คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1885/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีเครื่องตวง เครื่องชั่ง ซึ่งไม่ถูกต้องตามความประสงค์ทุกประการของพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัดไว้ในความครอบครองตั้งแต่อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลกตลอดมาจนกระทั่งถูกจับที่อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดต่อเนื่อง และกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ดังกล่าว เมื่อจำเลยถูกจับในท้องที่อำเภอคีรีมาศจังหวัดสุโขทัย และเมื่อได้มีการสอบสวนโดยชอบแล้วพนักงานอัยการจังหวัดสุโขทัย จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดสุโขทัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22 แม้จำเลยมีเครื่องตวง เครื่องชั่ง ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้ในความ ครอบครองเพื่อใช้ในการพาณิชย์ ก็จะฟังว่าจำเลยมีเครื่องตวง เครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในทางการค้าไปทีเดียวไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยมีเจตนาเอาเปรียบในทางการค้าเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องนำสืบให้ปรากฏ เมื่อโจทก์ไม่นำสืบหรือนำสืบไม่ได้ย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหานี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 270

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2525 เวลากลางวัน จำเลยรับจ้างซื้อข้าวเปลือกนำไปมอบให้นายจ้างขายต่อเพื่อค้ากำไร มีเครื่องตวงของแห้งชนิดถังไม้ 1 ถัง ขนาดพิกัดกำลัง 20 ลิตร ซึ่งไม่มีหมายเลขประจำเครื่อง เครื่องหมายส่วนตัวและเครื่องหมายรับรองของเจ้าพนักงาน และมีเครื่องชั่งชนิดที่ 4 เต็มพิกัดกำลังเครื่อง 500 กิโลกรัม 1 เครื่อง โดยไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2466 คือ เครื่องตวงผิดปริมาตรทำให้ผู้ซื้อได้เปรียบผู้ขาย 1,800 ลูกบาศก์เซนติเมตร เครื่องชั่งผิดน้ำหนักผู้ซื้อได้เปรียบผู้ขาย 3 กิโลกรัมต่อน้ำหนัก 100 กิโลกรัม เป็นการมีเครื่องตวงเครื่องชั่งไว้เพื่อเอาเปรียบผู้ขายในการค้า จำเลยได้ใช้เครื่องดังกล่าวประทับเครื่องหมายรับรองเป็นรูปขอบนอกของครุฑปลอมใช้ตวงข้าวเปลือกเพื่อให้ชาวนาหลงเชื่อว่าตราเครื่องหมายรับรองนั้นเป็นเอกสารที่แท้จริง ทำให้ผู้ขายข้าวเปลือกเสียหาย โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าตราเครื่องหมายรับรองบนเครื่องตวงไม้นั้นเป็นตราปลอมและเป็นเอกสารราชการปลอมและจำเลยซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาโดยใช้เครื่องตวงของแห้ง มิได้กระทำการซื้อโดยวิธีการชั่งตามมาตราชั่งวิธีเมตริกอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2521 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2521 เหตุเกิดที่ตำบลใดไม่ปรากฏชัด อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก และตำบลโตนด อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัยเกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พุทธศักราช 2466 มาตรา 4 ทวิ, 31, 32, 35 ทวิ พระราชบัญญัติตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2466 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2477 มาตรา 3 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 171 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2525 ข้อ 2, 6 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268, 265, 270, 91, 32, 33 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2 ริบถังไม้ เครื่องชั่งและข้าวเปลือกของกลาง ให้จำเลยชำระเงินสินบนผู้นำความแจ้งต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้น พิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2466 มาตรา 4 ทวิ, 31 ให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 2,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ภายในกำหนด2 ปี ริบเครื่องตวง ของกลางนอกนั้นคืนจำเลย ข้อหานอกจากนี้ให้ยก ที่โจทก์ขอให้จ่ายสินบนนำจับให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะข้อหาความผิดฐานมีเครื่องชั่งเครื่องตวงไม่ถูกต้องไว้ในครอบครอง จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 270 ด้วย การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 270 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามมาตรา 90 คงจำคุก จำเลย 2 เดือน (โดยไม่ปรับและไม่รอการลงโทษ) เครื่องชั่งของกลางให้ริบนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยมีเครื่องตวง เครื่องชั่งของกลาง ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้ในครอบครองเพื่อใช้ในการพาณิชย์

ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยกระทำความผิดสำเร็จในเขตท้องที่จังหวัดพิษณุโลกโจทก์ไม่สามารถนำคดีมาฟ้องที่ศาลจังหวัดสุโขทัยนั้น พิเคราะห์แล้วปรากฏว่าจำเลยมีเครื่องตวง เครื่องชั่ง ซึ่งไม่ถูกต้องตามความประสงค์ทุกประการของพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัดไว้ในครอบครองตั้งแต่อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลกตลอดมาจนกระทั่งถูกจับที่อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลกกับอำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย เมื่อจำเลยถูกจับในท้องที่อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัยและเมื่อได้มีการสอบสวนโดยชอบแล้ว พนักงานอัยการจังหวัดสุโขทัยจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดสุโขทัย ซึ่งท้องที่อำเภอคีรีมาศอยู่ในเขตอำนาจได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 270 เป็นการไม่ชอบเพราะโจทก์ไม่มีพยานมานำสืบให้ปรากฏว่า จำเลยมีหรือใช้เครื่องตวงหรือเครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้านั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังเป็นยุติแต่เพียงว่า จำเลยมีเครื่องตวงและเครื่องชั่ง ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้ในครอบครองเพื่อใช้ในการพาณิชย์เท่านั้นโจทก์ไม่ได้นำสืบให้ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาเพื่อเอาเปรียบในทางการค้าแต่อย่างใดลำพังการมีเครื่องตวง เครื่องชั่ง ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้ในครอบครองเพื่อใช้ในการพาณิชย์เพียงอย่างเดียวจะฟังว่าจำเลยมีเครื่องตวง เครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในทางการค้าไปทีเดียวไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยมีเจตนาเอาเปรียบในทางการค้าเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องนำสืบให้ปรากฏเมื่อโจทก์ไม่นำสืบหรือนำสืบไม่ได้ ย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหานี้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 270 ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share