คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1901/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จดทะเบียนจำนองที่ดินประกันหนี้ ของจำเลยที่ 1 โดยกำหนดวงเงินไว้ 710,000 บาท 1,120,000 บาท และ 870,000 บาท ตามลำดับ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงมีความรับผิดชอบตามสัญญาจำนองในต้นเงินดังกล่าว ส่วนข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองที่กำหนดว่าจำนวนเงินต้น ตามสัญญาไม่ตัดสิทธิผู้รับจำนองจะบังคับจำนองสำหรับต้นเงิน ที่เกินวงเงินที่กำหนดไว้เพราะมีดอกเบี้ย หรือหนี้อุปกรณ์ รวมกันเกินวงเงินที่กำหนดไว้นั้น เป็นข้อตกลงที่ใช้ได้เพราะ ผู้จำนองต้องรับผิดดอกเบี้ยและหนี้อุปกรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715 อยู่แล้ว แต่ข้อตกลงที่กำหนดให้ผู้จำนองต้องรับผิดสำหรับต้นเงินที่เกินวงเงินตาม สัญญาจำนองไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ นั้น เป็นข้อตกลงที่ทำให้สัญญาจำนองไม่มีจำนวนเงินที่แน่นอนหรือไม่มีจำนวนขั้นสูงสุดทีได้เอาทรัพย์จำนองตราไว้เป็นประกันเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 708 และเป็นช่องทางให้หลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนจำนองจึงตกเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับ โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองสำหรับต้นเงินที่เกินวงเงินที่กำหนดไว้เฉพาะกรณีดอกเบี้ยหรือ หนี้อุปกรณ์รวมกันเกินวงเงินเท่านั้น สัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองระบุว่า กรณีผิดนัดไม่ส่งดอกเบี้ยให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตามประเพณีการค้าของธนาคารพาณิชย์ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้นับแต่ วันที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เต็มตามวงเงินที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำสัญญาจำนองจนถึงวันที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์ กับจำเลยที่ 1 เลิกกัน แต่เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ตามวงเงินที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำสัญญาจำนอง ตั้งแต่เมื่อใด คงได้ความตามหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้และ ไถ่ถอนจำนองว่า ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2539 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ 4,441,139.09 บาท ซึ่งเกินวงเงินตามสัญญาจำนอง ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำสัญญากับโจทก์ไว้ โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยโดยวิธีทบต้นตั้งแต่วันดังกล่าวในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีจนถึงวันที่สิ้นสุดคำบอกกล่าวและหักทอนบัญชีได้ หลังจากนั้นต้องคิดดอกเบี้ยอัตราเดิมแบบไม่ทบต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 4,687,745.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,533,783.28 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์ที่จำนองของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ออกขายทอดตลาด หากไม่พอชำระหนี้ขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบ
จำเลยทั้งสี่ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,687,745.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 4,533,783.28 บาท นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้นำทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จำนองไว้เป็นประกันออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ในวงเงินที่จำเลยที่ 2ประกันไว้ 710,000 บาท จำเลยที่ 3 ประกันไว้ 1,120,000 บาท จำเลยที่ 4 ประกันไว้ 870,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี คิดตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2539 จนถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2539 หลังจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันโดยไม่ทบต้น หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ในวงเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ชำระหนี้จนครบหากบังคับจำนองได้เกินกว่าวงเงินดังกล่าวให้โจทก์ได้รับชำระหนี้แบบเจ้าหนี้สามัญคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 4,687,745.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 4,533,783.28 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระในวงเงิน 710,000 บาท 1,120,000 บาท และ 870,000 บาท ตามลำดับพร้อมดอกเบี้ยทบต้นของต้นเงินดังกล่าวในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 กันยายน 2539 จนถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2539 หลังจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันโดยไม่ทบต้นจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ชำระให้บังคับเอาจากทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จำนองไว้ หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แต่ละคนจนกว่าจะครบและให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมรับผิดสำหรับค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามส่วนจำนวนหนี้ของแต่ละคน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิบังคับจำนองจากทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จำนองเป็นประกันหนี้แก่โจทก์ไว้ได้เพียงใด