คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1906/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามสัญญาให้จะตกเป็นของวัด อ. แต่ก็อยู่ภายใต้บังคับแห่งเงื่อนไขที่ว่า เมื่อผู้ให้วายชนม์แล้วคณะกรรมการจัดการมรดกของผู้ให้เป็นผู้มีอำนาจจัดการเก็บผลรายได้จากที่ดินนั้น เพื่อแบ่งปันแก่วัด อ. และบุคคลอื่นตามส่วนที่กำหนดไว้ในสัญญา คณะกรรมการจัดการมรดกซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยผู้เช่าที่ดินนั้นได้ แม้คำฟ้องจะระบุว่า วัดอ. เป็นโจทก์ แต่ก็ได้บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนถึงอำนาจของผู้จัดการมรดก แสดงให้เห็นว่าโจทก์ฟ้องโดยอาศัยอำนาจของผู้จัดการมรดก หาใช่อาศัยอำนาจของวัด อ. ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ วัด อ. ไม่มีสิทธิที่จะขัดขวางอำนาจจัดการของคณะกรรมการจัดการมรดก เพราะกรรมสิทธิ์ในที่ดินของวัด อ.อยู่ภายใต้เงื่อนไขแห่งสัญญาให้ดังกล่าวเมื่อฟังว่าที่ดินที่จำเลยอยู่ในอำนาจจัดการของคณะกรรมการจัดการมรดก คณะกรรมการจัดการมรดกจะมอบอำนาจฟ้องก่อนทำสัญญาเช่าหรือภายหลังการทำสัญญาเช่าก็ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๘๘ และ ๑๐๙๖ เป็นกรรมสิทธิ์ของพันตำรวจเอกพระยาประสงค์สรรพการ(ยวง เอกะนาค) พระยาประสงค์สรรพการทำนิติกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้แก่วัดอนงคารามโดยมีเงื่อนไขให้ผู้ยกให้มีสิทธิอาศัย และเก็บกินในที่ดินนั้น เมื่อผู้ยกให้ถึงแก่กรรมแล้วให้คณะกรรมการจัดการมรดกของผู้ยกให้ที่ตั้งขึ้นเป็นผู้ทำประโยชน์และเก็บผลรายได้ในที่ดินนั้นแบ่งให้แก่ทายาทและวัดอนงคาราม คณะกรรมการจัดการมรดกได้มอบอำนาจให้นางสัน สังข์ละม่อม เป็นผู้ดูแลเก็บผลรายได้ตลอดจนให้มีอำนาจฟ้องผู้ละเมิดขับไล่ออกจากที่ดิน จำเลยได้ทำสัญญาเช่าที่ดินโฉนดที่ ๑๐๙๖ กับ นางสัน สังข์ละม่อม ผู้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการจัดการมรดกโจทก์เพื่อทำนา หลังจากที่จำเลยได้เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวจนครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาเช่าแล้วจำเลยได้ขนย้ายสัมภาระและที่พักไปจากที่เช่า และส่งมอบที่ดินนั้นคืนแก่โจทก์จำเลยชำระค่าเช่าให้โจทก์ แต่ยังค้างอยู่อีก โจทก์ไม่มีความประสงค์จะให้จำเลยเช่าทำนาในปีต่อไป จึงได้ว่าจ้างบุคคลอื่นไถที่ดินดังกล่าวเพื่อทำประโยชน์ ต่อมาจำเลยบังอาจละเมิดเข้าทำการเพาะปลูกข้าวลงในที่ดินนั้นโดยไม่มีสิทธิจะทำได้โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยออกไปหลายครั้ง จำเลยไม่ยอมออก โจทก์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินจำเลยก็ไม่ยอมออก โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดอนงคาราม สัญญายกให้มิได้กำหนดว่าเป็นสิทธิอาศัยและสิทธิเก็บกินตามกฎหมาย หนังสือมอบอำนาจตามเอกสารท้ายฟ้องไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดี เพราะโจทก์ไม่มีอำนาจจัดการมรดกที่ดินดังกล่าว ทั้งคณะกรรมการเองก็ไม่มีอำนาจฟ้องคดีอยู่แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่เคยผิดนัดชำระค่าเช่านา โจทก์ประสงค์จะให้ผู้อื่นเข้าครอบครองทำสัญญาเช่าด้วยอัตราสูง จึงหาเหตุขับไล่จำเลยระหว่างจำเลยครอบครองทำนาตามสิทธิการเช่าโจทก์ได้นำรถไปไถเพื่อบีบบังคับให้จำเลยออกจากที่นา เป็นการบุกรุกและละเมิดกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจเรียกค่าเสียหาย จำเลยไม่เคยรับแจ้งการบอกเลิกการเช่าจากโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ระหว่างพิจารณา วัดอนงคารามโดยนายสำรวย ศิลปประดิษฐ์ ผู้รับมอบอำนาจยื่นคำร้องว่าผู้ร้องไม่ประสงค์จะฟ้องขับไล่ผู้เช่าที่ดินของผู้ร้องทั้งปวง ไม่เคยมอบอำนาจให้คณะกรรมการจัดการมรดกและนางสัน สังข์ละม่อม ฟ้องขับไล่ผู้เช่า การที่ปรากฏชื่อวัดอนงคารามเป็นโจทก์เป็นการแอบอ้างชื่อ การฟ้องคณะกรรมการจัดการมรดกต้องจัดการด้วยตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๗๒๓ มิใช่โดยตัวแทน ทั้งผู้ร้องได้ฟ้องคณะกรรมการจัดการมรดกและผู้รับมอบอำนาจ ขอให้ถอดถอนผู้จัดการมรดก แต่งตั้งผู้จัดการมรดกใหม่ ถอนสิทธิของผู้รับประโยชน์ตามพินัยกรรม แล้วขอให้มีคำสั่งยกฟ้องคดีนี้ ศาลชั้นต้นสั่งว่า”รับเป็นคำร้องสอดเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๕๗(๒) ฯลฯ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องและฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม และฟังว่าจำเลยค้างชำระค่าเช่า จำเลยได้ออกไปจากที่เช่าแล้วกลับเข้าทำนาอีก เป็นการละเมิดต่อโจทก์ พิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่พิพาท ให้จำเลยเสียค่าเช่าและค่าเสียหายจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดินจำเลย
จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยและจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ที่ดินพิพาทจะเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดอนงคารามตามหนังสือสัญญาให้กรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่ในสัญญานั้นมีข้อความว่า “การใช้หนี้ผู้ให้และผู้รับให้ได้ตกลงกันดังปรากฏตามสัญญาลงวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๔๙๖ ซึ่งต่อท้ายหนังสือสัญญานี้” สัญญาต่อท้ายสัญญาในข้อ ๑ มีความว่า การให้ดังกล่าวมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้ ฯลฯ (๒) เมื่อผู้ถวายวายชนม์แล้วให้แบ่งผลรายได้เป็น ๗ ส่วน ให้วัดอนงคารามสมทบทุนเอกะนาคมูลนิธิเป็นผลรายได้บำรุงพระพุทธศาสนาในด้านการศาสนศึกษา การศิลานุปถัมภ์ และการปฏิสังขรณ์พระอาราม ๑ ส่วน ให้นางสาวประยูร เอกะนาค และนางสัน สังข์ละม่อม คนละ ๒ ส่วน ให้นางสาวแหยม เอกะนาค และเด็กชายเทียมเทพ เอกะนาค คนละ ๑ ส่วน พอได้เลี้ยงชีพ และให้ใช้ประโยชน์ที่ดินนานั้นได้บางส่วนตามแต่ที่คณะกรรมการจัดการมรดกจะพิจารณาเห็นพร้อมกันเป็นเอกฉันท์สมควรแก่กรณีและอัตภาพ ฯลฯ(๖) การเก็บผลรายได้แบ่งปันให้แก่วัดอนงคารามและบุคคลผู้มีสิทธิที่จะพึงได้รับนั้น เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการจัดการมรดกผู้ถวายพร้อมกับผู้มีสิทธิทายาทของผู้ถวายจะปฏิบัติการโดยมิให้เกี่ยวข้องแก่กรมการศาสนาแต่อย่างใด นอกจากทางวัดอนงคารามจะแต่งตั้งกรรมการบางคนเข้าร่วมกับคณะกรรมการจัดการมรดกในเมื่อเห็นเป็นการสมควรแก่กรณีแต่เฉพาะที่เกี่ยวในเรื่องผลรายได้จากที่นาให้เป็นไปอย่างเที่ยงธรรมและเหมาะสม และข้อ ๒ มีความว่า ผู้รับยินดีอนุโมทนารับที่ดินของผู้ให้ไว้เป็นศาสนาสมบัติของวัดอนงคารามและยินยอมตกลงตามเงื่อนไขของผู้ให้ดังกล่าวแล้วในข้อ ๑ นั้นทุกประการ ดังนี้เห็นได้ว่า แม้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามสัญญาให้จะตกเป็นของวัด อนงคาราม แต่ก็อยู่ภายใต้บังคับแห่งเงื่อนไขที่ว่า เมื่อผู้ให้วายชนม์แล้วคณะกรรมการจัดการมรดกของผู้ให้เป็นผู้มีอำนาจจัดการเก็บผลรายได้จากที่ดินนั้นเพื่อแบ่งปันแก่วัดอนงคาราม และบุคคลอื่นตามส่วนที่กำหนดไว้ในสัญญา คณะกรรมการจัดการมรดกซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยผู้เช่าที่ดินนั้นได้ แม้คำฟ้องจะระบุว่า วัดอนงคารามเป็นโจทก์ แต่ก็ได้บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนถึงอำนาจของผู้จัดการมรดก แสดงให้เห็นว่าโจทก์ฟ้องโดยอาศัยอำนาจของผู้จัดการมรดก หาใช่อาศัยอำนาจของวัดอนงคาราม ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ วัดอนงคารามไม่มีสิทธิที่จะขัดขวางอำนาจจัดการของคณะกรรมการจัดการมรดก เพราะกรรมสิทธิ์ในที่ดินของวัด อนงคารามอยู่ภายใต้เงื่อนไขแห่งสัญญาให้ดังกล่าวข้างต้น ที่จำเลยและจำเลยร่วมฎีกาว่าคณะกรรมการมอบให้ฟ้องภายหลังสัญญาเช่า จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามสัญญาเช่า โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องโดยอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๓๓ มาด้วยนั้น เมื่อฟังว่าที่ดินที่จำเลยอยู่ในอำนาจจัดการของคณะกรรมการจัดการมรดก คณะกรรมการจัดการมรดกจะมอบอำนาจฟ้องก่อนทำสัญญาเช่าหรือภายหลังการทำสัญญาเช่าก็ได้ และตามพินัยกรรมของเจ้ามรดกก็มีข้อความให้คณะกรรมการจัดการมรดกที่จะแต่งตั้งตัวแทนได้ หาเป็นการขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าวไม้ ส่วนฎีกาข้ออื่นจำเลยและจำเลยร่วมมิได้ให้การต่อสู้จะยกขึ้นฎีกาไม่ได้
พิพากษายืน

Share