แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำขอเอาประกันชีวิตแบบออมทรัพย์สงเคราะห์มีสาระสำคัญว่า พ. และ ส. มีความประสงค์ที่จะเอาประกันชีวิตตามรายละเอียดที่ระบุไว้ในคำขอมีลักษณะเป็นเพียงคำเสนอขอทำสัญญาประกันชีวิตเท่านั้น ยังไม่แน่ว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะตกลงรับประกันหรือไม่ ส่วนบันทึกปากคำผู้เอาประกันก็เพียงเอกสารซึ่งผู้ขอเอาประกันชีวิตตอบคำถามตามที่บริษัทผู้รับประกันต้องการทราบ ในเรื่องความเกี่ยวพันระหว่างผู้เอาประกันชีวิตกับผู้รับประโยชน์ตลอดจนรายละเอียดในการชำระเบี้ยประกัน เอกสารดังกล่าวมานี้มิใช่หลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ จึงไม่ใช่เอกสารสิทธิ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๘๔, ๙๑, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘, ๒๖๙ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๒๖ มาตรา ๔ ริบเอกสารสิทธิปลอมของกลางจำนวน ๖ ฉบับ นับโทษจำเลยที่ ๑ ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๖๖๙/๒๕๒๗, ๖๒๔/๒๕๒๘ และ ๖๒๕/๒๕๒๘ ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ ๑ รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๖๖๙/๒๕๒๗, ๖๒๔/๒๕๒๘ และ ๖๒๕/๒๕๒๘ ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕, ๒๖๘ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๘ ประกอบด้วยมาตรา ๙๑ ที่แก้ไขแล้ว เรียงกระทงลงโทษสามกระทง ให้จำคุกกระทงละ ๕ ปี รวมจำคุก ๑๕ ปี จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ ให้จำคุกกระทงละ ๓ ปี รวมจำคุก ๖ ปี ริบเอกสารสิทธิปลอมของกลางจำนวน ๖ ฉบับ นับโทษจำเลยที่ ๑ ต่อจากโทษคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๖๖๙/๒๕๒๗, ๖๒๔/๒๕๒๘ และ ๖๒๕/๒๕๒๘ ของศาลชั้นต้น ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้อง ขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๒
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๔ รวมสามกระทง จำคุกกระทงละ ๒ ปี รวม ๖ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำว่า “เอกสารสิทธิ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑ (๙) หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ เอกสารที่จำเลยที่ ๑ ปลอมและนำไปใช้ ซึ่งโจทก์ฎีกาขึ้นมาว่าเป็นเอกสารสิทธินั้น ได้แก่คำขอเอาประกันชีวิตแบบออมทรัพย์สงเคราะห์ตามเอกสารหมาย จ.๑, จ.๒ และ จ.๖ มีสาระสำคัญว่า นายพะยอม รักเขตต์ และนายสมพร สรเกตุ มีความประสงค์ที่จะเอาประกันชีวิตตามรายละเอียดที่ระบุไว้ในคำขอ มีลักษณะเป็นเพียงคำเสนอขอทำสัญญาประกันชีวิตเท่านั้น ยังไม่แน่ว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะตกลงรับประกันหรือไม่ และบันทึกปากคำผู้เอาประกันตามเอกสารหมาย จ.๓, จ.๔ และ จ.๗ ก็เป็นเพียงเอกสารซึ่งผู้ขอเอาประกันชีวิตตอบคำถามตามที่บริษัทผู้รับประกันต้องการทราบ ในเรื่องความเกี่ยวพันระหว่างผู้เอาประกันชีวิตกับผู้รับประโยชน์ตลอดจนรายละเอียดในการชำระเบี้ยประกัน เอกสารดังกล่าวมานี้มิใช่หลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ จึงมิใช่เอกสารสิทธิดังที่โจทก์ฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.