แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ฟ้องฎีกาเป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 1(3) จึงต้องแสดงให้ชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ฎีกาของโจทก์ทั้งสอง มิได้บรรยายถึงเนื้อหาแห่งคำฟ้องคำให้การและคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยบรรยายในฎีกาแต่เพียงว่าศาลอุทธรณ์พิจารณาและวินิจฉัยแล้วได้โปรดมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยทั้งเจ็ด 600 บาท โจทก์ทั้งสองด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่โจทก์ทั้งสองมิอาจเห็นพ้องต้องด้วยกับการพิจารณาและวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายหลายประการ โจทก์ทั้งสองจึงขอฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ซึ่งโจทก์ทั้งสองจะได้กล่าวต่อไปนี้ ต่อจากนั้นจึงได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในข้อที่โจทก์ทั้งสองไม่เห็นด้วย ซึ่งเมื่ออ่านฎีกาของโจทก์ทั้งสองโดยตลอดแล้วไม่อาจทราบได้ว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดว่าอย่างไรจำเลยทั้งเจ็ดให้การต่อสู้ว่าอย่างไร ข้อที่โจทก์ทั้งสองยกขึ้นโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 นั้น เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นหรือไม่ ฟ้องฎีกาของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 ประกอบด้วยมาตรา246,247 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภรรยากันและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2143 ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลดอนขวาง อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี เนื้อที่ 13 ไร่2 งาน 44 ตารางวา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2529 โจทก์ทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอสอบเขตที่ดินตามโฉนดดังกล่าว พนักงานรังวัดที่ดินไปรังวัดที่ดินตามคำขอจำเลยทุกคนคัดค้านว่าเป็นที่ดินของจำเลยโดยมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นหลักฐาน จึงไม่สามารถรังวัดสอบเขตที่ดินได้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยออกภายหลังที่ดินของโจทก์และทับแนวเขตที่ดินของโจทก์ จึงเป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายคือ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่73/35 น.ส.3 ก. เลขที่ 20 เล่ม 1 ก. หน้า 20 น.ส.3 ก. เลขที่ 30เล่ม 1 ก. หน้า 30 น.ส.3 ก. เลขที่ 18 เล่ม 1 ก. หน้า 18 น.ส.3 ก.เลขที่ 17 เล่ม 1 ก. หน้า 17 น.ส.3 ก. เลขที่ 19 เล่ม 1 ก. หน้า 19และ น.ส.3 เลขที่ 12 เล่ม 1 หน้า 53 รวม 7 ฉบับ ขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) รวม 7 ฉบับดังกล่าว ให้ขับไล่จำเลยทุกคนและบริวารออกไปจากที่ดินในโฉนดของโจทก์ทั้งสองให้จำเลยทุกคนร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งเจ็ดให้การว่า จำเลยทั้งเจ็ดต่างได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบโดยเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของโดยไม่มีผู้ใดมาโต้แย้งสิทธิ เป็นเวลาติดต่อกันนานเกินกว่า 10 ปีย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งเจ็ด โดยกำหนดค่าทนายความให้ 600 บาทโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งเจ็ดต่างได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทในส่วนของตนโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งเจ็ดจะอ้างสิทธิการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382ใช้ยันกับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ซื้อที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1 โดยสุจริต โดยเสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299วรรคท้าย หาได้ไม่นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า ฟ้องโจทก์มิได้มีประเด็นข้อนี้ จึงเป็นข้อที่มิได้หยิบยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่วินิจฉัยให้ พิพากษายืน ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยทั้งเจ็ด 600 บาทโจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฟ้องฎีกาเป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(3) ฉะนั้นจึงต้องแสดงให้ชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ฎีกาของโจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายถึงเนื้อหาแห่งคำฟ้องคำให้การและคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยบรรยายในฎีกาแต่เพียงว่า “ศาลอุทธรณ์พิจารณาและวินิจฉัยแล้วได้โปรดมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยทั้งเจ็ด 600 บาท โจทก์ทั้งสองด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่โจทก์ทั้งสองมิอาจเห็นพ้องต้องด้วยกับการพิจารณาและวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายหลายประการ โจทก์ทั้งสองจึงขอฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ซึ่งโจทก์ทั้งสองจะได้กล่าวต่อไปนี้ “ต่อจากนั้นจึงได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในข้อที่โจทก์ทั้งสองไม่เห็นด้วย ซึ่งเมื่ออ่านฎีกาของโจทก์ทั้งสองโดยตลอดแล้วไม่อาจทราบได้ว่าคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดว่าอย่างไร จำเลยทั้งเจ็ดให้การต่อสู้ว่าอย่างไร ข้อที่โจทก์ทั้งสองยกขึ้นโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 นั้น เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นหรือไม่ ฟ้องฎีกาของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 ประกอบด้วยมาตรา 246,247 ศาลฎีกาไม่อาจรับไว้วินิจฉัยได้”
พิพากษาให้ยกฎีกาของโจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