คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1892/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลฯ มาตรา 43 ซึ่งความประสงค์ของจำเลยย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง จำเลยออกประกาศสอบราคาซื้อรถยนต์ ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2544 โจทก์ยื่นคำเสนอราคารถยนต์เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2544 และทำสัญญาซื้อขายรถยนต์กับ ส. ประธานกรรมการบริหารของจำเลย เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2544 ความเกี่ยวพันระหว่างโจทก์ จำเลย กับ ส. ตัวแทนของจำเลยต้องพิจารณาตามบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 การออกประกาศซื้อรถยนต์ของจำเลยซึ่งเป็นตัวการโดย ส. ซึ่งเป็นตัวแทน เป็นเรื่องที่อยู่ในขอบอำนาจที่ตัวแทนทำได้ แต่เมื่อมีมติที่ประชุมจำเลยยกเลิกความต้องการดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2544 ย่อมเป็นเรื่องที่ตัวแทนทำการอันเกินอำนาจตัวแทน กรณีจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ซึ่งสัญญาซื้อขายดังกล่าวจะใช้บังคับระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกกับจำเลยซึ่งเป็นตัวการได้หรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับว่าในทางปฏิบัติของจำเลยทำให้โจทก์มีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการซื้อขายรถยนต์คันพิพาทอยู่ในขอบอำนาจของ ส. ตัวแทนของจำเลยหรือไม่
ขณะต้องการซื้อรถยนต์ได้มีประกาศของจำเลยให้บุคคลภายนอกทั่วไปทราบแล้ว การจะให้บุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องทราบมติยกเลิกความต้องการดังกล่าวย่อมสมควรทำโดยประกาศหรือวิธีการอื่นใดในลักษณะเดียวกัน แต่จำเลยไม่เคยแจ้งมติยกเลิกการสอบราคาไปยังโจทก์ และไม่ปรากฏว่าได้มีการประกาศมติดังกล่าวให้บุคคลภายนอกทราบ การมีมติดังกล่าวมีลักษณะเป็นการภายในอันไม่สามารถถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกควรรู้ และแม้ว่า ส. จะลงชื่อในสัญญาซื้อขายโดยมิได้กำกับไว้ว่าทำการแทนจำเลย แต่ในตอนเริ่มต้นของสัญญาก็ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่าเป็นการทำสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยสัญญาซื้อขายจึงมีผลสมบูรณ์ผูกพันระหว่างโจทก์จำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ประกอบมาตรา 820 การที่ ส. มิได้นำรถยนต์คันพิพาทไปขึ้นทะเบียนครุภัณฑ์ของทางราชการและนำรถยนต์ไปใช้ส่วนตัว เป็นเรื่องการภายในของจำเลยที่ต้องไปว่ากล่าวกันเอง หามีผลทำให้ความรับผิดที่มีต่อโจทก์เปลี่ยนแปลงไปไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 533,797 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 490,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 30,000 บาท แก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
จำเลยอุทธรณ์โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระราคารถพิพาทจำนวน 490,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กันยายน 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระราคาเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (29 พฤศจิกายน 2545) ต้องไม่เกิน 43,797 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท คืนค่าขึ้นศาลแก่โจทก์ 750 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในชั้นฎีกาว่าขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 43 องค์การบริหารส่วนตำบลประกอบด้วยสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและคณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลตาม มาตรา 44 ตามมาตรา 59 (1) คณะกรรมการบริหารมีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการขององค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นไปตามมติ ข้อบังคับและแผนพัฒนาตำบลและรับผิดชอบการบริหารกิจการขององค์การบริหารส่วนตำบลต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และมาตรา 60 กำหนดให้ประธานกรรมการบริหารเป็นผู้แทนขององค์การบริหารส่วนตำบล จำเลยมีว่าที่ร้อยตรีสมพงษ์ เป็นประธานกรรมการบริหารตามคำสั่งแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2544 จำเลยออกประกาศตามเอกสารหมาย จ.4 มีความประสงค์จะสอบราคาซื้อรถยนต์ 