แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เอกสารที่เป็นแต่เพียงคำรับสารภาพของลูกจ้างว่าได้กระทำผิดอย่างใดมาแล้วโดยมีบันทึกแสดงเป็นหลักฐานว่าได้มีการตักเตือนด้วยวาจาจากผู้บังคับบัญชาด้วยเท่านั้นไม่ใช่คำเตือนเป็นหนังสือตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 47(3) เมื่อการตักเตือนด้วยวาจาเป็นโทษทางวินัยอย่างหนึ่งตามระเบียบของนายจ้างดังนั้นการที่ลูกจ้างกระทำผิดและนายจ้างลงโทษโดยการเตือนด้วยวาจาไปแล้วนายจ้างก็จะยกเอาการกระทำเดียวกันนี้มาลงโทษเลิกจ้างลูกจ้างอีกไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้รับกระทำผิด ไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้มีคำสั่งให้จำเลยรับโจทก์ เข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเดิมเสมือนมิได้มีการเลิกจ้าง และให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทุก ๆ เดือนจนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ถ้าจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน ดื่มสุรา เมาอาละวาดภายในบริเวณโรงงานและหลับนอนในขณะปฏิบัติหน้าที่หลายครั้ง และกระทำผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(2) และ (3)และข้อบังคับระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน และคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายจงใจทำให้บริษัทเสียหาย ซึ่งจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่าค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของบริษัท 2 ครั้ง ครั้งแรก นอนหลับในขณะปฏิบัติหน้าที่ ครั้งที่ 2 ดื่มสุราแล้วเมาอาละวาดภายในบริเวณโรงงาน หัวหน้าแผนกได้ตักเตือนแล้วทั้งสองครั้งปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 ซึ่งมีข้อความส่วนใหญ่เช่นเดียวกันแตกต่างกันเฉพาะการกระทำผิด คืด หมาย ล.1 “นอนหลับในขณะปฏิบัติหน้าที่”หมาย ล.2 “ดื่มสุราแล้วเมาอาละวาดภายในบริเวณโรงงาน” ข้อความอื่นมีดังนี้”ข้าพเจ้านายแสงมณี โพยนอก ขอยอมรับว่า (นอนหลับในขณะปฏิบัติหน้าที่,ดื่มสุราแล้วเมาอาละวาดภายในบริเวณโรงงาน) ซึ่งเป็นการผิดระเบียบข้อบังคับของบริษัทฯ จากเหตุการณ์ครั้งนี้ข้าพเจ้ายินดีรับผิดและยอมรับในการตักเตือนด้วยวาจาจากผู้บังคับบัญชาแล้ว” และลงชื่อผู้ถูกตักเตือน เอกสารดังกล่าวนี้ไม่มีลักษณะเป็นคำเตือนเป็นหนังสือ เป็นแต่เพียงคำรับสารภาพของโจทก์ว่าได้กระทำผิดอย่างใดมาแล้ว ส่วนตอนท้ายก็เป็นเพียงบันทึกแสดงเป็นหลักฐานว่าได้มีการตักเตือนด้วยวาจาจากผู้บังคับบัญชามาแล้วเท่านั้น ดังนี้ เอกสารทั้งสองฉบับจึงไม่ใช่คำเตือนเป็นหนังสือตามความหมายในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)
ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน การตักเตือนด้วยวาจาเป็นโทษทางวินัยอย่างหนึ่ง เมื่อการกระทำตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 เป็นความผิดซึ่งจำเลยลงโทษโจทก์โดยการตักเตือนด้วยวาจาไปแล้ว จำเลยก็จะยกเอาการกระทำเดียวกันนี้มาลงโทษเลิกจ้างไม่ได้
พิพากษายืน