คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1889/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนด และโจทก์ไปยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้โต้แย้งการยึดรถยนต์คืน พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกัน นับแต่วันที่โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน มิใช่เป็นกรณีที่ผู้เช่าซื้อหรือผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 และมาตรา 574ดังนั้น การที่โจทก์ยึดรถยนต์คืนจากจำเลยที่ 1 จึงหาทำให้โจทก์ตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ 1 คันในราคา 382,300 บาท ชำระเงินวันทำสัญญา 40,000 บาท ที่เหลือผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือน เดือนละ 8,150 บาท หากผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันโดยไม่ต้องบอกกล่าว โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 12 โจทก์ได้ติดตามยึดรถยนต์คืนมาได้ และนำรถยนต์ที่ยึดคืนมาให้ผู้มีชื่อเช่าซื้อในราคา 233,000 บาท ราคารถยนต์จึงยังขาดอยู่อีก 19,350 บาทรวมเป็นค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องใช้แก่โจทก์ 73,350 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 73,350 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การและจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1มิได้ผิดสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ การที่โจทก์ยึดรถยนต์ คืนไปจากจำเลยที่ 1 จึงทำให้โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยที่ 1 ต้องไปเช่ารถยนต์ผู้อื่นมาใช้ ต้องเสียค่าเช่าเดือนละ6,000 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์และให้บังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน 292,101 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 270,950 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องแย้งไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายอีกเดือนละ6,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องแย้งไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1ชำระเงินให้โจทก์หลังจากที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด และสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วนั้น ไม่ทำให้โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและเมื่อโจทก์ยึดรถยนต์คืนจำเลยที่ 1 ก็มิได้โต้แย้งคัดค้านจึงถือว่าจำเลยที่ 1ยินยอมเลิกสัญญากับโจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 14,450 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่จำเลยที่ 1 เสร็จ
โจทก์ และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 54,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ยึดรถยนต์คืนจากจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ หากโจทก์ตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์หรือไม่เพียงใด ปัญหาดังกล่าวนั้นจำเลยที่ 1 ฎีกายกข้อโต้เถียงว่าสัญญาเช่าซื้อยังไม่เลิกกันการที่โจทก์ยึดรถยนต์คืนจากจำเลยที่ 1 โจทก์จึงตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ แต่ตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ได้ยอมรับว่าที่โจทก์ยึดรถยนต์คืนจากจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 จำใจต้องมอบรถยนต์ให้เพราะจำเลยที่ 1 ยังค้างชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ และจำเลยที่ 1เบิกความเป็นพยานว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้โต้แย้งการยึดรถยนต์คืนดังกล่าวเห็นว่า พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจที่จะเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกันแล้วนับแต่วันที่โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1ไม่ยินยอมหรือไม่สมัครใจจะเลิกสัญญาเช่าซื้อจึงฟังไม่ขึ้น และการเลิกสัญญาเช่าซื้อกันดังกล่าวมิใช่เป็นกรณีที่ผู้เช่าซื้อหรือผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573หรือมาตรา 574 ดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาเป็นข้อคัดค้านแต่อย่างใดที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันจึงชอบแล้วดังนั้น การที่โจทก์ยึดรถยนต์คืนจากจำเลยที่ 1 จึงหาทำให้โจทก์ตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อไม่ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์
พิพากษายืน

Share