันเป็นการขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของโจทก์ และกระทบถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์เกินสมควร จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์สองประการหลังของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 32 วรรคหนึ่ง ด้วย
จำเลยให้การว่าการจัดพิมพ์หนังสือดังกล่าว จำเลยมิได้แสวงหากำไรทางการค้าแต่กลับอ้างในอุทธรณ์ว่า จำเลยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการของหน่วยราชการที่จำเลยสังกัด ในข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์นอกเหนือคำให้การและเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 38 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทวรรณกรรม คือ หนังสือ “คู่มือการประเมินผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา” ต่อมาโจทก์ได้เพิ่มเติมเนื้อหาการติดตามผลการฝึกอบรมขึ้นอีกเป็นหนังสือ “คู่มือการประเมินและติดตามผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา” และได้อนุญาตให้สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือนสำนักงาน ก.พ.จัดพิมพ์ขึ้นเผยแพร่และใช้เป็นเอกสารประกอบการฝึกอบรม ต่อมาโจทก์ได้มอบหมายให้สวัสดิการสำนักงาน ก.พ. จัดพิมพ์และจำหน่ายโดยได้รับค่าลิขสิทธิ์ จำเลยที่ 1เป็นผู้เขียนหนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” โดยได้คัดลอกทำซ้ำ และหรือดัดแปลงข้อความและสาระสำคัญต่าง ๆ จากหนังสือของโจทก์จำนวน 30 หน้า โดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ จำเลยที่ 2 จัดพิมพ์หนังสือดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ออกจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป อันเป็นการกระทำเพื่อการค้าหากำไร อันเป็นการร่วมละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์จึงได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองหยุดการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งด้วยวาจาและโดยลายลักษณ์อักษร แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้คุณค่าในการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์ในหนังสือดังกล่าวสูญเสียไปสาธารณชนอาจเกิดความสับสนถึงความเป็นผู้สร้างสรรค์งานที่แท้จริงเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองประกาศคำพิพากษาโดยย่อและขอขมาโจทก์ในหนังสือพิมพ์รายวันไทยรัฐและมติชนเป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์เป็นข้าราชการสังกัดสำนักงาน ก.พ. ปฏิบัติหน้าที่เป็นวิทยากรในการฝึกอบรม หนังสือตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเล่มเป็นการนำเอางานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมารวบรวมไว้ตามคำสั่งหรืออยู่ในความควบคุมของหน่วยงานราชการที่โจทก์สังกัดอยู่และไม่มีการตกลงกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ในหนังสือตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเล่ม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง หนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” ของจำเลยที่ 1 เป็นตำราและเอกสารประกอบการสอนของจำเลยที่ 1 การจัดพิมพ์หนังสือดังกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้แสวงหากำไรทางการค้า หนังสือดังกล่าวเป็นการรวบรวมวิชาการจากแหล่งต่าง ๆ มาไว้ โดยมีการแต่งเพิ่มเติมเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หากมีการกล่าวอ้างถึงผลงานของผู้ใดก็มีการกล่าวอ้างระบุถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ไว้ด้วย จำเลยที่ 1 ก็ได้ระบุถึงความเป็นเจ้าของข้อความนั้นของโจทก์ไว้ทุกแห่งเช่นกัน ไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร ขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า “หนังสือทั้งสองเล่มเป็นงานที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้น โจทก์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยทั้งสองจัดจำหน่ายหนังสือ”กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” เพื่อแสวงหากำไรและเป็นการแข่งขันกับโจทก์ จึงไม่อาจอ้างข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ โจทก์เรียกค่าเสียหายจากรายได้หรือผลกำไรในงานที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา (วันที่ 22 มิถุนายน 2544) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยกให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์มีชื่อเดิมว่า “ปาน” โจทก์รับราชการอยู่ที่ฝ่ายวิจัยและประเมินผล สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือนสำนักงาน ก.พ.