โดยโจทก์ฎีกาว่า ตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.17 จ.19 และ จ.21 ข้อ 1 ระบุว่า นอกจากจำนวนต้นเงินที่กำหนดไว้แล้ว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยังต้องรับผิดในหนี้อุปกรณ์คือ ดอกเบี้ยค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้ ค่าใช้จ่ายและค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนองซึ่งผู้จำนองยอมชดใช้ต่างหากแก่ผู้รับจำนองและผู้จำนองตกลงให้ทรัพย์ที่จำนองเป็นประกันถึงหนี้อุปกรณ์เหล่านี้ด้วย นอกจากนี้ตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองดังกล่าวข้อ 1 วรรคที่ 2 ยังได้ระบุต่อไปอีกว่าการกำหนดจำนวนต้นเงินไว้ในวรรคก่อนเพียงเพื่อจำกัดสิทธิของผู้จำนองในอันที่จะก่อหนี้เกินวงเงินที่กำหนดไว้นั้น การกำหนดจำนวนต้นเงินดังกล่าวไม่เป็นการตัดสิทธิของโจทก์ที่จะบังคับจำนองสำหรับหนี้ต้นเงินเกินวงเงินที่กำหนดไว้เพราะมีดอกเบี้ย สมทบเข้าตามข้อ 2 หรือสำหรับหนี้ต้นเงินกับหนี้อุปกรณ์รวมกันมีจำนวนเกินวงเงินที่กำหนดไว้นั้นหรือสำหรับหนี้ต้นเงินที่เกินวงเงินไปไม่ว่าเพราะเหตุใด ฯ และในสัญญาข้อ 2 ยังได้ระบุต่อไปอีกว่า ผู้จำนองยอมให้ผู้รับจำนองคิดดอกเบี้ยในจำนวนต้นเงินทั้งสิ้นซึ่งผู้จำนองและ/หรือลูกหนี้ที่กล่าวนานมาแล้วเป็นหนี้ผู้รับจำนองในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ซึ่งผู้จำนองหรือลูกหนี้จะต้องนำส่งชำระแก่ผู้รับจำนองทุก ๆ เดือนภายในวันสิ้นเดือนเสมอไป จากข้อสัญญาดังกล่าวจะเห็นว่าจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากต้นเงินที่จำนองได้ตั้งแต่วันที่ทำสัญญาจำนองเป็นต้นไป มิใช่รับผิดตามวงเงินจำนองและดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 30 กันยายน 2539 เป็นต้นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จดทะเบียนจำนองเพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยกำหนดวงเงินไว้ 710,000 บาท 1,120,000 บาท และ 870,000 บาท ตามลำดับ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงมีความรับผิดชอบตามสัญญาจำนองในต้นเงิน 710,000 บาท1,120,000 บาท และ 870,000 บาทเท่านั้นส่วนข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองที่ว่า การกำหนดจำนวนต้นเงินตามสัญญาจำนองไม่ตัดสิทธิผู้รับจำนองที่จะบังคับจำนองสำหรับต้นเงินที่เกินวงเงินที่กำหนดไว้เพราะมีดอกเบี้ย หรือหนี้อุปกรณ์รวมกันเกินวงเงินที่กำหนดไว้เป็นข้อตกลงที่ใช้ได้เพราะจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้จำนองต้องรับผิดดอกเบี้ยและหนี้อุปกรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715 อยู่แล้ว แต่ข้อตกลงที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้จำนองต้องรับผิดสำหรับต้นเงินที่เกินวงเงินตามสัญญาจำนองไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ นั้นเป็นข้อตกลงที่ทำให้สัญญาจำนองไม่มีจำนวนเงินที่แน่นอน หรือไม่มีจำนวนขั้นสูงสุดที่ได้เอาทรัพย์จำนองตราไว้เป็นประกันเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 708 และเป็นช่องทางให้หลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนจำนองจึงตกเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5629/2536ระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด โจทก์ห้างหุ้นส่วนจำกัดวินิจมอเตอร์ กับพวก จำเลย ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิบังคับจำนองสำหรับต้นเงินที่เกินวงเงินที่กำหนดไว้เฉพาะกรณีมีดอกเบี้ย หรือหนี้อุปกรณ์รวมกันเกินวงเงินเท่านั้น อนึ่งตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองระบุว่ากรณีผิดนัดไม่ส่งดอกเบี้ยให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตามประเพณีการค้าของธนาคารพาณิชย์ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ตามสัญญานับแต่วันที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เต็มตามวงเงินที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำสัญญาจำนองจนถึงวันที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกกัน แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เต็มตามวงเงินที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำสัญญาจำนองตั้งแต่เมื่อใด คงได้ความตามเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งเป็นหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองว่า ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2539 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ 4,441,139.09 บาท ซึ่งเกินวงเงินตามสัญญาจำนองที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำสัญญากับโจทก์ไว้ โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยโดยวิธีทบต้นตั้งแต่วันดังกล่าวในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีจนถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2539 อันเป็นวันที่สิ้นสุดคำบอกกล่าวและหักทอนบัญชี หลังจากนั้นต้องคิดดอกเบี้ยอัตราเดิมแบบไม่ทบต้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share