1 คัน ให้ผู้สนใจยื่นซองสอบราคาได้ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2544 ถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2544 วันที่ 8 สิงหาคม 2544 สภาองค์การบริหารส่วนตำบลจำเลยมีการประชุมสมัยวิสามัญสมัยที่ 3/2544 และมีมติให้ยกเลิกการซื้อรถยนต์ที่จำเลยได้ออกประกาศไว้ตามรายงานการประชุม (ท้ายคำให้การ) วันที่ 17 สิงหาคม 2544 จำเลยโดยว่าที่ร้อยตรีสมพงษ์ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันพิพาทกับโจทก์ตามสัญญาซื้อขาย วันที่ 20 สิงหาคม 2544 โจทก์ส่งมอบรถยนต์คันพิพาทโดยมีว่าที่ร้อยตรีสมพงษ์เป็นผู้รับมอบไว้ตามใบสำคัญรับรถ จำเลยมิได้ชำระราคารถยนต์คันพิพาทจำนวน 490,000 บาท แก่โจทก์ โจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลย วันที่ 5 กรกฎาคม 2545 มีผู้นำรถยนต์คันพิพาทมารับการตรวจซ่อมที่บริษัทโจทก์แล้วมิได้มารับรถยนต์คันดังกล่าว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องชำระราคารถยนต์คันพิพาทแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 วรรคสอง ความประสงค์ย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของจำเลย ซึ่งขณะเกิดเหตุได้แก่ว่าที่ร้อยตรีสมพงษ์ประธานกรรมการบริหารจำเลยโดยว่าที่ร้อยตรีสมพงษ์ออกประกาศตามเอกสารหมาย จ.4 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2544 แสดงความประสงค์จะซื้อรถยนต์ 1 คัน ตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ โดยให้ยื่นซองเสนอราคาได้จนถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2544 แต่วันที่ 8 สิงหาคม 2544 สภาองค์การบริหารส่วนตำบลจำเลยได้มีการประชุมและมีมติยกเลิกความต้องการซื้อรถยนต์ดังกล่าว โจทก์ยื่นคำเสนอราคารถยนต์คันพิพาทวันที่ 9 สิงหาคม 2544 และทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันดังกล่าวกับว่าที่ร้อยตรีสมพงษ์เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2544 จึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า สัญญาดังกล่าวผูกพันจำเลยหรือไม่ ซึ่งมีข้อที่จะต้องพิจารณาตามฎีกาของจำเลยเป็นประการสำคัญคือ มติที่ประชุมของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจำเลยเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2544 ที่ให้ยกเลิกความต้องการซื้อรถยนต์มีผลผูกพันโจทก์หรือไม่ พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 59 (1) บัญญัติให้คณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การบริหารส่วนตำบลตามมติ ข้อบังคับและรับผิดชอบต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ว่าที่ร้อยตรีสมพงษ์จึงต้องผูกพันตามมตินี้ แต่โจทก์เป็นบุคคลภายนอก ความเกี่ยวพันระหว่างโจทก์ จำเลย กับว่าที่ร้อยตรีสมพงษ์ในฐานะตัวแทนของจำเลยย่อมต้องพิจารณาตามบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทน ซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 77 การออกประกาศซื้อรถยนต์ของจำเลยซึ่งเป็นตัวการโดยว่าที่ร้อยตรีสมพงษ์ซึ่งเป็นตัวแทนตามเอกสารหมาย จ.4 เป็นเรื่องที่อยู่ภายในขอบอำนาจที่ตัวแทนทำได้แต่เมื่อมีมติที่ประชุมของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจำเลยยกเลิกความต้องการดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2544 การที่ว่าที่ร้อยตรีสมพงษ์ยังเข้าทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันพิพาทกับโจทก์ต่อมาในวันที่ 17 สิงหาคม 2544 ย่อมเป็นเรื่องที่ตัวแทนทำการอันเกินอำนาจตัวแทน กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 822 ซึ่งสัญญาดังกล่าวจะใช้บังคับ ระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกกับจำเลยซึ่งเป็นตัวการได้หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับว่าในทางปฏิบัติของจำเลยทำให้โจทก์มีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการซื้อขายรถยนต์คันพิพาทอยู่ในขอบอำนาจของว่าที่ร้อยตรีสมพงษ์ตัวแทน หรือไม่ กล่าวคือ โจทก์รู้หรือควรจะรู้หรือไม่ว่าสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจำเลยมีมติยกเลิกความต้องการรถยนต์ไปก่อนโจทก์เข้าทำสัญญาแล้ว โจทก์มีนางสาวเกสร ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ซึ่งได้รับมอบอำนาจให้ไปทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยเบิกความยืนยันว่าโจทก์มิได้รู้ถึงมติดังกล่าว จำเลยมิได้ถามค้านให้เห็นข้อพิรุธและมิได้นำสืบโต้แย้งหักล้างเรื่องนี้ จึงฟังได้ว่าโจทก์ไม่รู้ สำหรับปัญหาว่าโจทก์ควรรู้ หรือไม่นั้น นายไพบูลย์ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลจำเลยตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า จำเลยไม่เคยแจ้งมติดังกล่าวไปยังโจทก์ และตอบคำถามติงว่า เหตุที่ไม่ได้แจ้งเพราะขณะที่มีมติยังไม่มีการทำสัญญาซื้อขายกับจำเลย และทางนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏว่าได้มีการประกาศมติดังกล่าวให้บุคคลภายนอกทราบ เห็นว่า ตอนที่จำเลยประสงค์จะซื้อรถยนต์ได้มีการประกาศแก่บุคคลภายนอกตามเอกสารหมาย จ.4 ตามทางนำสืบของจำเลย มติที่ให้ยกเลิกความต้องการใช้รถยนต์โดยที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจำเลยตามรายงานการประชุม แม้จะเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง แต่เป็นกรณีที่ไม่ได้เป็นไปโดยปกติ มีการโต้แย้งอย่างชัดแจ้งจากว่าที่ร้อยตรีสมพงษ์ จนในที่สุดประธานสภาได้สั่งปิดประชุมไปแล้วแต่กรรมการที่เหลืออยู่อีกกึ่งหนึ่งดำเนินการประชุมต่อแล้วมีมติดังกล่าว โดยว่าที่ร้อยตรีสมพงษ์ไม่ได้อยู่ในที่ประชุม จึงต้องถือว่าเป็นการประชุมที่มีลักษณะพิเศษและย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่า ว่าที่ร้อยตรีสมพงษ์จะไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว ดังนั้น แม้ขณะมีมติจะยังไม่มีการทำสัญญาซื้อขายกับบุคคลภายนอก แต่เมื่อในขณะต้องการซื้อรถยนต์ได้มีประกาศของจำเลยให้บุคคลภายนอกทั่วไปทราบแล้ว การจะทำให้บุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องทราบมติที่ยกเลิกดังกล่าวย่อมสมควรทำโดยประกาศหรือวิธีการอื่นใดในลักษณะเดียวกัน เพื่อให้บุคคลภายนอกได้ทราบว่า ว่าที่ร้อยตรีสมพงษ์ไม่มีอำนาจดำเนินการตามที่ประกาศไว้แล้ว ซึ่งอาจทำโดยประกาศของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจำเลยก็ได้ หากประกาศโดยจำเลยจะทำได้ลำบากเพราะว่าที่ร้อยตรีสมพงษ์อาจไม่ยอมดำเนินการ เชื่อว่าหากโจทก์ได้ทราบแม้จะเป็นประกาศของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจำเลยก็คงจะไม่อยากเสี่ยงเข้าทำสัญญาแต่เมื่อไม่มีการดำเนินการใดๆ อันจะทำให้บุคคลภายนอกได้รู้ การมีมติดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการภายในอันไม่สามารถถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกควรรู้และแม้ว่าว่าที่ร้อยตรีสมพงษ์จะลงชื่อในสัญญาซื้อขายโดยมิได้กำกับไว้ว่าทำการแทนจำเลย แต่ในตอนเริ่มต้นของสัญญาก็ได้กล่าวไว้ชัดเจนแล้วว่าเป็นการทำสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลย โดยจำเลยมีว่าที่ร้อยตรีสมพงษ์ทำการแทน สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ผูกพันระหว่างโจทก์จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 822 ประกอบมาตรา 820 เมื่อจำเลยโดยว่าที่ร้อยตรีสมพงษ์รับมอบรถยนต์คันพิพาทจากโจทก์ ย่อมมีหน้าที่ต้องชำระราคาภายใน 30 วัน นับแต่วันดังกล่าวตามที่กำหนดไว้ เมื่อถึงกำหนดแล้วไม่ชำระย่อมต้องชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของราคาที่ต้องชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยนำสืบเช่นเดียวกับฎีกาว่า ว่าที่ร้อยตรีสมพงษ์มิได้นำรถยนต์คันพิพาทไปขึ้นทะเบียนครุภัณฑ์ของทางราชการและนำรถยนต์คันดังกล่าวไปใช้เป็นการส่วนตัว เป็นเรื่องการภายในของจำเลยที่ต้องไปว่ากล่าวกันเอง หามีผลทำให้ความรับผิดที่มีต่อโจทก์เปลี่ยนแปลงไปไม่ ส่วนที่ฎีกาว่าโจทก์เข้าครอบครองรถยนต์คันพิพาทตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2545 เป็นต้นมาถือว่าแสดงเจตนาเลิกสัญญากับจำเลยแล้วนั้น โจทก์นำสืบว่า มีเจ้าหน้าที่ของจำเลยนำรถยนต์คันพิพาทไปเข้าตรวจสอบและซ่อมในวันดังกล่าวตามปกติในระยะเวลาประกันตามใบสั่งซ่อมโดยจำเลยมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นจึงเป็นกรณีที่จำเลยมีหน้าที่ต้องไปรับรถคืนเอง โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องนำมาส่งมอบคืนแก่จำเลยและไม่อาจถือเป็นกรณีที่โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชอบแล้ว ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาเป็นเงิน 3,000 บาท แทนโจทก์

Share