โจทก์เป็นผู้เขียนหนังสือ “คู่มือการประเมินผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา” และหนังสือ “คู่มือการประเมินและติดตามผล การฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา” จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ 7 สังกัดมหาวิทยาลัย จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2511 และพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2541 จำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นกรมในทบวงมหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2534 สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานภายในของจำเลยที่ 2 จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2511 เมื่อประมาณปี 2538 ตามระเบียบว่าด้วยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2539 และโครงการจัดตั้งสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนหนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” ขึ้นเมื่อปี 2540 ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2 และจัดจำหน่ายโดยศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในประการแรกว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานหนังสือ “คู่มือการประเมินผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา” และ “คู่มือการประเมินและติดตามผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา” หรือไม่โจทก์เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้เขียนหนังสือ”คู่มือการประเมินผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา” และ”คู่มือการประเมินและติดตามผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา” ขึ้นด้วยความริเริ่มของโจทก์เมื่อปี 2526 และปี 2530 ตามลำดับ ต่อมาสำนักงาน ก.พ. ได้พิมพ์เผยแพร่ให้ปรากฏต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในราชอาณาจักรไทยเมื่อเดือนมกราคม 2527 และเดือนเมษายน 2531 ตามลำดับ โดยระบุชื่อโจทก์เป็นผู้เขียน นางสาวสินี เจริญพจน์ ข้าราชการบำนาญอดีตผู้บังคับบัญชาโดยตรงของโจทก์เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่าพยานเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน หนังสือทั้งสองเล่มที่โจทก์เขียนขึ้นเกิดจากความริเริ่มจัดทำขึ้นด้วยความสมัครใจของโจทก์เอง มิใช่เพราะได้รับคำสั่งหรืออยู่ในความควบคุมของพยานซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของโจทก์ในขณะนั้น และเป็นการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการซึ่งโจทก์มิได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนทางอื่นจากทางราชการ นายพันธุ์เรือง พันธุ์หงส์ รับราชการอยู่ในสำนักงาน ก.พ. โดยเป็นผู้จัดการสวัสดิการ สำนักงาน ก.พ. เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่าพยานได้ออกหนังสือรับรองผลงานหนังสือ “คู่มือการประเมินและติดตามผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา” ที่สวัสดิการสำนักงาน ก.พ. ได้จัดพิมพ์ขึ้น 4ครั้ง เมื่อปี 2535, 2538, 2540 และ 2542 และหนังสือ “คู่มือนักฝึกอบรมมืออาชีพ :การจัดดำเนินการฝึกอบรมอย่างมีประสิทธิผล” ได้จัดพิมพ์ขึ้น 2 ครั้ง เมื่อปี 2539 และ2542 ว่าเป็นผลงานเขียนของโจทก์ เนื่องจากโจทก์เป็นเจ้าของผลงานดังกล่าวข้างต้นโจทก์จึงได้รับค่าลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์หนังสือทุกครั้ง เห็นว่า จากทางนำสืบของโจทก์ปรากฏว่าขณะที่โจทก์เขียนหนังสือ “คู่มือการประเมินผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา” และหนังสือ “คู่มือการประเมินและติดตามผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา” นั้น โจทก์มีหน้าที่โดยตรงในการประเมินผลการฝึกอบรม ไม่มีหน้าที่จะต้องจัดทำเอกสารหรือเขียนตำราทางวิชาการเพื่อใช้ในการฝึกอบรม การที่โจทก์เขียนหนังสือดังกล่าวขึ้น จึงไม่ถือว่าเป็นงานที่โจทก์ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ในกรอบงานของโจทก์ และสำนักงาน ก.พ. ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการที่โจทก์สังกัดก็มิได้มีคำสั่งให้โจทก์เขียนหนังสือดังกล่าวหรือมีการจ่ายค่าตอบแทนให้ นอกจากนั้นนางสาวสินีผู้บังคับบัญชาของโจทก์ยังยืนยันว่า โจทก์เขียนหนังสือทั้งสองเล่มดังกล่าวนอกเวลาราชการ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ขึ้นเอง ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า โจทก์เขียนหนังสือโดยอาศัยเอกสารประกอบการบรรยายเรื่อง “การประเมินผลการฝึกอบรม”ของ Dr. David R. Moers และคัดลอกมาจากหนังสืออื่น ๆ ด้วย โจทก์จึงไม่ได้ลิขสิทธิ์ในหนังสือทั้งสองเล่มที่โจทก์เขียนขึ้นนั้น เห็นว่า ในการเขียนหนังสือของโจทก์ดังกล่าว โจทก์ได้กำหนดเค้าโครงการเขียนและได้คิดกำหนดสารบัญรวมทั้งได้เขียนอธิบายเนื้อหาสาระและรายละเอียดต่าง ๆ แต่ละประเด็นโดยใช้ถ้อยคำและคำอธิบายของโจทก์ใหม่ทั้งหมดตามความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ของโจทก์โดยตรงจึงเป็นงานนิพนธ์ที่โจทก์ทำขึ้นโดยไม่ได้ลอกเลียนงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โจทก์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมหนังสือ “คู่มือการประเมินผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา” และ “คู่มือการประเมินและติดตามผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา” หาใช่สำนักงาน ก.พ. เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 14 ดังที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ไม่ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการต่อมามีว่า จำเลยที่ 1ได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงงานวรรณกรรมอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 เขียนหนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” โดยรวบรวมจากทฤษฎี แนวความคิด และประสบการณ์ของผู้รู้หลายท่านและของจำเลยที่ 1 จากการเป็นอาจารย์สอนนิสิตระดับปริญญาตรีและปริญญาโท รวมทั้งจากความรู้ในเอกสาร”เทคนิคการประเมินและติดตามผล” ซึ่งจัดทำโดยสำนักส่งเสริมและฝึกอบรมของมหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมหนังสือทั้งสองเล่มของโจทก์ เห็นว่า แนวความคิด ทฤษฎี และตัวข้อมูลความรู้ไม่ใช่สิ่งที่กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 6 วรรคสองบุคคลสามารถที่จะนำแนวความคิด ทฤษฎี และตัวข้อมูลความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ตราบเท่าที่การใช้ประโยชน์ของบุคคลนั้นไม่เป็นการทำซ้ำ ดัดแปลงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่น กล่าวโดยเฉพาะก็คือ หากจำเลยที่ 1นำแนวความคิด ทฤษฎี และตัวข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการประเมินและติดตามผลการฝึกอบรมของบุคคลอื่นรวมทั้งของโจทก์ไปสร้างสรรค์งานวรรณกรรมของตน จำเลยที่ 1 จะต้องสร้างสรรค์งานนั้นขึ้นมาโดยมีเนื้อหารายละเอียดและลักษณะการแสดงออกซึ่งความคิดของจำเลยที่ 1 เอง ไม่ใช่เพียงแต่คัดลอกหรือเลียนแบบงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นในส่วนอันเป็นสาระสำคัญซึ่งถือว่าเป็นการทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 15(1) หากจำเลยที่ 1 กระทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 27(1)แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน เมื่อพิจารณาหนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” ของจำเลยที่ 1 แล้ว จะเห็นได้ว่า ในหัวข้อความหมายของการประเมินผล ขั้นตอนในการประเมินผลการฝึกอบรม รูปแบบของรายงานแนวทางเบื้องต้นในการวิเคราะห์โครงการฝึกอบรม การกำหนดขอบเขตและวัตถุประสงค์ของการประเมินผล และการวางแผนประเมินผล มีข้อความที่เหมือนและคล้ายกับข้อความที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ “คู่มือการประเมินผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา”และ “คู่มือการประเมินและติดตามผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา” ของโจทก์ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของงานประมาณ 30 หน้า จากจำนวนประมาณ 150 หน้า ข้อความบางตอนมีลักษณะเกือบเหมือนกันคำต่อคำ บางตอนมีลักษณะดัดแปลงให้ต่างกันเล็กน้อย และบางตอนก็เพียงแต่ปรับเปลี่ยนหัวข้อเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งยากที่จะเกิดขึ้นโดยบังเอิญ จึงฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการทำซ้ำและดัดแปลงงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการต่อมามีว่า จำเลยทั้งสองได้จำหน่ายหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งหนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม”อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์หรือไม่ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการจัดพิมพ์ ส่วนจำเลยที่ 2 จัดพิมพ์หนังสือดังกล่าวออกเผยแพร่โดยผ่านการตรวจตามระเบียบของทางราชการแล้ว เป็นการเผยแพร่เอกสารทางวิชาการ ไม่ได้แสวงหากำไรและไม่ได้จำหน่ายในลักษณะปิดบังซ่อนเร้นแหล่งผลิต จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าหนังสือดังกล่าวละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น เห็นว่า จำเลยทั้งสองให้การว่า การจัดพิมพ์หนังสือดังกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้แสวงหากำไรทางการค้า แต่จำเลยที่ 1 กลับอ้างในอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการของมหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ จึงเป็นอุทธรณ์นอกเหนือคำให้การและเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539มาตรา 38 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงไม่รับวินิจฉัยส่วนปัญหาการกระทำเพื่อหากำไรนั้น ได้ความจากทางนำสืบของจำเลยทั้งสองว่าในการเผยแพร่ตำราและสิ่งตีพิมพ์ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2ไม่ได้มุ่งแสวงผลกำไรแบบธุรกิจเอกชนเพราะตั้งราคาจำหน่ายหนังสือใกล้เคียงกับต้นทุน ส่วนจำเลยที่ 1 ก็ได้รับค่าตอบแทนจากงานเขียน แสดงให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำเพื่อหากำไรแล้ว แม้จะไม่ได้หากำไรเท่าธุรกิจเอกชนก็ตามเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำซ้ำและดัดแปลงงานวรรณกรรมอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ การจำหน่ายหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งหนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม”ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยรู้อยู่แล้วว่างานนั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้จำหน่ายหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งหนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนมหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานราชการ จัดพิมพ์ตำราต่าง ๆ ตามระเบียบว่าด้วยสำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2 โดยมีคณะกรรมการบริหารของสำนักพิมพ์พิจารณาในขั้นต้นและมีบรรณาธิการตรวจคุณภาพ ในการจัดพิมพ์หนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม”ของจำเลยที่ 1 ก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว จึงย่อมจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2ไม่อาจทราบในเบื้องต้นได้ว่าหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ส่วนการจำหน่ายและเผยแพร่ต่อสาธารณชนในระยะต่อมานั้น ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์เองว่า หลังจากโจทก์ร้องเรียนการกระทำของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้าราชการสังกัดมหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2 แล้ว สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2 ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า หนังสือ 2 เล่มที่โจทก์เขียน อาจจะเป็นลิขสิทธิ์ของสำนักงาน ก.พ.ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จึงขอให้มหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2 หารือกรมทรัพย์สินทางปัญญาอันเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยทั้งสองว่ามหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือลงวันที่ 18 มิถุนายน 2542 หารืออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามีหนังสือลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2542ตอบข้อหารือว่า งานที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยข้าราชการในหน่วยงานของรัฐ หรือในการจ้างหรือตามคำสั่ง หรือในความควบคุมของหน่วยงานของรัฐ ลิขสิทธิ์ย่อมตกเป็นของหน่วยงานของรัฐนั้น นอกจากจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษรตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 14 ทบวงมหาวิทยาลัยซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับมหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2 ก็ได้มีหนังสือลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2543 แจ้งผลการพิจารณาการร้องเรียนให้โจทก์ทราบว่า มหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2 ได้หารือกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้วเห็นว่า หนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” ของจำเลยที่ 1ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ทบวงมหาวิทยาลัยเห็นว่า ตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1เป็นการเรียบเรียงหนังสือเพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอน ไม่มีเจตนาเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้า หรือหากำไรเป็นการส่วนตัว จึงยังไม่สมควรดำเนินการทางวินัยจากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 จะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานที่ตนสร้างสรรค์ขึ้นมา และจำเลยที่ 1 จะกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ในหนังสือ 2เล่มของโจทก์ดังกล่าวหรือไม่ ยังเป็นปัญหาที่มีเหตุผลอันควรโต้แย้งและแต่ละฝ่ายอาจมีความเห็นที่แตกต่างกันได้ มหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาระดับสูงก็ได้ใช้ความพยายามในการแสวงหาข้อยุติของปัญหานี้อย่างเต็มที่แล้ว หาได้นิ่งเฉยต่อปัญหาดังกล่าวไม่ ทั้งมหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2 ก็ได้จัดจำหน่ายหนังสือ”กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” โดยเปิดเผย หาได้ปิดบังซ่อนเร้นแต่ประการใดไม่ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าหนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม”จำเลยที่ 1 เขียนขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ แล้วจำหน่ายหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งหนังสือดังกล่าวเพื่อการค้าอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31(1) และ (2)อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ประการต่อมามีว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการวิจัยและใช้เป็นเอกสารประกอบการสอนโดยไม่ได้แสวงหากำไร ทั้งมีการอ้างอิงที่มาของข้อความไว้แล้ว จึงเข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์เห็นว่า ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 นั้น ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ (1) เป็นการกระทำต่าง ๆ ตามที่มาตรา 32 วรรคสองและมาตรา 33 บัญญัติไว้ (2) การกระทำนั้นต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และ (3) การกระทำนั้นต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร แม้ข้อเท็จจริงในคดีนี้จะได้ความจากทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เขียนหนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการสอนและเป็นผลงานทางวิชาการที่จำเลยที่ 1ใช้ประกอบการพิจารณาขอรับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ อันอาจถือได้ว่าเป็นการวิจัยงานหรือทำซ้ำและดัดแปลงโดยผู้สอนเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันศึกษาโดยไม่ได้หากำไร ซึ่งจะเข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 32วรรคสอง (1) และ (7) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ก็ตาม แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการถึงขั้นจัดพิมพ์เพื่อจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป โดยจำเลยที่ 1 ได้รับค่าตอบแทนงานเขียนดังกล่าวแม้จะได้รับในอัตราต่ำสุดก็ตาม ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อหากำไรแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว ส่วนการคัดลอก เลียน หรืออ้างอิงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอันอาจจะเข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537นั้น จะต้องปรากฏว่าเป็นการกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์บางตอนตามสมควรและมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จะคัด ลอกหรือเลียนงานวรรณกรรมของโจทก์จำนวนประมาณ 30 หน้า จากจำนวนทั้งหมดประมาณ150 หน้า อันถือได้ว่าเป็นงานบางตอนก็ตาม แต่ปรากฏว่าการนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์มาบางตอนดังกล่าวล้วนเป็นส่วนของเนื้อหาสาระที่สำคัญ และมีปริมาณงานเป็นจำนวนมากจึงถือได้ว่าเป็นการคัด ลอก หรือเลียนงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเกินสมควรสำหรับปัญหาการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์นั้น ได้ความว่า หนังสือ”กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” ของจำเลยที่ 1 เป็นหนังสือคำอธิบายเกี่ยวกับการฝึกอบรมขนาดกว้างประมาณ 10 นิ้วครึ่ง ยาว 7 นิ้วครึ่ง อันจัดอยู่ในหนังสือประเภทขนาด 8หน้ายก ซึ่งจำเลยที่ 1 สามารถที่จะแสดงการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำเชิงอรรถหรือกล่าวถึงเจ้าของลิขสิทธิ์เมื่อจำเลยที่ 1นำข้อความของงานนั้นมาเขียนไว้ในหนังสือของจำเลยที่ 1 ดังที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำแล้วในส่วนอื่น ๆ ของหนังสือดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 เพียงแต่อ้างอิงถึงชื่อโจทก์และบุคคลอื่นพร้อมงานเขียนรวม 26 รายการ ไว้ในหัวข้อเอกสารอ้างอิงที่ท้ายเล่มในกรณีเช่นนี้ ผู้อ่านย่อมไม่สามารถที่จะทราบได้ว่าข้อความส่วนใดของงานดังกล่าวเป็นงานเขียนของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 1 คัดลอกมา จึงยังไม่เป็นการเพียงพอที่จะถือได้ว่าเป็นการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์ อันจะถือได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เข้าหลักเกณฑ์ประการแรกของข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ส่วนปัญหาหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์สองประการหลังนั้น ปรากฏว่าหนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” มีการจัดพิมพ์จำหน่ายรวม 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 พิมพ์เมื่อปี 2540 จำนวน 500 เล่ม และครั้งที่ 2 พิมพ์เมื่อปี 2541 จำนวน 1,000 เล่ม มีวางจำหน่ายที่ร้านขายหนังสือ “แพร่พิทยา” ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ด้วย ในราคาเล่มละ 165 บาท โดยจำเลยที่ 1 ได้ทำซ้ำและดัดแปลงข้อความและสาระสำคัญต่าง ๆ จากหนังสือของโจทก์จำนวนประมาณ 30 หน้า จากจำนวนทั้งหมดประมาณ 150 หน้า ทั้งภายหลังเมื่อมีการฟ้องคดีนี้แล้ว หนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” ก็ยังมีจำหน่ายอยู่ในร้านขายหนังสือแพร่พิทยา โดยจำเลยที่ 1 มิได้ดำเนินการให้ระงับการจำหน่ายหนังสือที่จำเลยที่ 1จัดทำขึ้น เมื่อจำเลยที่ 1 จัดทำหนังสือซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกับงานที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นออกจำหน่ายจึงเป็นการแบ่งตลาดของผู้บริโภค ซึ่งจะซื้อหนังสือประเภทดังกล่าวออกไปส่วนหนึ่ง อันเป็นการขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของโจทก์และกระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์เกินสมควรการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์สองประการหลังของข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง มาตรา 32 วรรคสอง(1) และ(7) และมาตรา 33 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2ในข้อนี้นั้น เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ของจำเลยที่ 2

ส่วนที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ในปัญหาค่าเสียหายว่า โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายนั้นเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 จัดพิมพ์หนังสือ “กลยุทธ์ในการฝึกอบรม” ออกจำหน่าย 2 ครั้งรวมจำนวน 1,500 เล่ม อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมหนังสือที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้น โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายอยู่ในตัว ส่วนจำนวนค่าเสียหายนั้นเมื่อพิจารณาความเสียหายอันเกิดจากการสูญเสียโอกาสที่โจทก์จะได้รับผลกำไรจากการนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนออกจำหน่ายแล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์มานั้น นับว่าเป็นค่าเสียหายที่เหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้นั้น เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ของจำเลยที่ 2เช่นเดียวกัน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share